สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม ศรีบุญเรือง

สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม ศรีบุญเรือง หนองบัวลำภู

ลักษณะทั่วไปของ สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม

สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม เป็นสิมทึบแบบพื้นบ้านอีสาน สร้างด้วยไม้ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2489 เดิมเป็นสิมน้ำตั้งอยู่ในสระน้ำทางทิศตะวันออก ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 จึงย้ายไปตั้งอยู่บนบก ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2502 โดยก่อสร้างส่วนฐานของสิมเป็นฐานก่ออิฐถือปูน ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงโถงสูง มีมุขหน้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูและบันไดทางขึ้นอยู่ด้านหน้า บันไดก่ออิฐถือปูน หัวบันไดประดับด้วยปูนปั้นรูปพญานาค ส่วนหน้าบันประดับด้วยแผ่นไม้แกะสลักเป็นรูปครุฑและรังผึ้ง ผนังเป็นฝาไม้กระดานตามแนวนอน ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 4 ช่อง ส่วนผนังด้านหลังทึบ หลังคาทรงจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าที่เป็นไม้แกสลักรูปธาตุอีสานอยู่กึ่งกลางสันหลังคา หลังคาเดิมมุงด้วยแป้นเกล็ดไม้ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสังกะสี ภายในสิมประดิษฐานด้วยพระประธานปางสมาธิ ชาวบ้านเรียกว่า “พระดีนอร์”

สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม ศรีบุญเรือง หนองบัวลำภู
สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
สิมไม้โบราณ วัดเจริญรงธรรม บ้านดอนปอ
ด้านข้างของสิมไม้วัดเจริญทรงธรรม
พระดีนอร์ วัดเจริญทรงธรรม
พระดีนอร์ วัดเจริญทรงธรรม

สิมอีสานคืออะไร?

“สิม” คือโบสถ์หรืออุโบสถที่เรียกกันในภาษาไทยภาคกลาง สิม กร่อนเสียงมาจากคำว่า “สีมา” ซึ่งหมายถึงขอบเขตหรืออาณาเขต ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมของสงฆ์ที่ต้องทำภายในนั้นทำนอกพื้นที่นั้นไม่ได้

“สิม” มี 3 ประเภทคือ 1. “คามสีมา” เป็นสิมที่อยู่ในบ้าน 2. สิมที่อยู่ในป่า เรียกว่า “อพัทธสีมา” ถ้าผูกแล้วเรียก “พัทธสีมา” 3. “อุทกกะเขปะสีมา” ที่เรียกว่า “สิมน้ำ”

บันไดนาค วัดเจริญทรงธรรม
บันไดนาคสิมไม้วัดเจริญทรงธรรม
สิมบก หรือ คามสีมา

“สิมบกหรือคามสีมา”  เป็นผลงานของสถาปนิกพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง บ่งบอกถึงภูมิปัญญาช่างพื้นบ้านแบบดั้งเดิม  ที่สั่งสอน แก้ไข  ดัดแปลง  สืบต่อกันมา  แม้ขนาดจะไม่ใหญ่โตอลังการเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น  แต่ก็เป็นสัจธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนบนถิ่นนั้นๆ ผลงานของช่างต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมตลอดถึงการลอกเลียนรูปแบบจากช่างเมืองหลวง  จนก่อให้เกิดรูปแบบสิมบก มีลักษณะใหญ่ๆ 4 ลักษณะดังนี้

  1. สิมพื้นบ้านบริสุทธิ์ สร้างด้วยไม้และอิฐถือปูน  ซึ่งแบบอิฐถือปูนมีทั้งแบบมีและไม่มีเสารับปีกนก
  2. สิมพื้นบ้านประยุกต์โดยช่างพื้นบ้าน(รุ่นหลัง)  มีทั้งแบบใช้ช่างพื้นบ้านไท-อีสาน และญวน หรือได้รับอิทธิพลจากช่างญวน  โดยจำแนกได้เป็นแบบ  ไม่มีมุขหน้า  แบบมีมุขหน้า  แบบมีมุขหน้าและมุขหลัง  และแบบมีระเบียงรอบ
  3. สิมทึบพื้นบ้านผสมเมืองหลวง
  4. สิมทึบที่ลอกเลียนเมืองหลวง
สิมน้ำ

ข้อบัญญัติตามพระวินัยปิฎกกล่าวไว้ว่า  น่านน้ำที่สงฆ์จะกำหนดเป็นอุทกกะเขปะได้มี 3 ประการคือ

  1. นที  แม่น้ำ
  2. สมุทร  ทะเล
  3. ชาตสระ  ที่ขังน้ำอันเกิดเอง

การทำสังฆกรรมในน่านน้ำ  3 ชนิด  จะทำบนเรือหรือบนแพที่ผูกกับหลักในน้ำหรือทอดสมอก็ได้  ให้ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ประมาณ  3 วา) ท่านห้ามไม่ให้ทำในเรือหรือแพที่กำลังลอยลำเดินทาง  จะทำบนร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ  ท่านว่าได้
ดังนั้น “ร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ” จึงเป็นมูลเหตุมาเป็น สิมน้ำ  ประเภทถาวรขึ้น  สามารถใช้สอยได้ในระยะเวลานานพอสมควร  แม้จะไม่มีความคงทนนักปัจจุบัน  สิมน้ำ  ในภาคอีสานได้สูญหายไปจนเกือบหาดูไม่ได้แล้ว

ข้อมูลอ้างอิง ฐานข้อมูลด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สถานที่ตั้ง

สิมไม้วัดเจริญทรงธรรม ตั้งอยู่ที่ บ้านดอนปอ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู แผนที่ คลิ๊กเลย

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.