วัดแจ้งเป็นวัดเก่าแก่ใน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้าง ในปี พ.ศ. 2418 โดย ราชบุตร (หนูคำ บุตโรบล )แห่งเมือง “อุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช” เป็นโอรสในเจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) กับอาชญานางทอง บุตโรบล เป็นพระนัดดาในท้าวสีหาราช (พลสุข) กับอาชญานางสุภา
เป็นพระปนัดดาในเจ้าโคตร พระโอรสในเจ้าพระวรราชปิตา (พระตา) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (เมืองหนองบัวลุ่มภู) แห่งราชวงศ์เชียงรุ้งแสนหวีฟ้า

สิมวัดแจ้ง สถาปัตยกรรมสิมพื้นถิ่นอีสาน
ในวัดแจ้ง มีโบราณสถานที่สำคัญคือ สิม สร้างขึ้นในปี 2455 โดยญาคูเพ็ง เจ้าอาวาส ลำดับที่ 6 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นสิมทรงพื้นถิ่นอีสาน สร้างก่ออิฐถือปูน ตั้งบนฐานเอวขันในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด 3 ห้อง ด้านหน้าเป็นโถงระเบียง โครงสร้างของอาคารใช้เสาและผนังรับน้ำหนัก หลังคาหน้าจั่วมุงกระเบื้องดินขอ (เป็นกระเบื้องดินเผาชนิดมีลักษณะเป็นแผ่นสีเหลี่ยมปลายตัดตรง ด้านล่างทำเป็นปุ่มเพื่อเอาไว้เกี่ยวกับระแนงที่รองรับ)
ประดับโหง่รูปนาคมีปีกที่มีหงอนสะบัดปลายคดโค้ง ใบระกา และหางหงส์รูปนาคมีปีก มีบันไดทางขึ้นตอนกลางด้านหน้า ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้ ตรงกับบันไดเป็นประตูทางเข้าสิมมี 1 ประตู ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ผนังด้านหลังก่อทึบ
หน้าบันสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณตามคตินิยมศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ขนาบข้างด้วยสิงห์ แผงแรคอสองใต้หน้าบันสลักเป็นรูปดอกไม้ทรงกลมเรียงกัน 3 ดอก สาหร่ายรวงผึ้งสลักเป็นกอบัว 2 กอ หน้าอุดปีกนกสลักลายพันธุ์พฤกษาแบบลาว คันทวยเป็นไม้สลักรูปนาคมีปีกเช่นเดียวเดียวกับโหง่และหางหงส์

ภายในสิมประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง หล่อด้วยทองเหลือง เอกลักลักษณ์ของวัดแจ้งคือมีสิมพื้นถิ่นอีสานที่สร้างด้วยผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานี โดดเด่นด้วยงานไม้แกะสลักฝีมือท้องถิ่นที่เน้นความเรียง่ายและประโยชน์ใช้สอย
ที่มาสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม ศรีบุญเรือง หนองบัวลำภู