ภาพเขียนสีเขาจันทร์งาม สีคิ้ว
โคราชยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่รู้จัดการแบ่งชนชั้นวรรณะแล้ว และเป็นแหล่งที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่ถูกค้นพบมา ส่วนมากอยู่บริเวณ อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย ซึ่งจะเรียกว่าชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนก็ได้ แหล่งที่มีชื่อเสียงก็คือ แหล่งบ้านโนนวัด แหล่งบ้านปราสาท ซึ่งอยู่ที่ อำเภอโนนสูง และแหล่งใกล้กับปราสาทหินพิมาย แหล่งบ้านกระเบื้องใหญ่ กระเบื้องน้อย แหล่งบ้านสลักได ที่อำเภอพิมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ใกล้ๆกัน และที่อำเภอสีคิ้ว ยังมีแหล่งโบราณคดีชนิดศิลปถ้ำ ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำลำตะคลอง ภาพเขียนสี เขาจันทร์งาม อีกด้วย
ภาพเขียนสีเขาจันทร์งาม ตั้งอยู่ภายในวัดเลิศสวัสดิ์ (เขาจันทร์งาม) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 58 ถนนมิตรภาพ บ้านเลิศสวัสดิ์ อ.สีคิ้ว พิกัด: 14.813720 N, 101.593850 E เป็นภาพเขียนสี ในยุคหินใหม่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุราวๆ 3,000 – 4,000 ปี
ภาพเขียนสีทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2-4 เมตร การศึกษาที่ผ่านมาของกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดแบ่งภาพเขียนสีที่พบเป็น 12 กลุ่มตามตำแหน่งที่พบ โดยรวมแล้วมีภาพทั้งหมด 44 ภาพ เป็นภาพคน 32 ภาพ ภาพสัตว์ 5 ภาพ (สุนัข นกหรือไก่ ตะกวด? เม่น? เสือ?) คันธนูและลูกศร 1 ภาพ และไม่ทราบว่าเป็นภาพชนิดใด 5 ภาพ เทคนิคการเขียนภาพมี 2 แบบ คือ ภาพเงาทึบและลายเส้นโครงร่างภายนอก ภาพคนส่วนใหญ่มีส่วนน่องโต มีผ้านุ่ง ไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงจะมีหางนกห้อยมาจากกระเบนเหน็บและพู่ประทับบนหัว

ภาพเขียนสีนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะทางสังคมคงเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม ที่มีอายุอยู่ในราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว อยู่รวมกันหลายครอบครัวเป็นชุมชนใหญ่ ภาพเขียนแสดงสรีระที่สำคัญคือน่องโป่ง ซึ่งพบในภาพของหลุ่มหลายแห่งในภาคอีสาน (อาจแสดงถึงความสัมพันธ์กันระหว่างชุมชนในภาคอีสาน) นอกจากนี้ภาพเขียนยังแสดงถึงการแต่งกายและการล่าสัตว์ของคนในสมัยนั้น (ธราพงศ์ ศรีสุชาติ และคณะ 2532)
ชุมชนก่อนประวัติก่อนประวัติศาสตร์ ลุ่มแม่น้ำมูล แถบ อำเภอพิมาย
จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในแถบอำเภอพิมาย เช่น ที่บ้านส่วย บริเวณกำแพงเมืองพิมาย ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บ้านโนนท่ม บ้านตำแย ตำบลกระเบื้องใหญ่ บ้านกระเบื้องน้อย บ้านท่าหลวง บ้านกล้วย และแหล่งโบราณคดี บ้านสลักได
โดยเฉพาะการขุดค้นที่ บ้านตำแย ในปี พ.ศ. 2523 โดย เดวิด เจ เวลซ์ ได้พบหลักฐานว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนเก่า ตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย และมีการพัฒนาการของชุมชน ไปเป็นชุมชนเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวใช้เป็นอาหารมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณบ้านตำแยนี้ มีการพัฒนาการยาวนานมาถึง 3 ยุคด้วยกัน คือยุคตำแย มีอายุตั้งแต่ 3,000 ถึง 2,500 ปี ยุคพิมายมีอายุตั้งแต่ 2,500 – 1,500 ปี และต่อมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น 1,500 – 700 ปี จากการวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาพบว่ามีส่วนผสมของแกลบด้วย

