ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม เส้นทางเชื่อมพระนครกับเมืองในลุ่มแม่น้ำมูล

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทหนึ่งในหลายปราสาทที่อยู่ระหว่างรอยต่อชายแดนที่มีข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ปัจจุบันก็ไม่แน่ชัดว่าเป็นของใครในบริเวณตัวปราสาทตาเมือนธมก็ปรากฎว่ามีทั้งทหารไทยและทหารกัมพูชาพร้อมด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวกัมพูชามาท่องเที่ยวกันแบบไร้พรมแดน

ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรรมในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และใช้งานเป็นศาสนสถานต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ช่วงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนไปเป็นศาสนสถานของพุทธศาสนา

ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 8 บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ พิกัด: 14.349195, 103.266641

ปราสาทตาเมือนธม บนเส้นทางติดต่อระหว่างพระนครและเมืองแถบลุ่มน้ำมูล

ปราสาทตาเมือนธมตั้งอยู่บริเวณช่องเขาของเทือกเขาพนมดงรัก และเป็นช่องทางที่ใช้ติดต่อเดินทางของประชาชนระหว่างคนในภาคอีสานของไทยและคนกัมพูชาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันมีกรณีพิพาทกันก็ไม่ได้เป็นช่องทางติดต่อกันอีกต่อไป

ในสมัยโบราณเส้นทางคมนาคมสายนี้นับมีความสำคัญมากเพราะเป็นเส้นทางที่ศูนย์กลางอำนาจการเมืองการปกครองของเมืองพระนครของเขมรโบราณใช้ติดต่อกับเมืองบริวาร เช่น เมืองพนมรุ้ง เมืองพิมาย เป็นต้น

ต่อมาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-62) พระองค์โปรดให้สร้างบ้านมีไฟหรือที่พักคนเดินทางตามเส้นทางสายต่างๆ ทั่วอาณาจักร หนึ่งในนั้นคือเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมายซึ่งต้องผ่านช่องตาเมือนนี้ โดยพระองค์โปรดให้สร้างบ้านมีไฟบนเส้นทางนี้ถึง 17 หลัง สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นเส้นทางสำคัญของอาณาจักรเขมรโบราณอย่างแท้จริง

จารึกที่ปราสาทตาเมือนธม

มีจารึกปราสาทตาเมือนธม 1 เป็นจารึกที่สลักเป็นพื้นหินบริเวณตัวปราสาท อยู่กลางลานค่อนมาทางทิศตะวันออก จารึกเป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 12 ข้อความจารึกค่อนข้างสูญหาย เหลือเพียงอ่านได้ว่า 1 “พึงให้ทํางานเกี่ยวกับเทพด้วย . . . . . . . . . พระศิวะ” 2 “ท่านทั้งหลายพึงถึงพระศิวะโดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทพเจ้า . . . . . . . . ตามกรรมที่กระทําแล้ว”

จารึก ปราสาทตาเมือนธม 1
จารึกปราสาทตาเมือนธม 1

จารึกปราสาทตาเมือนธม 5 เป็นจารึกบนหินทรายรูปเสมา มีทั้งหมด 3 ด้าน จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ผู้สร้าง ตงปิตถะเว ข้อความจารึกที่สำคัญ ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1 “ขอความสวัสดีจงมีศักราช 942 แรม5ค่ำเดือน 9 วันพุธ” ที่ระบุมหาศักราช 942 ตรงกับ พ.ศ. 1563 อันเป็นรัชสมัยของพระเจ้าศรีสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1545-1593) และบรรทัดที่ 14-19 กล่าวถึงพระเจ้าศรีสุริยวรมันได้ประทานเงินทอง บรรจุไว้ที่ฐานอันมั่นคงของพระศิวะ ทั้งยังได้สาปแช่งผู้ทำลายฐานนี้ให้ตกนรก สิ้นกาลมหาโกฏิ 

สวยัมภูลึงค์

สวยัมภูลึงค์คือหินธรรมชาติที่มีรูปลักษณ์คล้ายอวัยวะเพศชาย ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ถือว่าเกิดขึ้นจากพระประสงค์ของพระศิวะ ทำให้ลึงค์ประเภทนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และได้รับการนับถือบูชาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับที่ปราตาเมือนธมนี้ประดิษฐานที่ในห้องครรภคฤหะของปราสาทองค์ประธาน

สวยัมภูลึงค์ ปราสาทเมือนธม
สวยัมภูลึงค์ 

ตัวปราสาทเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธมหันหน้าไปทางทิศใต้สู่ประเทศกัมพูชา แผนผังประกอบด้วยปราสาทประธานสร้างด้วยศิลาทรายตั้งอยู่ที่กึ่งกลางศาสนสถานหันหน้าไปทางทิศใต้ ภายในอันตราละเป็นที่ประดิษฐานรูปโคนนทิซึ่งเป็นสัตว์พาหนะของพระศิวะนอนหมอบหันหน้าไปทางห้องครรภคฤหะที่เป็นที่ กึ่งกลางครรภคฤหะมีการสลักหินธรรมชาติเป็นสวยัมภูวลึงค์เป็นประติมากรรมประธานของศาสนาสถานแห่งนี้ และมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏร่องรอยของร่องน้ำมนต์ หรือ โสมสูตร ซึ่งต่อเนื่องออกไปทางนอกตัวปราสาทจนออกไปภายนอกระเบียงคดทางด้านนี้ ซึ่งเคยพบเศียรมกรตกอยู่

ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีปราสาทบริวารก่อจากศิลาทรายหันหน้าไปทางทิศใต้เช่นเดียวกับปราสาทประธาน ส่วนทางด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันตกและทิศใต้ตามลำดับ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคดมีโคปุระเป็นทางเข้าที่กึ่งกลางระเบียงคดทั้งสี่ด้าน 

ทางทิศใต้ซึ่งเป็นด้านหน้าปราสาทนอกระเบียงคด มีการก่อบันไดทางขึ้น และทำผนังกั้นดินจากศิลาแลงลดหลั่นกันสามชั้น และมีสระน้ำ 2 สระกรุด้วยศิลาทรายอยู่นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือ

ทางด้านทิศตะวันตกของปราสาทมีร่องรอยของแนวทางเดินโบราณขนาดกว้างประมาณ 13.5 เมตร ความยาวที่เหลือในปัจจุบันประมาณ 70 เมตร

ประสาทตาเมือนธม องค์ประธาน
ประสาทตาเมือนธม องค์ประธาน
ปราสาทตาเมือนธม พร้อมปราสาทบริวารซ้าย-ขวา
ปราสาทตาเมือนธม พร้อมปราสาทบริวารซ้าย-ขวา
ร่องน้ำมนต์ หรือ โสมสูตร ปราสาทเมือนธม
ร่องน้ำมนต์ หรือ โสมสูตร

ข้อมูล ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีของไทย ศูนย์มนุษย์วิทยาสิรินธร

เรื่องราวและการตีความจากหลักฐานทางโบราณคดี

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูไศวนิกาย จากหลักฐานจารึกปราสาทตาเมือนธม 1 ตามอักษรที่จารึกลงบนแผ่นหินธรรมชาติ ว่าน่าเริ่มแรกในพุทธศตวรรษที่ 12 ได้จารึกอักษรที่บริเวณใกล้ สวยัมภูลึงค์ซึ่งเป็นลึงค์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติด้วยพระประสงค์ของพระศิวะ ทำให้ภูเขานี้กลายเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ มีการแกะสลักหินธรรมชาติกำหนดเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ โดยมีการอัญเชิญศิวลึงค์ขนาดเล็กประดิษฐาน ณ กลางสนานธรณีที่เจาะเป็นวงกลมไว้ แล้วสรงน้ำตามพิธีกรรมไศวนิกาย ตอนนั้นยังไม่มีปราสาทแบบนี้

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16 ก็เริ่มมีการเจาะสลักหินธรรมชาติเพื่อสร้างปราสาท ทำให้จารึกปราสาทตาเมือนธม 1 ถูกถมอยู่ใต้พื้นศาสนสถาน และมีข้อความบางส่วนหายไปจากการสกัดหินออกเพื่อสร้างปราสาท การสร้างตัวปราสาทนี้ได้ใช้ศิวลึงค์องค์เดิมเป็นประธานของปราสาทด้วย ลายสลักรูปช้างและสนานธรณีจึงอยู่นอกตัวอาคาร การสร้างตัวปราสาทคงเกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตามหลักฐานจารึกที่พบบริเวณพื้นผิวโบราณสถาน และหลักฐานด้านศิลปกรรมที่พบที่ปราสาทแห่งนี้ที่มีพัฒนาการของลวดลายและพัฒนาการของประติมากรรมในแบบศิลปะบาปวน จากศิลาจารึกที่พบรายนามพระมหากษัตริย์ต่างๆทำให้ทราบว่าปราสาทแห่งนี้ยังคงใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาต่อเนื่องเรื่อยมา

ในพุทธศตวรรษที่ 17 พบว่าปราสาทแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนา มีค้นพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร กำหนดอายุราวสมัยศิลปะบาปวน-นครวัด (พุทธศตวรรษที่ 17) , พระวัชรปาณีทรงครุฑ และพระยมทรงกระบือซึ่งเป็นประติมากรรมแบบที่พบในอโรคยศาลาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชุมชนช่องตาเมือนแห่งนี้ก็ยังคงใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองพระนครที่เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและเมืองพิมายอันเป็นเมืองบริวารหรือเมืองญาติๆกัน ดังจะเห็นได้ว่าพระองค์ได้สร้างปราสาทตาเมือนและปราสาทตาเมือนโต๊จ อันเป็นศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทางและอโรคยศาลตามลำดับ ปราสาททั้งสองอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทตาเมือนธมเล็กน้อย

การเดินทาง

ออกจากตัวอำเภอพนมดงรักไปตามถนนสายชนบทไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 (สายอำเภอกาบเชิง-อำเภอบ้านกรวด) เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงบริเวณสามแยกทางเข้าหมู่บ้านหนองคันนา เลี้ยวซ้ายไปทางทิศใต้ตามทางหลวงแผ่นดินสายชนบทหมายเลข 2047 ทางทิศใต้ประมาณ 3.5 กิโลเมตรถึงปราสาทตาเมือน และประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงกลุ่มปราสาทตาเมือน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.