พระนอนวัดธรรมจักรเสมาราม-เมืองโคราชสมัยทวารวดี

เมืองโคราชสมัยทวารวดี เมืองเสมาหรือศรีจนาศะ

เมืองโคราชสมัยทวารวดี กรมศิลปากรได้ค้นพบหลักฐานที่สำคัญๆเป็นจำนวนมากอยู่ทั้งในบริเวณเมืองเสมา และบริเวณนอกเมือง เมืองเสมาปัจจุบันเป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ที่ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

สมัยทวารวดี อยู่ในช่วงราวๆพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16 ชื่อทวารวดี พบครั้งแรกในบันทึกของหลวงจีนจิ้นฮง บอกว่าเป็นอาณาจักรที่อยู่ระหว่างกลางระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (พม่า) และอาณาจักรอีศานปุระ (เขมร) แต่นักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบันเชื่อว่าไม่มีความเป็นอาณาจักร

และพบหลักฐานเหรียญเงิน 2 เหรียญ มีจารึกภาษาสันสกฤตอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 จากเมืองนครปฐมโบราณ มีข้อความว่า ศรีทวารวดีศวรปุณยะ ซึ่งแปลได้ว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี อย่างไรก็ตามเหรียญลักษณะนี้ยังพบทั่วไปในหลายๆพื้นที่

เมืองเสมา หรือ ศรีจนาศะ

เมืองเสมา เป็นเมืองโบราณร่วมสมัยอารยะธรรมทวาราวดี และอารยะธรรมเขมร นักโบราณคดีขุดค้นพบหลักฐานว่าเป็นชุมชนต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเริ่มประวัติศาสตร์ ผ่านมา ทวารวดี สู่เขมร และอโยธยา สุดท้ายย้ายเมืองไปอยู่บริเวณเมืองโคราชปัจจุบันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ผังเมืองเสมา เมืองโคราชสมัยทวารวดี
ผังเมืองเสมา เมืองโคราชสมัยทวารวดี

เมืองเสมาเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปทรงกลมรีไม่สม่ำเสมอ มีแม่น้ำลำตะคลองไหลผ่านทางด้านใต้ และห้วยไผ่ไหลผ่านทางทิศตะวันตก  กำแพงเมืองชั้นเดียว มีความยาวจากด้านทิศเหนือไปทิศใต้ ประมาณ 1,700 เมตร และจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ประมาณ 1,500 เมตร กำแพงหรือคันดินสูงเฉลี่ย 3-4 เมตร คูน้ำกว้างประมาณ 10-20 เมตร มีโบราณสถานในเมืองชั้นใน 6 แห่ง และเมืองชั้นนอกอีก 3 แห่ง (กรมศิลปากร)

คูน้ำและคันดิน รอบเมืองเสมา ยุคทวารวดี
คูน้ำและคันดิน รอบเมืองเสมา ยุคทวารวดี

ผลการศึกษาทางโบราณคดี พบว่าเมืองเสมาเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการพบ หลักฐานทางโบราณคดีสำคัญที่แสดงถึงวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับชุมชนโบราณร่วมสมัยบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลและชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบสีดำขัดมันหรือแบบพิมายดำ

ในช่วงราวๆพุทธศตวรรษที่ 12-15 เป็นช่วงที่เมืองเสมามีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น มีหลักฐานการรับเอาวัฒนธรรมทวารดีมาอย่างชัดเจน โดยนับถือพุทธศาสนา (เถรวาทและมหายาน)  มีการสร้างศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ทั้งในเมืองชั้นใน และเมืองชั้นนอก  ได้แก่ เจดีย์ วิหาร ใบเสมาหินทราย พระพุทธรูป ธรรมจักรศิลา ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะทวารวดีผสมศิลปะพื้นเมือง

โบราณสถานในเขตเมืองเสมา
โบราณสถานในเขตเมืองเสมา

หลักฐานทางโบราณคดีในเมืองโบราณเมืองเสมาที่ชี้ให้เห็นว่าเมืองเสมาเป็นเมืองในยุคทวารวดี ส่วนมากเป็นศาสนสถาน มีเจดีย์หลากหลายสัณฐานเช่น เจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส (โบราณสถานหมายเลข 5) เจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสเพิ่มมุม (โบราณสถานหมายเลข 2) เจดีย์ฐานรูป 8 เหลี่ยม (โบราณสถานหมายเลข 3) และฐานทรงกลม (โบราณสถานหมายเลข 8) มีวิหารทรางสี่เหลี่ยมผืนผ้า (โบราณสถานหมายเลข 3 หลังที่ 2, โบราณสถานหมายเลข 4 และโบราณสถานหมาบเลข 9) และยังมีอาคารทรงปราสาท ผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส (โบราณสถาน หมายเลข 7)

