ร้านค้าย่านสำเพ็ง

สำเพ็ง แหล่งการค้า ซ่องโสเภณี และขโมย

สำเพ็ง เดียวนี้ ซ่องโสเภณี โรงน้ำชา ยาฝิ่นได้หายไป ยังคงเหลือไว้แต่การค้าที่นับวันจะรุ่งเรืองขึ้นไปเรื่อยๆ

สำเพ็ง แหล่งการค้า ของชาวจีน เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งเมื่อมีการย้ายเมืองจากกรุงธนบุรีข้ามมายังอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาคือฝั่งพระนคร จึงได้โปรดให้ พระยาราชาเศรษฐี และชุมชนคนจีน ย้ายจากบริเวณท่าเตียนให้มาอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า สำเพ็ง นอกเขตพระนคร (สำเพ็งนี้ก็เป็นชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว) บริเวณนี้เดิมเป็นที่สวน มีลักษณะเป็นชุมชนอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยให้ตั้งชุมชนอยู่กันตั้งแต่ คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) จนไปถึงคลองวัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคา) ในบริเวณนี้มีวัดชื่อขึ้นต้นด้วยสามอยู่สามวัดคือ วัดสามจีน (วัดไตรมิตร) วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิ) และวัดสามเพ็งหรือสัมเพ็ง (วัดปทุมคงคา)

สำเพ็ง ครั้ง พ.ศ.2452
สำเพ็ง ครั้ง พ.ศ.2452 เครดิตภาพ อาศรมเพลงเก่า

เมื่อพระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ด้วยความที่อุปนิสัยของคนจีน ซึ่งมีความสามารถในการค้าขายเป็นทุนอยู่แล้วไม่ว่าอยู่ที่แห่งใดก็สามารถสร้างกิจการร้านค้าขึ้นมาได้ ประกอบกับช่วงเวลานั้นได้มีการอพยพย้ายถิ่นของชาวต่างชาติเข้ามาสู่ไทยมากขึ้น ทั้งมาติดต่อค้าขาย มาใช้แรงงาน ยิ่งทำให้ย่านสำเพ็งนี้มีการขยายกิจการใหญ่โตขึ้นจนกลายเป็นแหล่งการค้าทางบกที่รุ่งเรืองที่สุดของพระนคร มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยและค้าขายกันอย่างหนาแน่นถึงขนาดว่าหลังคาชนหลังคา มีตรอกซอกซอยเต็มไปหมด พร้อมกันนี้ก็มีธุรกิจบันเทิงและบริการพักผ่อนหย่อนใจเกิดขึ้นเพื่อปลอบประโลมผู้คนทั้งพ่อค้าวาณิชย์ กรรมการ ข้าราชบริพาร เจ้าขุนมูลนาย  และความเจริญรุ่งเรื่องนี้ได้ถูกบันทึกไว้ใน นิราศเมืองแกลง ของ “สุนทรภู่”

“ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำจอดเรียงเขียงขนาน

มีซุ้มซอกตรอกนางเจ้าประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง”

 

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของสำเพ็งในยุคสมัยของ รัชกาลที่ 2 เราไม่ทราบได้ว่าท่านสุนทรภู่ ขณะนั่งเรือนิราศไปเมืองแกลง ในค่ำคืนนั้นได้แวะพักที่สำเพ็งในตรอกใดตรอกหนึ่งหรือไม่  ในสมัยนั้นในตรอกของสำเพ็งมักจะมีสำนักหญิงโสเภณีอยู่ ชื่อตรอกต่างๆบางแห่งจะเรียกตามชื่อเจ้าของสำนัก  และสำนักโสเภณีเหล่านี้รุ่งเรืองสุดขีดในยุคของรัชกาลที่ 4  สำนักโสเภณีที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งหนึ่งคือ โรงยายแฟง ที่ตรอกเต้า (ซอยเจริญกรุง 14) ยายแฟงเป็นเจ้าของสำนักโสเภณี และเป็นผู้มีจิตใจศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้รวบรวมเงินบริจาครวมทั้งเงินจากกิจการสำนักโสเภณี สร้างวัดขึ้นมาวัดหนึ่งชื่อวัดใหม่ยายแฟง และต่อมาเปลี่ยนเป็น คณิกาผล ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ ตรงกันข้ามกับสถานีตำรวจป้อมปราบ ภายในวัดยังมีรูปเคารพของยายแฟงประดิษฐานไว้อีกด้วย ยายแฟงสมัยนั้นยิ่งใหญ่ขนาดที่สามารถนิมนต์ขรัวโต มาเทศนาในงานสมโภชวัดด้วย (ตอนยังไม่ได้เป็น สมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี) และยายแฟงก็ถูกเทศนาไปกัณฑ์ใหญ่เรื่องที่มาของเงินแกนี่หละ ตระกูลของยายแฟงก็ดำเนินกิจการสำนักโสเภณีมาอีกรุ่นหนึ่งและก็สร้างวัดขึ้นมาอีกวัดหนึ่งด้วย จะอย่างไรได้ในเมื่อโสเภณีก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา สำนักโสเภณีในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย มีการจดทะเบียนและจ่ายส่วยให้รัฐอย่างถูกต้อง แถมยังมีการตรากฎหมายข้อบังคับ โรงหญิงนครโสเภณี และต่อมาเปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติโรคสัญจร โสเภณีเป็นอาชีพๆหนึ่งซึ่งสร้างให้เจ้าของสำนัก และตัวเองมีความเป็นอยู่ และรายได้ที่ดี  นอกจากสำนักของยายแฟงก็มี ยายเต้า ยายอิ่มขาว และหลายๆคนอีกในสมัยต่อมา แต่สุดท้ายแล้วสำนักโสเภณีกลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่อาชีพนี้มันเป็นอาชีพเก่าแก่อยู่คู่กับโลกมนูษย์มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ก็เลยมีความจำเป็นต้องอวตารร่างมาเป็นอาบอบนวด และสถานที่อื่นๆ สุดแต่จะเรียก แล้วก็ย้ายถิ่นฐานจากสำเพ็งไปรุ่งเรืองที่อื่นสืบต่อไป รุ่งเรืองสุดขีดถึงขนาดเจ้าของกิจการยังได้รับลือกเป็นผู้แทนราษฎรของปวงชนชาวไทย

