ระเบียงคต

ปราสาทสด๊กก๊อกธม การค้นพบที่น่าตื่นใจแต่ไม่ตื่นตา

ปราสาทสด๊กก๊อกธม การค้นพบที่น่าตื่นใจแต่ไม่ตื่นตา คำพูดนี้ออกจะเกินเลยไปบ้างเมื่อคุณได้มาเห็นตัวปราสาท ซึ่งมีขนาดเล็ก เล็กกว่าปราสาทเขาพนมรุ้ง และเทียบอะไรไมได้กับปราสาทหินพิมาย ความสมบูรณ์ก็ไม่มากมายที่เห็นในสภาพปัจจุบันเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ มีการตัดหินใหม่มาเสริม คาดคะเนด้วยตาของใหม่ก็ประมาณ 60-70% บวกลบไม่มาก ทำให้เดาไปว่าสภาพเดิมที่พบคงมีเหลืออยู่ไม่มากแล้ว

ที่เห็นอยู่ในสภาพปัจจุบันเป็นการสร้างมาใหม่ด้วยอาศัยข้อมูลทางด้านสถาปัตยกรรมโบราณของเขมรผสมผสานกับเศษซากที่คงเหลืออยู่จากโบราณ และเทียบเคียงเอากับที่อื่นๆที่สมบูรณ์กว่า วัตถุประสงค์ของการบูรณะครั้งนี้คงจะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเป็นหลัก ตัวปราสาทตั้งอยู่บนที่ราบล้อมรอบด้วยป่าปลูกใหม่ๆ และมีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ด้วยบ้างประปราย สภาพโดยทั่วๆไปก็ดูร่มรื่นดี เมื่อเทียบกับไร่อ้อยๆที่เป็นพื้นที่โดยหลักของบริเวณนั้น……แต่การค้นพบสิ่งสำคัญมันน่าตื่นใจและมีคุณค่ามากกว่าตัวปราสาทที่สร้างขึ้นมาใหม่ หากใครอยากศึกษาวัฒนธรรมเขมรหละก้อเชิญที่นี่เลยซ้อมก่อนไปอังกอร์วัด อังกอร์ธม

 

ปราสาทสด๊กก๊อกธม ลักษณะทางศิลปะและสถาปัตยกรรม

ปราสาทสด๊กก๊อกธม ใครเป็นคนค้นพบเป็นคนแรกไม่อาจทราบได้ แต่ในปี พ.ศ. 2444 ฝรั่งชื่อ นายเอเตียน เอโมนิเยร์ (Etienne Aymonier) ได้นำมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2454 อีกสิบปีต่อมาฝรั่งอีกเช่นกัน นายลูเนต์ ลายองกิแยร์ (Lunet de Lajonquiere) ได้ทำแผนที่ตำแหน่งที่ตั้งของโบราณสถานวัฒนธรรมขอม อีก 9 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2463 ร้อยตำรวจเอกหลวงชาญนิคม สำรวจพบโดยบันทึกว่าเป็นปราสาทเมืองพร้าว ซึ่งตอนนั้นคงมีต้นมะพร้าวมาก ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ปราสาทสด๊กก๊อกธม นัยว่าเปลี่ยนแปลงตามภูมิประเทศของปราสาทขณะนั้น ซึ่งบริเวณนั้นคงจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นกก คำว่า “สด๊ก” มาจาก สด๊อก เป็นภาษาเขมรแปลว่ารกทึบ คำว่า “ก๊อก” แปลว่าต้นกก และ”ธม” แปลว่าใหญ่ จึงแปลรวมความว่าปราสาทที่รกไปด้วยต้นกกใหญ่ ชื่อจริงในสมัยขอมคงไม่ใช่ชื่อนี้หรอก

