สะพานไม้

สังขละบุรี นทีสามประสบ

“สะพานไม้ ด่านเจดีย์ นทีสามประสบ มรดกทุ่งใหญ่ ไทยกะเหรี่ยงรามัญ สารพันธรรมชาติ อภิวาทหลวงพ่ออุตตมะ เมืองสังขละชายแดน สุดแคว้นแดนตะวันตก”

สังขละบุรี นทีสามประสบ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีชายแดนติดต่อกับชายแดนพม่า เดิมชื่อเมืองท่าขนุน ต่อมาเปลี่ยนเป็นวังกะ และก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้งจนสุดท้ายเป็นสังขละบุรี จากประวัติศาสตร์ไทยรบพม่าที่สอนกันในในโรงเรียน พม่ามักจะยกกองทัพเข้าตี อโยธยา โดยผ่านเส้นทางนี้เป็นประจำ ซึ่งอาจเพราะภูมิประเทศบริเวณนี้เป็นช่องเขาเหมาะแก่การเดินทัพ

เจดีย์สามองค์
เจดีย์สามองค์

ด่านเจดีย์สามองค์

เดิมทีบริเวณนี้ชาวบ้านได้นำหินมากองไว้สามกองเพื่อสักการะบูชา และเป็นการบอกแนวเนตด้วย ต่อมาเจ้าเมืองท่าขนุนได้นำพาชาวบ้านสร้างเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม ด้านบนเป็นทรงกลม ขนาดค่อนข้างเล็กสีขาวเรียงกัน 3 องค์ หน้าตาเจดีย์เหมือนเจดีย์ที่พบเห็นในพม่าทั่วไป บริเวณด่านเจดีย์สามองค์นี้ เมื่อขับรถเข้ามาก็จะมีคนโบกรถเข้าไปให้จอดทั้งฝั่งซ้ายและขวา จอดฟรีครับ พร้อมกันนั้นจะมีการเสนอนำเที่ยวประเทศพม่า โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ เมืองพญาตองซู ซึ่งเป็นเมืองติดกับชายแดนและมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น วัดเสาร้อยต้น วัดเจดีย์ทอง แล้วก็ตลาด ในราคาย่อมเยาว์ ปลอดภัย การข้ามแดนก็ง่ายสะดวกสบาย ไม่ต้องใช้เอกสารอะไรให้ยุ่งยากแค่บัตรประชาชนใบเดียวก็ไปได้แล้ว ซึ่งเป็นการผ่านแดนชั่วคราวไปได้ใกล้ๆ ชายแดนฝั่งนี้ไม่ค่อยคึกคักเท่าไร การค้าขายมีไม่มาก ไม่ค่อยเห็นรถขนสินค้าไปด่านเจดีย์สามองค์ ถ้าเราไม่ข้ามไปฝั่งเมืองพญาตองซู ที่พม่า ก็สามารถเดินซื้อของ เดินชมประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะได้จินตนาการ เส้นทางเดินทัพของพม่า เส้นทางรถไฟของ ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีอะไรให้เห็นนะ ต้องจินตนาการเอาเอง
สะพานมอญ
สะพานไม้หลวงพ่ออุตตะมะ

สะพานมอญ ชื่อทางการ สะพานอุตตมานุสรณ์​

จุดเด่นของเมืองสังขละบุรีที่ผู้คนรู้จักกันก็น่าจะเป็น สะพานมอญ ชื่อทางการ สะพานอุตตมานุสรณ์​ เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียเชื่อมระหว่างตัวอำเภอสังขละบุรีกับชุมชนมอญ สะพานนี้สร้างในช่วงปี พ.ศ. 2529-2530 โดยการริเริ่มของหลวงพ่ออุตตะมะ และการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน สะพานนี้เดิมยาว 850 เมตร แต่สะพานที่เห็นวันนี้เพิ่งจะเสร็จจากการซ่อมใหญ่หลังจากถูกสายน้ำตัดขาดไป ในบริเวณใกล้กันนั้นยังคงเห็นสะพานแพลูกบวบที่สร้างใช้ชั่วคราวอยู่ สะพานลูกบวบที่สร้างขึ้นมานี้เป็นการรวมตัวกันสร้างของชาวบ้านเองซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยิ่งนัก การเที่ยวชมสะพานมอญนี้ ควรไปตอนเช้าๆ ประมาณ 6 ถึง 7 โมงเช้าจะดี
ใส่บาตรที่หมู่บ้านมอญ
ใส่บาตรร่วมกันกับชาวมอญ
เดินเล่นข้ามไปฝั่งหมู่บ้านชาวมอญ ไปร่วมใส่บาตรกับชาวบ้าน ไม่ต้องเตรียมอะไรไปนะ แค่เอาเงินไปอุตหนุนชาวบ้าน เริ่มต้นด้วยการ ซื้อดอกไม้ สิ่งของใส่บาตร ที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่แต่งตัวแบบชาวมอญ มาเสนอขายให้นักท่องเที่ยว ซึ่งเด็กๆชาวมอญพวกนี้รู้จักทำมาค้าขายกับนักท่องเที่ยวได้ดีทีเดียว เมื่อเดินเข้าไปในหมู่บ้านจะเห็นว่าบ้านชาวบ้านก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้าต้อนรับนักท่องเที่ยวเกือบหมดแล้ว จะเห็นสภาพบ้านแบบมอญจริงๆเหลือน้อยแล้ว จุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวแรกคือ ไปถ่ายรูปกับสะพานไม้ ถ่ายรูปกับเด็กๆ ชาวบ้าน ใส่บาตร กินอาหารเช้า ซึ่งมีทั้งแบบ มอญ และไทย ร้านกาแฟก็มี ทั้งสมัยเก่า และสมัยใหม่ ร้านขายของที่ระลึก ของฝากมากมาย คนขายก็มอญมั่ง ไทยมั่ง สินค้าที่น่าสนใจ น่าจะไม้ทานาคา พร้อมที่ฝน เสื้อผ้าชาวมอญ ที่นี่มีบริการแต่งตัวแบบชาวมอญด้วยนะ อย่าลืมไปลองดู
วังก์วิเวการาม (เก่า)
วัดเก่า วังก์วิเวการาม

