โลกของเราหรือ Earth ถือกำเนิดเกิดมาได้ประมาณ 4.6 พันล้านปีมาแล้ว และเริ่มมีสิ่งมีชิวิตเกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาประมาณ 3.6 พันล้านปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาและนับ การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ของสิ่งมีชีวิตได้ 5 ครั้งด้วยกัน แต่เรามักจะรู้จักและคุ้นเคยกันเฉพาะการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นการสูญพันธุ์ครั้งล่าสุดในระหว่างช่วงยุคครีเตเชียสถึงยุคเทอร์เชียรี่ ประมาณ 65 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งที่จริงแล้วการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตของแต่ละสายพันธุ์ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่การการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่มี 5 ครั้งโดยอาศัยคำจัดความดังนี้
การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ คืออะไร
การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ นี่ก็หมายถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆที่ดำรงชีพอยู่ในช่วงเวลานั้นเป็นส่วนมาก และเหลือรอดเพียงสายพันธุ์ส่วนน้อย หรืออาจสูญพันธุ์ทั้งหมดเลย อันเนื่องมาด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยพิบัติทางธรณี (การระเบิดของภูเขาไฟ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก) การเกิดอุกาบาตชนโลก แม้กระทั่งเกิดการเพิ่มขึ้นของจุลลินทรีย์มากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุแห่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตได้
การสูญพันธุ์ครั้งแรก เกิดในยุคออร์โดวิเชี่ยน 440 ล้านปีที่ผ่านมา
- เหตุการณ์นี้เกิดในยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician Period) ในมหายุคพาลิโอโซอิค (Paleozoic Era) ประมาณ 440 ล้านปีมาแล้ว ตามตารางธรณีกาล
- มีสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปประมาณ 85 % เกือบหมดโลก
- สาเหตุมาจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก (Continental Drift) และส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
หลังจากสิ่งชีวิตเกิดขึ้นและวัฒนาการเมื่อประมาณ 3.6 พันล้านปีมาก่อน นี่เป็นการสูญพันธุ์ครั้งแรกและมันเกิดในยุคออร์โดวิเชียนเมื่อ 440 ล้านปีมาก่อน ในช่วงเวลานั้นสิ่งมีชีวิตส่วนมากเป็นพวกสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่อยู่ในน้ำและเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น บางส่วนก็วิวัฒนาการขึ้นมาอาศัยอยู่บนบก สาเหตุของการสูญพันธุ์มาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นทวีปและเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรุนแรง การสูญพันธุ์แบ่งออกเป็นสองช่วงด้วยกัน ช่วงแรกเกิดยุคน้ำแข็งขึ้นมาทั่วโลก น้ำทะเลเกิดการลดตัวลง และสิ่งมีชีวิตหลายๆสายพันธุ์ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วพอที่จะสามารถอยู่รอดในสภาพอุณหภูมิต่ำๆ และต่อมาเมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณออกซิเจนเพิ่มขึ้นสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดในช่วงยุคน้ำแข็งก็สามารถวิวัฒนาการได้ต่อไป สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดเป็นพวกสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำและสามารถสร้างอาหารเองได้ด้วยตัวเอง (autotrophs)
การสูญพันธุ์ครั้งที่ 2 เกิดในยุคดีโวเนี่ยน 375 ล้านปีมาแล้ว
- เกิดขึ้นในยุคดีโวเนี่ยน (Devonian) ในมหายุคพาลิโอโซอิค (Paleozoic Era) ประมาณ 375 ล้านปีมาแล้ว
- มีสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปทั้งสิ้นเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์
- สาเหตุอาจมาจากการสูญเสียอ๊อกซิเจนในน้ำ อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดภูเขาไฟระเบิดหรืออาจเป็นเพราะอุกาบาตวิ่งชนโลก
การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นในยุคดีโวเนี่ยน ประมาณ 375 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นมาต่อเนื่องจากการสูญพันธุ์ในยุคออร์โดวิเชี่ยนอย่างรวดเร็วห่างกันเพียงไม่ถึง 100 ล้านปี ซึ่งสิ่งมีชีวิตบนโลกเพิ่งจะเริ่มมีวิวัฒนาการใหม่อีกครั้งหนึ่งเพราะสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสงบเหมาะแก่การวิวัฒนาการและเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสภาวะได้ แต่กลับมาสูญพันธุ์อีกครั้งสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ก็สาบสูญอีกครั้งหนึ่ง
มีหลายสมมุติฐานของการสูญพันธุ์ในยุคดีโวเนี่ยนนี้ เริ่มขึ้นในน้ำก่อนด้วยการคืบคลานของพืชน้ำ วิวัฒนาการขึ้นมาเจริญเติบโตบนบกมากเกินไป เหลือไว้เพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่สามารถผลิตอาหารเองได้ และสร้างออกซิเจนได้ ทำให้ทะเลเกิดการขาดออกซิเจนอันเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเล และการเข้ามาเจริญเติบโตบนบกของพืชทำให้ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลดลง ส่งผลกระทบให้ก๊าซเรือนกระจกลดลงด้วยทำให้อุณภูมิของโลกลดลงอย่างเฉียบพลัน สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนบกเกิดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศไม่ทันจึงเกิดการสูญพันธุ์ในที่สุด และตามมาด้วยการระเบิดของภูเขาไฟหรืออุกาบาตชนโลกแต่หลักฐานของเรื่องนี้ยังเป็นปริศนาอยู่