ปราสาทสด๊กก๊อกธม (จะเปลี่ยนเป็นสด๊กทำไม? ทำไมไม่ชื่อสด๊อกก๊อกธม) เป็นสถาปัตยกรรมเขมร ประกอบด้วยอาคารที่สำคัญคือ ปราสาทประธาน บรรณาลัย 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดและกำแพงแก้ว อาคารทั้งหมดก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ที่เห็นเด่นชัดขณะนี้คือศิลาแลงจะใช้เป็นส่วนฐาน กำแพงแก้ว และพื้นเป็นหลัก อันนี้เป็นของดั้งเดิมเป็นส่วนมาก ส่วนบรรณลัย ปราสาทประธานในสภาพปัจจุบันสร้างจากหินทรายเป็นหลัก มีการตกแต่งพื้นผิวด้วยการแกะสลักภาพลงบนแผ่นหิน อันเป็นเรื่องราวของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และภาพพรรณไม้นานา ประดับอยู่ในส่วนสำคัญๆของปราสาทที่สำคัญคือ นารายณ์บรรมสินธุ์ที่ซุ้มประตูรองทางทิศเหนือด้านใน, โคปุระชั้นในทิศะวันออก เป็นพระกฤษณะปราบม้าเกศี และที่ปราสาทประธานเป็นภาพ ศิวะคชาสูร และกวนเกษียรสมุทร ซึ่งเทียบเคียงได้กับศิลปกรรมเขมรโบราณแบบคลังผสมบาปวน กำหนดอายุได้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16  (ที่มา:กรมศิลปากร)

ปราสาทสด๊กก๊อกธม
ปราสาทสด๊กก๊อกธมมองจากด้านนอกสุดเข้าไปยังตัวปราสาท
ระเบียงคต
ระเบียงคดก่อนจะถึงบรรณาลัยและปราสาทประธาน
บรรณาลัย
บรรณาลัยด้านซ้ายมือ
ภาพแกะสลักหินที่ใช้ประดับ
การสลักภาพบนแผ่นหินประดับไว้ที่สำคัญๆ
ปราสาทประธานกับที่ประดิษฐานศิวลึงค์
ปราสาทประธานกับที่ประดิษฐานศิวลึงค์

การค้นพบที่น่าตื่นเต้น

ในบริเวณปราสาทและพื้นที่ใกล้เคียงมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น 2 ชิ้นด้วยกันไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับตัวปราสาทมากน้อยเพียงใด

จารึกสด๊กก๊อกธม 1

จารึกนี้ถูกนำมามอบให้หอสมุดแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2511 โดยเจ้าหน้าหน้าที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร ซึ่งพบที่บ้านสระแจง ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสุง (อรัญประเทศ ในสมัยนั้น) จังหวัดสระแก้ว ปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร ฉนั้นไม่ต้องไปดูที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม เพราะมันไม่ได้อยู่ที่นั่น

จารึกสด๊กก๊อกธม หลักที่ 1 นี้มีเพียงสองด้าน จารึกด้วยอักษรขอมทั้งหมด 30 บรรทัด ไม่ปรากฎหลักฐานว่าใครสร้างแต่มีเนื้อหาใจความสำคัญบอกกล่าวแต่ดูเหมือนจะเป็นคำสั่งของพระมหากษัตริย์ให้บุคคลต่างๆปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นต้นอย่างนี้