โบราณสถานในเขตเมืองเสมา หมายเลขต่างๆ
โบราณสถานในเขตเมืองเสมา หมายเลขต่างๆ ซึ่งจะมีป้ายของกรมศิลปากรติดไว้

เมืองศรีจนาศะ

มีหลักศิลาจารึกที่สำคัญ 2 หลักที่กล่าวถึงเมืองศรีจนาศะ และกษัตริย์ผู้ครองนคร

ศิลาจารึกบ่ออีกา

อันแรกชื่อว่าศิลาจารึกบ่ออีกา ค้นพบในปี พ.ศ.ใดไม่ปรากฎ โดยพบที่ บ้านบ่ออีกา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองเสมาโบราณ จารึกศิลาทรายสีแดง ขนาด 1.1 x 0.56 x 0.25 เมตร หลักหนึ่งซึ่งแตกออกเป็น ๒ ชิ้น แต่ละด้านมีจารึกภาษาสันสกฤต ใช้ตัวอักษรสมัยก่อนสร้างเมืองพระนครในประเทศกัมพูชา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองเสมา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองเสมา

มีเนื้อหากล่าวถึง สัตว์และทาสที่พระราชาแห่งศรีจนาศะได้ถวายไว้แด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อทรงมุ่งหวังพระสัมมาสัมโพธิญาณ ในด้านที่ 1 และในด้านที่ 2 เริ่มต้นด้วยการกล่าวสรรเสริญพระศิวะ แล้วกล่าวยกย่องอังศเทพซึ่งเป็นผู้สร้างศิวลึงค์นี้ กำหนดอายุตามศักราชที่ปรากฏอยู่บนจารึก คือ พ.ศ. 1411

จารึกบ่ออีกา เมืองเสมา ยุคทวารวดี ด้าน 1 ซ้ายมือ ด้น 2 ขวามือ
จารึกบ่ออีกา เมืองเสมา ยุคทวารวดี ด้าน 1 ซ้ายมือ ด้น 2 ขวามือ ที่มาฐานข้อมูลจารึก

จารึกศรีจนาศะ

ศิลาจารึกหลักนี้ได้ถูกค้นพบในการตัดถนนในพระนครศรีอยุธยาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ณ บริเวณเนินดินใกล้กับโบสถ์พราหมณ์หรือเทวสถาน ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ใกล้กับสะพานเก่าซึ่งมีนามว่าสะพานชีกุน ข้ามคลองชีกุน ปัจจุบันจารึกหลักนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งพระนครศรีอยุธยา มีขนาด กว้าง 22 ซม. สูง 45 ซม.

ด้านที่ 1 เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระศิวะ จากนั้นสรรเสริญนางปารวตี ต่อจากนั้นจึงกล่าวถึงรายพระนามพระราชาแห่งอาณาจักรจานาศปุระ คือ พระราชาองค์แรกทรงพระนามว่าภคทัตต์ ผู้ที่สืบต่อลงมาจากพระเจ้าภคทัตต์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า สุนทรปรากรม พระเจ้าสุนทรปรากรมทรงมีโอรสทรงพระนามว่า สุนทรวรมัน พระเจ้าสุนทรวรมันทรงมีโอรส ๒ องค์องค์พี่ทรงนามว่านรปติสิงหวรมัน ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แห่งอาณาจักรศรีจานาศะ องค์น้องทรงนามว่า มงคลวรมัน ได้โปรดให้สร้างจารึกหลักนี้เพื่อฉลองการสร้างพระรูปพระชนนีเป็นพระราชเทวี คือ ชายาของพระศิวะ เมื่อศักราช 859 (พ.ศ. 1480)

ส่วนจารึกด้านที่ 2 นั้น เป็นรายชื่อของทาส

จารึกศรีจนาศะ เมืองเสมา สมัยทวารวดี
จารึกศรีจนาศะ เมืองเสมา สมัยทวารวดี พบที่อยุธยา ซ้ายมือ ด้านที่ 1 ขวามือด้านที่ 2 ที่มาฐานข้อมูลจารึก