ที่บ้านส่วย อำเภอพิมาย มีการพบเศษกระเบื้องดินเผาสีดำ ขัดมัน ผิวเรียบมีลายขีดเส้นด้านใน เป็นภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ (PHIMAI BLACK WARE) ซึ่งถูกพบครั้งแรก และถูกพบการแพร่กระจายของภาชนะรูปแบบพิมายดำ ไปยังเขตอำเภอโนนสูง ซึ่งเป็นแหล่งขุดค้นขนาดใหญ่ที่สำคัญ มีการสัณนิษฐานว่า เมืองพิมายน่าจะเป็นแหล่งศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผา และส่งไปแพร่กระจายไปยังแถบ อำเภอโนนสูง ซึ่งอยู่ห่างไปจากเมืองพิมาย ไปประมาณ 20 กิโลเมตร
ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณแถบ อำเภอโนนสูง
แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท
แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโคราช เป็นแหล่งชุมชนที่มีผู้คนอาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ เก่าแก่ที่สุดประมาณ 3,000 ปี ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท หมู่ที่ 7 ตำบลธารปราสาท อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

บ้านปราสาท ในอดีตเป็นที่รู้จักโดยการเป็นที่ลักลอบนำของเก่าไปขาย ต่อมากรมศิลปากรจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกุม และต่อมาในปี 2526 ได้มีการสำรวจและขุดค้นบริเวณบ้านปราสาท พบว่าแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทเป็นแหล่งขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีลำธารปราสาทไหลผ่านทางด้านเหนือ มีมนุษย์อาศัยอยู่นับ 3,000 ปีมาแล้ว โดยรู้จักเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ มีการใช้สำริดบ้าง และมีการทำเครื่องปั้นดินเผาทรงปากแตรสีแดง นำเครื่องปั้นดินเผามาฝังรวมในหลุมฝังศพ ต่อมาเมื่อ 2,000 ปีก่อนนี้ได้เริ่มมีการใช้ภาชนะรูปแบบพิมายดำอย่างแพร่หลาย มีการนำเหล็ก สำริด มีการ หินสี เช่น คานีเชี่ยน อะเกต มาใช้เป็นเครื่องประดับ จนราวพุทธศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรเข้ามา แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ชุมชนนี้จะสิ้นสุดไป
แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทนี้ ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเหมือนกับบ้านเชียง มีการจัดแสดงหลุมขุดค้นเปิดให้ชม 3 หลุมคือ
หลุมขุดค้นที่ 1 เป็นการจัดวางตามความลึกที่พบในแต่ละยุคและสมัย
ในยุค 3,000 ปี เป็นส่วนที่พบอยู่ชั้นล่างสุดคือลึกประมาณ 5.5 เมตร การฝังศพในแต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปีหันหัวไปทางทิศใต้
แต่ทุกยุคล้วนมีคติในการฝังศพแบบเดียวกัน กล่าวคือจะนำเอาเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริด และภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย ใน 3 ยุคแรกภาชนะที่ฝังร่วมกับคนตาย เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบ ปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น
ต่อมาในชั้นความลึกที่ตื้นขึ้นสัณนิษฐานว่ามีอายุราว 1,500 ปี ลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนไปเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง
หลุมขุดค้นที่ 2 แสดงชั้นดินที่พบร่องรอยของศาสนสถาน
เป็นการจัดแสดงการขุดค้นพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13 -16 เรียกว่า กู่ธารปราสาท สิ่งที่ค้นพบมีเศียรพระพุทธรูป ศิลปะทราวดี และยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ พร้อมทั้งมีชิ้นส่วนลายปูนปั้นที่ใช้ประดับปราสาท
หลุมขุดที่ 3 แสดงถึงหลุมฝังศพของสตรีที่ถูกประหารโดยการตัดคอ
หลุมนี้พบที่ชั้นความลึก 5.5 เมตร เป็นโครงกระดูกของผู้หญิงทั้งหมด และไม่มีกระโหลกศรีษะเลย และภาชนะที่ใส่รวมลงไปนั้นจะถูกทุบให้แตกก่อน และห่างไปอีกที่หนึ่งประมาณ 500 เมตรได้พบกระโหลกฝังอยู่รวมกัน นักโบราณคดีได้สัญนิษฐานว่ามีการประหารชีวิตผู้หญิงและนำศรีษะไปแห่ประจาน
แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด
แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด เป็นแหล่งที่ค้นพบอารยะธรรมชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและในอาเซี่ยน พร้อมทั้งมีหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ยุคคือ ยุคหินใหม่ ยุคสำริด ยุคเหล็ก และต่อเนื่องมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ คือ ทวารวดี เขมร อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนปัจจุบัน
การศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดนี้ เริ่มด้วยโครงการของ Prof. Charles Higham แห่งมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ร่วมกับนักวิจัยชาวไทย ทำการวิจัยทางโบราณคดีเรื่อง “The Development of An Iron Age Chiefdom : Phase Two” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – 2552
ชุมชนโบราณบ้านโนนวัด เป็นชุมชนเกษตรกรรม และรู้จักการแบ่งชนชั้นวรรณะแล้ว
จากหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบว่าชมชุนบ้านโนนวัดเป็นสังคมเกษตรกรรม มีการเพาะปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์ มีการพบเมล็ดข้าวเป็นจำนวนมากในหลุมฝังศพ และยังพบ กระดูกไก่ ไข่ไก่ กระดูกหมู กระดูกสุนัข กระดูกวัว กระดูกควาย เปลือกหอยทะเล กระดูกปลา ชุมชนบ้านโนนวัดมีประเพณีการฝังศพที่แสดงให้เห็นถึงการแบ่งชนชั้นในสังคมแล้ว โดยอาศัยหลักฐานการนำภาชนะดินเผาใส่ไปในหลุมฝังศพ มีการใส่ลูกปัดทองคำ และกำไล ลงไปในหลุมฝังศพด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถาานะของผู้ตาย พื้นบริเวณบ้านโนนวัดมีการค้นพบโครงกระดูกแล้วถึง 550 โครง ซึ่งไม่เคนมีการค้นพบอะไรที่มากอย่างนี้มาก่อนในประเทศไทย