“โอม ๘๕๙ ศก แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ด้วย เสตญอาจารย์โขลญสันดับ และ เสตญอาจารย์โขลญพนม พระกัมรเตงอัญปรเมศวร น้อมเศียร” นี่คือ 4 บรรทัดแรก และนี่เป็นคำแปลแล้วนะ เข้าใจว่า ในมหาศักราช 859 (พ.ศ.1480) ตรงกับแรม 14 ค่ำเดือน 8 ด้วยอาจารย์โขลญสันดับ และเสตญอาจารย์โขลญพนม ซึ่งเป็นผู้ดูแลพระเทวรูป และบรรทัดถัดๆไปในหน้าที่ 1 นี้ก็บอกว่า “ขอให้พระบุณย์มรเตญ มัทวยมศิวะ ที่ได้รับแต่งตั้งพร้อมกับ วาบบรม พรหม และแม่บสผู้เป็นพี่ ให้ร่วมกันดูแลพระกัมรเตงอัญปรเมศวร (พระเทวรูป) พร้อมกับถวายข้าวสาร 3 ถะลวง น้ำมัน 3 มาส เป็นเวลาหนึ่งปี มีพระราชดำรัสถึงกำเสตญอัญศรีวีเรนทรวรมัน ให้เจ้าหน้าที่มาปักหลักศิลาจารึกไว้ในเมืองนี้ ไม่ควรที่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลน้ำมันจะริบเอาน้ำมันเป็นของตัวเอง ไม่ควรที่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลข้าวสารริบเอาข้าวสารไปเป็นของตัวเอง และไม่ควรที่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลข้าพระ ใช้ข้าพระไปในการอื่น ให้ข้าพระดูแลเฉพาะพระเทวรูปและพระศิวลึงค์เท่านั้น” และต่อไปจากนั้นในหน้าที่ 2 จะเป็นรายชื่อข้าพระที่ดูแลพระเทวรูปและศิวลึงค์ (ที่มา:ฐานข้อมูลศิลาจารึกในปรเทศไทย)

ความเห็นของผู้เขียนเอง (นักวิชาการโบราณคดีเขาอาจเชื่อไปคนละเรื่องกับผู้เขียนย่อมเป็นได้) ศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม หลักที่ 1 นี้ถูกสร้างขึ้นแน่นอนในปี พ.ศ.1480 ในขณะที่ทำการบันทึกในศิลาจารึกนี้ ต้องมีการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมขึ้นมาแล้ว เพราะคำสั่งหรือพระราชโองการในศิลาจารึกนี้สั่งถึงผู้ดูแลพระเทวรูปและดูแลพระศิวลึงค์ และให้นำศิลาจารึกมาปักไว้ที่เมืองนี้ซึ่งไม่รู้ว่าชื่อเมืองอะไร อย่างไรก็ตามแม้การพบศิลาจารึกนี้ไม่ได้พบที่ตัวปราสาทสด๊กก๊อกธมโดยตรง แต่ก็พบในบริเวณที่ใกล้เคียงคือเขตบ้านสระแจง ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง และในบริเวณรอบๆใกล้เคียงพื้นที่นี้ไม่มีปราสาทองค์อื่นๆอีกเลย แต่บ้านสระแจง ไม่มีในตำบลโคกสูงในปัจจุบัน (แต่กลับมีบ้านสระแจงที่ห่างออกไปที่อำเภอตาพระยามีประสาทด้วย ชื่อเขาช่องสระแจง อยู่ที่เขาช่องสระแจง ตำบลตาพระยา) อย่างไรก็ตามเราเชื่อตามบันทึกในอดีตของกรมศิลปากรว่าพบหลักศิลาจารึกที่ บ้านสระแจง ตำบลบ้านโคกสูงจริง เพราะมีการตั้งชื่อศิลาจารึกตามชื่อของปราสาท ดังนั้นมันควรจะถูกพบใกล้เคียงปราสาทสด๊กก๊อกธมนี่แหละ และการปักศิลาจารึกหลักนี้อาจไม่ได้ปักที่ตัวปราสาทเทวสถาน อาจปักในเขตบ้านหรือเมืองก็เป็นได้เพราะมันคือคำสั่ง ซึ่่งข้อความในหลักศิลาจารึกนี้กล่าวถึงเทวสถาน มันจะเป็นที่อื่นไปไม่ได้นอกจากที่นี่ ดังนั้นปราสาทสด๊กก๊อกธมควรจะสร้างก่อน พ.ศ.1480 (เราไม่ใช่นักวิชาการเราทึกทักเอาได้)

และสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากศิลาจารึกหลักนี้คือ การฉ้อราษฎ์บังหลวงเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยขอมมาแล้วซึ่งมีหลักฐานชัดเจน จึงไม่ต้องแปลกใจว่าบ้านเราล้วนมีแต่คนฉ้อราษฎร์บังหลวง มันอาจจะอยุู่ใน DNA ของเราก็ได้