สำเพ็ง ย่านค้าขาย
สำเพ็ง ในสภาพปัจจุบัน กลายเป็นแหล่งค้าขาย ทั้งส่ง และปลีก

สำเพ็ง ที่มองเห็นในยุคปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเรื่องของการค้าขายของสารพัด เช่น ตุ๊กตา รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องเขียน ของเล่น กิ๊ฟช๊อป กระเป๋า มีทั้งของแท้ ของเทียม ของก๊อปปี้ หลายๆเกรด มีขายทั้งปลีกและส่ง ราคาขายปลีกจะแตกต่างจากขายส่งค่อนข้างมาก ดังนั้นที่นี่จึงเป็นจุดนัดพบของแม่ค้าแม่ขาย มาหาซื้อของไปขายต่อ ตลาดสำเพ็งไปได้ทุกวันและมีของขายทุกวัน

ตลาดจะมีสองช่วงคือ ตลาดตอนเช้าจะเปิดตั้งแต่ตีสอง ไปจนถึง 7 โมงเช้า จะคึกคักก็ช่วงตี 3 ถึงตี 5 (วันจันทร์ตลาดเช้าจะปิด) และหลังจากนั้นก็เป็นตลาดเวลาปกติ เริ่มทยอยเปิดกันตั้งแต่ 8 โมงเช้าเป็นต้นไปจนถึง 5 โมงเย็น (แต่วันอาทิตย์บางร้านจะไม่เปิดโดยเฉพาะร้านรองเท้าส่วนมากไม่เปิด) ทั้งตลาดเช้ากับตลาดเวลาปกติราคาของไม่ต่างกันมาก ตลาดเวลาปกติจะมีร้านและของหลากหลายกว่า  ตรอกที่มีการค้าขายคึกคักคนมากๆก็คือ ซอยวานิช1โดยมี ถนนมังกร ถนนราชวงศ์ ตัดผ่าน ซึ่งจากถนนเยาวราช เราจะเข้าทาง ถนนมังกร หรือ ถนนราชวงศ์ก็ได้

ป้าย เตือนมิจฉาชีพ
ตลาดสำเพ็ง วันนี้ต้องมีป้ายเตือนให้ระวังมิจฉาชีพ ตั้งแต่หัวซอยยันท้ายซอย

วันนี้ตลาดสำเพ็ง ค่อนข้างจะมีมิจฉาชีพชุกชุมผิดปกติ ซึ่งปกติก็มีอยู่แล้ว ในสถานที่มีคนมาชุมนุมเยอะแยะ และแต่ละคนก็พกเงินมาเยอะทั้งคนซื้อและคนขาย นักกรีดกระเป๋า ล้องกระเป๋าจึงชุกชุม ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่การทำมาหากินฝืดเคือง เงินทองหายาก มิจฉาชีพก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว วันนี้เดินตลาดสำเพ็งจึงต้องระวังตัวเป็นพิเศษ เดินไปไหนมาไหน จะมีประกาศให้เอากระเป๋าไว้ข้างหน้า ระวังจะถูกล้วงกระเป๋า มีป้ายติดตลอดเส้นทางให้ระวัง แม่ค้าแม่ขายก็พูดคุยและตักเตือนลูกค้า ดูเหมือนมันไม่ค่อยปกติ

สำเพ็ง ยังคงเจริญรุ่งเรืองไม่เสื่อมถอยนับตั้งแต่ สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จะมีเปลี่ยนแปลงบ้างก็เพียงแค่ธุรกิจที่ทำอยู่ และสำนักโสเภณี โรงฝิ่น โรงน้ำชา ได้หายไป หลงเหลือไว้แต่เพียงเรื่องเล่า และวีรกรรม

[google_map_easy id=”1″]

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.