วัดวังก์วิเวการาม หรือวัดหลวงพ่ออุตมะ

หลวงพ่อเป็นชาวมอญ ชื่่อเดิม เอหม่อง เป็นคนบ้านโมกกะเนียง อำเภอเย จังหวัดเมาะลำเลิง ประเทศ พม่า เข้ามาอยู่เมืองไทยถาวรเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองในพม่า ช่วงแรกท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดในแถบ อำเภอโพธาราม ราชบุรี ต่อมาได้ทราบข่าวว่ามีชาวมอญบ้านเดียวกับท่านได้อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ท่านจึงไปพบปะและนำชาวมอญเหล่านี้ไปอยู่ที่บ้านวังกะล่าง ต่อมาได้ร่วมกับชาวมอญและกะเหรี่ยงสร้างวัดขึ้นบนบริเวณที่เนินในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ หมายถึงบริเวณที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกัน คือ ซองกาเรีย บีคลี่ และรันตี ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้สร้างเขื่อนเขาแหลมขึ้นมาทำให้เกิดน้ำท่วม ก็เลยพากันโยกย้ายมาอยู่ในที่ปัจจุบัน สิ่งที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวคือวัดเก่าจมน้ำซึ่งในบริเวณนั้น มีวัดจมน้ำอยู่สามวัดคือ วัดเก่า ของหลวงพ่ออุตตะมะ
วัดสมเด็จ เก่า
วัดสมเด็จ เก่า

วัดสมเด็จเก่าของชาวไทย

ซึ่งในโบสถ์ยังมีพระประธานคือพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานอยู่สวยงามมาก ตัวโบสถ์มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ข้างผนังทำให้ดูขลังไปอีก (วัดนี้ไม่จมน้ำนะแต่ก็ต้องไปทางเรือเหมือนกัน) และสุดท้ายเป็นวัดของชาวกะเหรี่ยง วัดนี้ปีไหนแล้งจัดๆถึงจะโผล่มาให้เห็น แหล่งที่มาของข้อมูลเป็นไกด์นำเที่ยวเด็กๆ ชาวมอญที่ติดไปกับเรือที่เราเหมาไป สนนราคาเหมาเรือก็ ไปวัดเดียว 300 บาท ไปครบ 3 วัด 500 บาท ควรไปตอนเช้าหรือเย็น ซึ่งตอนกลางวันจะร้อนมาก แต่นักท่องเที่ยวส่วนมากจะไปวัดวังก์วิเวการามใหม่ และพุทธคยาจำลอง ขากลับจากสังขละบุรี ก็ควรจะแวะลองชิมผลไม้ทองผาภูมิ ซึ่งมีทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุด ไม้แพ้เมืองจันทร์ดอกนะจะบอกให้ และใกล้ๆตัวเมืองก็อย่าลืมแวะซื้อเมลอน ข้างทาง อร่อย หอม หวาน ราคามิตรภาพ ใครใคร่แวะเที่ยวข้างทางก็มีน้ำตกหลากหลายจุดให้แวะทัศนากันได้ตามสะบาย   สำหรับการเดินทางก็ง่่ายๆดังข่างล่างนี้ ถ้าไม่เอารถไปเอง ส่วนที่พักมากมายๆ สะดวกสบาย ที่พักบนแพก็มีนะ เลือกหาเอาตามสะดวก ไปวันเสาร์กลับวันอาทิตย์สบายๆ รถประจำทาง 1.นั่งรถทัวร์ กรุงเทพฯ – ด่านเจดีย์สามองค์ จากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 มี 4 เที่ยว คือ รถปอ. 1 เวลา 5.00 น. และ 6.00 น. ราคา 293 บาท รถปอ. 2 เวลา 9.30 น. และ 12.30 น. ราคา 228 บาท รถทัวร์ขากลับ ด่านเจดีย์สามองค์ – กรุงเทพฯ​ รถปอ. 1 เวลา 13.30 น. และ 14.30 น. ราคา 293 บาท รถปอ. 2 เวลา 7.00 น. และ 10.00 น. ราคา 228 บาท ** บอกคนขับว่าต้องการลงสังขละบุรี รถจะไปจอดให้ที่ตลาดสังขละ จากนั้นเดินต่อ หรือเหมารถไปสะพานมอญ 2.นั่งรถทัวร์ หรือรถตู้ กรุงเทพฯ – กาญจนบุรี จากสายใต้ หรือหมอชิต แล้วต่อรถที่ขนส่งกาญจนบุรี ไปสังขละบุรี จากนั้นเดินต่อ หรือเหมารถไปสะพานมอญ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.