ศิลาจารึกหลักที่ 1
ศิลาจารึกหลักที่ 1 ภาพจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย

จารึกสด๊กก๊อกธม 2 บอกเล่าประวัติศาสตร์

จารึกนี้ถูกค้นพบที่ปราสาทเมืองพร้าว ชื่อเดิมของสด๊กก๊อกธม โดยเจ้าอาวาสวัดโคกสูง ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ในปี พ.ศ. 2463 ในสมัยนั้นยังเป็นอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ เป็นศิลาจารึกบนหินชนวน จารึกด้วยภาษาขอมโบราณ มีทั้งหมด 4 ด้าน รวม 340 บรรทัด ปัจจุบันศิลาจารึกหลักนี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ หอพระสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

โดยมีเนื้อสรุปได้ดังนี้ ด้านที่ 1 กล่าวบูชานมัสการพระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ ตามด้วยการกล่าวสรรเสริญพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2ว่ารูปงามเหมือนกามเทพ มีปัญญาดุจพระพรหม และทรงปกครองแผ่นดินด้วยความยุติธรรม และจากนั้นเป็นการกล่าวถึงการแต่งตั้ง พราหมณ์ศิวไกวัลย์ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพราหมณ์หิรัณยทามะ ผู้เชี่ยวชาญในด้านไสยศาสตร์ และเป็นผู้สร้างพิธีกรรมแห่งอาถรรพ์ต่างๆ ขึ้น เรียกว่า “เทวราชา” ให้เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมแห่งจารีตประเพณีในสมัยของพระเจ้าชัยวรมัน เพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่โลกมนุษย์ และพราหมณ์ศิวไกวัลย์นี้ก็เป็นต้นตระกูลของพราหมณ์ที่รับใช้กษัตริย์ต่างๆในสมัยต่อมา ด้านที่ 2 เป็นการลำดับความสัมพันธ์ และผลงานของผู้ที่อยู่ในสายตระกูล ที่มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมในราชสำนักกัมพูชา เริ่มตั้งแต่พราหมณ์ศิวไกวัลย์เรื่อยมาจนถึง ชเยนทรวรมัน หรือ สทาศิวะ ด้านที่ 3 กล่าวสรรเสริญพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 แจงรายการสิ่งของจำนวนมาก ที่พระองค์ทรงถวายแด่เทวสถาน ณ เมืองภัทรนิเกตนะ จากนั้นก็กล่าวถึงการบริจาคที่ดินของพระราชครูชเยนทรวรมัน ตามด้วยการลำดับสายสกุลโดยเริ่มตั้งแต่พราหมณ์ศิวไกวัลย์ซึ่งรับใช้ราชสำนักในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2  และตามด้วยผลงานของผู้ประกอบพิธีกรรมในราชสำนักของแต่ละรัชกาล  ด้านที่ 4 เป็นการลำดับสายสกุล และผลงานของผู้ประกอบพิธีกรรมในราชสำนัก ของแต่ละรัชกาลต่อจากจารึกด้านที่ 3 (ที่มา:ฐานข้อมูลศิลาจารึกในปรเทศไทย)

ในรายละเอียดของศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม 2 นี้เป็นการสรรเสริญคุณงามความดีของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 และพราหมณ์ชเยนทรวรมันเป็นเนื้อหาและสาระหลักของศิลาจารึกนี้ และออกจะเน้นไปเรื่องของตัวพราหมณ์เองด้วย โดยร่ายยาวมาตั้งแต่สมัยพระบาทปรเมศวร (พระเจ้าชัยวรมันที่ 2) ได้เสด็จกลับจากชวาเพื่อมาครองนครอินทรปุระ (ในสมัยที่พระอง์ทรงพระเยาว์ได้ประทับอยู่ที่เมืองชวา) พระองค์ได้ประดิษฐานพระเทวราชไว้ในนครศรีมเหนทรบรรพต แล้วทรงสถาปนาสกุล สตุกรันสิ และภัทรปัตตนะ ไว้ในฐานะผู้ปฏิบัติพระเทวราช และพราหมณ์ที่เป็นผู้รับใช้พระเทวราชในรัชสมัยนี้ก็คือพราหมณ์ศิวไกวัลย์ ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้ยิ่งใหญ่นี้ ไม่ว่าพระองค์จะย้ายไปอยู่เมืองใด พราหมณ์ศิวไกวัลย์ก็ย้ายไปรับใช้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนครอมเรนทรปุระ หรือจะย้ายไปครองกรุงหริหราลัยก็ยังคงตามไปรับใช้ไม่ได้ขาดตอน