ศิลาจารึกหลักที่ 4

และมีการค้นพบจารึกหลักที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2542 จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ยังไม่ได้แปลเนื้อหา เบื้องต้นทราบแต่เพียงว่าระบุมหาศักราช 849 ตรงกับพุทธศักราช 1470 ร่วมสมัยกับทวารวดี อย่างไรก็ตามศิลาจารึกหลักที่ 3 ชื่อว่าจารึกเมืองเสมา เป็นในยุคสมัยต่อมาคือยุคสมัยอารยะธรรมเขมรเข้ามาครอบงำเมืองศรีจนาศะแล้ว

ศ.ยอร์จ เซเดย์ สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของบ้านเมืองที่ชื่อศรีจนาศะหรือจนาศะปุระนี้คงตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงโคราช และนักวิชาการหลายท่านก็เชื่อว่าคงมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา โดยพิจารณาจากหลักฐานโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองเสมา

พระนอน และธรรมจักร วัดธรรมจักรเสมาราม

อีกหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พบที่วัดธรรมจักรเสมาราม  เป็นพระนอนหินทรายที่มีขนาดใหญ่ สร้างด้วยก้อนหินทรายสีแดงขนาดใหญ่หลายก้อนประกอบกันขึ้นตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีการสลักหินทรายให้เป็นรูปทรงพระนอน สภาพโดยรวมชำรุด ความยาวตลอดองค์พระนอนประมาณ 13.3 เมตร สูง 2.8 เมตร นอนตะแคงขวา พระเศียรหันไปทางทิศใต้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก

พระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม
พระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม โบราณสถานนอกเมืองเสมา ศิลปทวารวดี

จากการขุดค้นของกรมศิลปากร บริเวณพระนอนนี้ยังมีวิหารสร้างเพื่อประดิษฐานองค์พระนอน  มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐ ขนาดกว้าง 6.5 เมตร ยาว 26 เมตร ยาวตลอดองค์พระ ลักษณะฐานประกอบด้วยฐานเขียงเตี้ยๆ ถัดขึ้นมาเป็นกระดานบัวคว่ำ ท้องไม้ และบัวหงาย  อาคารทั้งหมดอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ห้องประดิษฐานพระนอน ห้องประกอบพิธี และลานหรือทางเดินด้านหน้า ทางทิศเหนือ

ห้องประกอบพิธีกรรม ภายในวิหารพระนอน สมัยทวารวดี
ห้องประกอบพิธีกรรม ภายในวิหารพระนอน วัดธรรมจักรเสมาราม

มีการค้นพบธรรมจักรหินทราย  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางดุมล้อ 31 เซนติเมตร เป็นธรรมจักรแบบทึบ แกะสลักเป็นรูปสี่กงล้อ ตอนล่างของธรรมจักรมีลายสลักหน้ากาลหรือพนัสบดี ลักษณะทางศิลปกรรมเทียบได้กับธรรมจักรที่พบจากเมืองนครปฐม สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในเวลาเดียวกับพระพุทธไสยาสน์และเมืองเสมา

ปัจจุบันเสมาธรรมจักรหินทรายนี้ประดิษฐานอยู่ในตู้กระจกใน “อาคารจัดแสดงโบราณวัตถุเสมาธรรมจักร” ภายในวัดธรรมจักรเสมาราม

ใบเสมาหิน สมัยทวารวดี
ใบเสมาหิน สมัยทวารวดี

ใบเสมาบ้านหินตั้ง

บ้านหินตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเสมา ใกล้กับแม่น้ำลำตะคลอง อยู่ในตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน บริเวณบ้านหินตั้งมีใบเสมาปักอยู่เป็นคู่ๆ หรือปักเดี่ยว กระจัดกระจายหลายจุด ทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งเดิม บางใบอยู่ภายในบ้านคน บางใบยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ บางใบชำรุดหักพัง

ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 อารยะธรรมของเขมรก็ได้เข้ามากลมกลืนไปกับอารยธรรมทวารวดี และเด่นกว่า ซึ่งมีการสร้างศาสนสถาน และเมืองโบราณ ทั่วเมืองโคราช ซึ่งจะพาไปชมในตอนต่อไป

แผนที่เมืองเสมา

[google_map_easy id=”21″]

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.