การสูญพันธุ์ครั้งที่ 3 “The Great Dying” เกิดในยุคเพอร์เมี่ยน 250 ล้านปีก่อน
- เกิดขึ้นในยุคเพอร์เมี่ยน (Permain) ในปลายมหายุคพาลิโอโซอิค (Paleozoic Era) ประมาณ 250 ล้านปีมาแล้ว
- มีสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปทั้งสิ้นเกือบ 96 เปอร์เซ็นต์มากที่สุด
- สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด อาจเป็นเพราะว่าภูเขาไฟระเบิดหรือมีอุกาบาตพุ่งชนโลก
การสูญพันธุ์ครั้งนี้เกิดในช่วงสุดท้ายของมหายุคพาลิโอโซอิค อยู่ในช่วงยุคเพอร์เมี่ยนเมื่อ 250 ล้านปีมาก่อน ตามตารางเวลาและธรณีประวัติของโลก การสูญพันธุ์ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดแทบว่าจะต้องเริ่มต้นนับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตกันใหม่เลยที่เดียว กล่าวคือสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆได้สูญหายไปประมาณ 96 เปอร์เซ็นต์ ให้ขนานนามการตายครั้งนี้ว่า “The Great Dying” ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรเหลือรอดเลยทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ
มันเกิดอะไรขึ้น ? มีหลายทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์พยายามเดาเรื่องนี้ บางคนว่าที่เกิดการสูญพันธุ์มากมายขนาดนี้เพราะว่ามันเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องไม่หยุดให้เกิดวิวัฒนาการเลย มันอาจเป็นเพราะภูเขาไฟระเบิดต่อเนื่องพร้อมกันนั้นก็ถูกอุกาบาตชนด้วย เกิดก๊าซมีเทนและหินหลอมเหลวท่วมไปทั้งโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้โลกขาดอ๊อกซิเจน และโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบเฉียบพลัน และมีงานวิจัยใหม่ออกมาว่ามีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สามารถดำรงชีวิตได้ในสภาพที่มีก๊าซมีเทนสูง และสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะแวดล้อมสุดขั้ว ได้เข้ายึดครองพื้นที่ในทะเล ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นสิ่งมีชีวิตในมหายุคพาลีโอโซอิกก็ได้หยุดลง และเริ่มต่อด้วยมหายุคมีโซโซอิคต่อไป
การสูญพันธุ์ครั้งที่ 4 ในยุคไตรแอสสิคถึงยุคจูแรสสิค 200 ล้านปีก่อน
- เกิดขึ้นระหว่างปลายยุคไตรแอสสิค (Triassic) ต่อยุคจูแรสสิค (Jurassic) ในมหายุคมีโซโซอิค Mesozoic ประมาณ 200 ล้านปีก่อน
- มีสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญหายไปมากกว่าครึ่งหนึ่งขอที่มี
- สาเหตุมาจากภูเขาไฟระเบิด มีหินหลอมเหลวไหลออกมาท่วมโลก ภูมิอากาศและอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ความเป็นกรดเป็นด่างเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล
การสูญพันธุ์ในช่วงปลายยุคไตรแอสสิคต่อกับยุคจูแรสสิค เหตุการณ์นับว่าไม่รุนแรงมาก พบว่ามีสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหายไปประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่เหมือนครั้งก่อนหน้านี้ การสูญพันธุ์ครั้งนี้เป็นการรวบเหตุการณ์เล็กๆน้อยตลอดช่วงระยะเวลา 18 ล้านปีของปลายยุคไตรแอสสิค ซึ่งก็มีการเกิดภูเขาไฟระเบิด ทำให้เกิดการไหลท่วมท้นของลาวา มีการปล่อยพ่นก๊าซขึ้นสู่อากาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลด้วย รวมไปถึงความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำทะเลก็ได้เปลี่ยนไปด้วย
การสูญพันธุ์ครั้งล่าสุดครั้งที่ 5 ในยุคครีเทเชียส 65 ล้านปีก่อน
- เกิดขึ้นในช่วงระหว่างยุคครีเทเชียส ในมหายุคมีโซโซอิค ต่อกับยุคเทอร์เชียรี่ ในมหายุคซีโนโซอิค ประมาณ 65 ล้านปีก่อน
- มีสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดได้สูญหายไป
- สาเหตุเกิดจากอุกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลก
หลังจากยุคไตรแอสสิคมา โลกก็อยู่ในสภาวะนิ่งสงบไม่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานถึง 135 ล้านปี ทำให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการได้มากที่สุดจนถึงขีดสุดคือมี “ไดโนเสาร์” ซึ่งเป็นผู้ยึดครองโลกในขณะนั้น เปลือกโลกนิ่งมีการเคลื่อนไหวไม่มาก ภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับการวิวัฒนาการต่อเนื่อง และเหลือรอดสิ่งมีชีวิตจากยุคไตรแอสสิคค่อนข้างมาก แต่ก็เกิดมหาอุกาบาตถล่มโลกขึ้นในยุคครีเทเชียส ทำให้เกิดฝุ่นและเศษหินฟุ้งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทั่วทั้งโลกปกคลุมไปด้วยฝุ่น อากาศเปลี่ยนแปลงลงอย่างฉับพลัน ไม่ใช่แค่เพียงไดโนเสาร์เท่านั้นที่สูญพันธุ์ สัตว์และพืชน้อยใหญ่กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ก็ได้สูญพันธุ์ไปในเหตุการณ์นั้น นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามีอุกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลก และเมื่อหาเวลาย้อนกลับไปมันตกอยู่ในช่วงนั้นพอดี นี่อาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งล่าสุด แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน
หลายๆคนกล่าวไว้ว่า มนุษย์นี่แหละจะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 บ้างก็ว่าเกิดสงครามนิวเคลียร์ บ้างก็ว่าเกิดภาวะโลกร้อน บ้างก็ว่าถูก AI ยึดครอง จากการประวัติการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตส่วนมากไม่ได้เกิดเพราะสิ่งมีชีวิตด้วยกัน มันเป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติทั้งนั้น