มีตอนหนึ่งได้กล่าวถึง “ที่ มเหนทรบรรพต ศิวไกวัลยะก็ตามเสด็จไปรับใช้พระองค์เหมือนแต่ก่อน เมื่อพระองค์ได้เชิญพราหมณ์หิรัณยทามะผู้เชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์มาจากชนบทเพื่อประกอบพิธีกรรม มิให้ประเทศกัมพูช ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของชวาอีกต่อไป และให้พระราชาผู้เป็นจักรพรรดิ์เท่านั้นปกครองประเทศกัมพูชา พราหมณ์ได้ประกอบพิธีตามคัมภีร์พระวินาศิขะ แล้วสถาปนาพระเทวราช ทั้งได้สอนคัมภีร์พระวินาศิขะ นโยตตระ สัมโมหะ และศิรัจเฉทะ โดยท่องตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้จดบันทึกไว้ แล้วสอนแก่ศิวไกวัลยะ พร้อมทั้งได้แนะนำให้ศิวไกวัลยะประกอบพิธีเทวราช พระบาทปรเมศวรและพราหมณ์ได้มีพระราชโองการว่า นอกจากสกุลศิวไกวัลยะแล้วสกุลอื่นจะปฏิบัติบูชาพระเทวราชไม่ได้” นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการบูชาเทวราช และการประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับชวาอีกต่อไป

ครั้งแรกสกุลศิวไกวัลยะได้อาศัยอยู่ในเมืองศตคราม นครอนินทิตปุระ พระราชาแห่งกรุงภวปุระได้พระราชทานที่ดินในตำบลหนึ่งของอินทรปุระให้แก่เขา ดังนั้นสกุลนี้จึงได้ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในหมู่บ้านภัทรโยคี แล้วสร้างพระศิวลึงค์ไว้ประจำหมู่บ้านนั้น

จากนั้นมาในทุกๆรัชสมัยพราหมณ์จากตระกูลนี้ก็ยังคงรับใช้ราชสำนักต่อๆกันมา ในจารึกก็บรรยายถึงผลงานของพราหมณ์ที่อยู่ในแต่ละสมัยและมีการสร้างเทวสถานมากมาย จนมาถึงช่วงสมัยของพระบาทนิรวาณบท (สูรยวรมันที่ 1) ศิลาจารึกด้านที่ 4 บรรทัดที่ 40 ได้บันทึกสิ่งที่สำคัญและแตกต่าง  “…นิรฺวฺวาณปท กฺรีฑา วล ปิ อฺนกฺ โตกฺ วฺระ อายฺ ภทฺรปตฺตน นุ สฺตุกฺ รนฺสิ…” ซึ่งมีความหมายว่า “พระนิรวาณบท (พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1) ได้กรีฑาพลเพื่อ….ผู้ที่ยกเอาเทวรูปแห่งหมู่บ้านภัทรปัตนะและสตุกรันสิไป” อันที่…. บ้างก็ว่าเพื่อทำลายบ้างก็ว่าเพื่อขัดขวาง แต่อย่างไรก็ตามทำให้ทราบแน่ชัดว่าในยุคของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 นี้เทวรูปและเทวสถานได้ถูกทำลายไป โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยิ่งถูกทำลายไปไม่เหลือแม้กระทั่งศิวลึงค์  และเป็นยุคที่พราหมณ์ในสายสกุลนี้มีได้ประสบปัญหาความยุ่งยาก เพราะไม่ได้มีอำนาจหรือทรงอิทธิพลต่อกษัตริย์เหมือนยุคก่อนๆ แต่อย่างก็ตามพวกเขาได้เริ่มทำการซ่อมแซมบูรณะเทวรูปและเทวสถานขึ้นมาใหม่ จะเห็นได้ว่าลัทธิเทวราชาได้เข้าสู่ยุคถดถอยระยะหนึ่งในยุคนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 นับถือศาสนาพุทธก็เป็นได้ แต่พระองค์ก็ไม่ขัดขวางจะเห็นได้จากจารึกในบรรทัดต่อๆไปยังคงมีพราหมณ์ผู้รับใช้เทวรูป และพยายามซ่อมแซมและฟื้นฟูต่อไป

ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในมหาศักราช 971 (พ.ศ. 1592) ชเยนทรบัณฑิตผู้สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ศิวะไกวัลย์ได้เป็นราชครู และได้รับตำแหน่งเป็นพระกัมรเตงอัญศรีชเยนทรวรมัน อีกทั้งยังได้สอนศาสตร์ต่างๆหลายแขนงให้กับพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 และพระองค์ทรงได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหลายๆอย่าง พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์สินและเครื่องประดับจำนวนมากเป็นค่าบูชายัญ และได้มอบหมู่บ้านที่ถูกทำลายไปกลับให้ชเยนทรวรมัน ครั้งหนึ่งชเยนทรวรมันได้สร้างพระเทวรูปสององค์ พระราชาก็ยังได้พระราชทานพระศิวลึงค์สูงสองศอกพร้อมทรัพย์อีกจำนวนหนึ่งให้แก่เทวสถาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ได้ทำนุบำรุงลัทธิเทวราชาและศาสนาฮินดูผ่านทางชเยนทรวรมันให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ในศักราช 974 (พ.ศ. 1595) ชเยนทรวรมันได้สถาปนาพระศิวลึงค์ไว้ที่หมู่บ้านภัทรนิเกตนะ แล้วกราบบังคมทูลขอให้พระราชาทรงบริจาคเทวสถานพร้อมทั้งทาสที่ถูกยึด คืนให้แก่พระศิวลึงค์ เทวสถานแห่งนี้ชื่อ “อันเรอโลง” จารึกหลักนี้ยังบันทึกรายละเอียดของเทวสถาน อันเลอโรง ซึ่งเกี่ยวกับเขตแดน ที่ดิน จำนวนทาส การบริจาคที่ดินต่างๆ และรวมไปถึงเทวสถานอื่นๆในหมู่บ้านภัทรนิเกตนะ คาดว่าศิลาจารึกนี้สร้างขึ้้นในโอกาสเฉลิมฉลองการได้กลับคืนมาของเทวสถานในหมู่บ้านภัทรปัตนะและสตุกรันสิ

ศิลาจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่-2
ศิลาจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 2 ภาพจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย

สด๊กก๊อกธมถูกทำลายแล้วก็บูรณะขึ้นมาใหม่

จากจารึกสด๊กก๊อกธม 2 นี้ไม่อาจยืนยันว่าได้ว่าใครสร้างสด๊กก๊อกธม และสร้างเมื่อไร และเทวสถานที่กล่าวถึงใช่สด๊กก๊อกธมหรือไม่เพราะกล่าวถึงหลายแห่งเหลือเกิน และบริเวณนี้ใช่หมู่บ้านภัทรนิเกตนะหรือไม่?  แต่คงพอสรุปได้ว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างก่อนปี พ.ศ. 1480 หลักฐานจากศิลาจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 1 ต่อมามีการเสื่อมสลายและถูกทำลายลงอาจก่อนหรือในระหว่างยุค พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และต่อมาในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พราหมณ์ชเยนทรวรมันได้สร้างและปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ซึ่งคงอยู่ในห้วงเวลามหาศักราช 974 หรือ พ.ศ.1595 พร้อมๆกันกับการสถาปนาศิวลึงค์ใหม่ที่หมู่บ้านภัทรนิเกตะ

ตำแหน่งที่ตั้งและการเดินทาง

ปราสาทสด๊กก๊อกธมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านหนองเสม็ด หมู่ที่ 9 ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากอำเภออรัญประเทศไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 35 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอตาพระยามาทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร

การเดินทางไปที่ปราสาทสด๊กก๊อกธมนี่ง่ายๆทางสะดวกสบาย โดยเริ่มที่อำเภออรัญประเทศ ไปตามถนนเส้นทางหมายเลข 348 อรัญประเทศ – ตราพระยา จนถึงอำเภอโคกสูง เลยไปประมาณ 3.5 กิโลเมตร ตรงกันข้ามกับ อบต.หนองแวง ด้านขวามือจะมีป้ายบอกทางแยกไปปราสาทสด๊กก๊อกธม ไปตามทางหลวงชนบท 3018 เส้นทางนี้จะตรงไปที่บ้านหนองเสม็ดเลย ขับตรงไปจนถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงชนบทหมายเลข 3085 ประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นป้ายทางแยกเข้าไปปราสาทสด๊กก๊อกธม สภาพเส้นทางดีมากลาดยางตลอดทาง ภูมิทัศน์สองข้างทางเป็นป่าอ้อย หมายเหตุไม่มีรถโดยสารประจำทางไปยังปราสาทสด๊กก๊อกธม

ที่พัก

ที่พักสำหรับคนที่มาจากกรุงเทพฯ สะดวกและราคาถูกก็ ฮอบอินน์ ใกล้บิ๊กซีสระแก้ว ซึ่งอยู่ในตัวเมืองสระแก้วแต่ห่างปราสาทสด๊กก๊อกธมไกลโขเลย แต่ถ้าใครอยากเที่ยวเมืองสระแก้วก็สะดวกดี ที่พักสะอาดราคาถูก ตกเย็นๆถ้าอยากหาอะไรกินแบบสบายๆบรรยากาศดีๆก็นี่เลย ร้านยายเต็มอาหารเวียตนาม บรรยากาศกินข้าวในสวน พร้อมการตกแต่งด้วยของโบราณ ประมาณ 40 ปีที่แล้ว รสชาตธรรมดากินได้คุ้มค่าเงิน (อย่าไปเทียบกับอาหารเวียตนามแถบ ขอนแก่น อุดร หนองคาย สู้กันไม่ได้) ไปนั่งดูรถโบราณก็คุ้มแล้ว ทั้งหมดนี้ชอบมอเตอร์ไซด์คันเดียว

มอเตอร์ไซด์เก่า
มอเตอร์ไซด์เก่า ของประดับร้านอาหารเวียตนาม

ถ้าอยากจะพักใกล้ๆกับปราสาท แนะนำให้พักที่อำเภออรัญประเทศแถบตลาดโรงเกลือ ซึ่งก็จะสามารถเที่ยวจับจ่ายซื้อของที่ตลาดโรงเกลือไปด้วยเลย แนะนำโรงแรมราคาสบายกระเป๋าแปดร้อยกว่าบาท มายรูม บายเสริมทรัพย์ ทุกอย่างดีหมดเว้นแต่โรงแรมนี้ติดถนนมากเกินไปและที่จอดรถอยู่คนละฝั่งถนนกับโรงแรมไม่สะดวกเท่าไร แพงขึ้นมาหน่อยระดับพันบาทต้นๆ ก็ ลาวิลลา บูทิคโฮเต็ล ตัวโรงแรมสวยมากเหมาะสำหรับถ่ายรูป ดีทุกอย่างที่จอดรถสะดวก หาง่าย อาหารอร่อย ร้านกาแฟเก๋ๆ ก็แลกกับราคาก็สูงมาอีกนิดนึง

[google_map_easy id=”19″]

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.