ยุคหินใหม่
มีการค้นพบที่ชั้นความลึกสูงสุด และเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่พบศพผู้ใหญ่ถูกบรรจุไว้ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่อายุประมาณ 4,000 ปี ซึ่งที่พบกันส่วนมากจะเป็นศพเด็กเท่านั้นที่ถูกบรรจุไว้มนภาชนะดินเผา
การฝังศพในยุคหินใหม่นี้จะมีลักษณะนอนหงายเหยียดยาว พร้อมด้วยภาชนะดินเผา กระดูกหมู เปลือกหอยกาบ และฝังในไหขนาดใหญ่

ยุคสำริด อยู่ในช่วงประมาณ 2,500 – 3,300 ปี
เป็นยุคที่มนุษย์สามารถพัฒนาเครื่องมือ เครื่องใช้ให้สามารถมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการรู้จักใช้โลหะผสม ระหว่างทองแดงกับดีบุก ที่เรียกว่า “สำริด” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีการใช้ไฟในการหลอมโลหะ มีกระบวนการหล่อโลหะให้เกิดเป็นรูปต่างๆ เป็นยุคที่มีการสร้างสรรค์งานศิลปะมากขึ้น มีการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาให้มีสีสันและลวดลายสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องปั้นดินเผายุคสำริดของลุ่มแม่น้ำมูลตอนบนคือ ภาชนะรูปทรงกระโถนปากแตร พบครั้งแรกที่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท


การฝังศพของมนูษย์ยุคสำริดพบว่าส่วนมากมีลักษณะนอนหงายเหยียดยาว มีสิ่งของใส่ลงไปในหลุมฝังศพด้วย เช่น ภาชนะดินเผา กระดูกวัว กระดูกหมู นอกจากนี้พบว่ามักจะมีเครื่องประดับ และเครื่องใช้ฝังลงไปด้วย เช่น กำไรสำริด กำไรเปลือกหอย กำไลหิน เป็นต้น
ภาชนะดินเผายุคสำริดที่พบที่บ้านโนนวัดเป็นลายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่พบที่ไหนมาก่อน เป็นลวดลายของเส้นโค้งที่ซับซ้อนที่วาดโดยมนุษย์ ทาบบนพื้นผิวของภาชนะดินเผา ลักษณะคล้ายหน้ามนุษย์

ยุคเหล็ก 1,500 – 2,500 ปี
เป็นระยะสุดท้ายที่พบหลักฐานการฝังศพของแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด หลุมศพในยุคเหล็กระยะแรก 2,100 – 2,500 ปี นิยมใส่สิ่งของของผู้ตายไว้ เช่น ภาชนะดินเผาก้นกลมลายเชือกทาบจำนวนหลายใบ ภายในมักบรรจุมักบรรจุกระดูกปลาช่อน บางใบมีกระดูกปลาดุก
มีาชนะผิวเรียบทรงชาม ภาชนะเหล่านี้จะถูกทุบให้แตกแล้วนำมาวางเรียงกันไว้ในหลุมฝังศพ สิ่งของอย่างอื่นที่ใส่รวมไว้ในหลุมฝังศพผู้ตาย ได้แก่ แวดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก กระดูกข้อเท้าหมู กระดูกข้อเท้าควาย กระดูกสุนัข หรือกระดูกหมูทั้งตัว ที่ศพมักประดับด้วยลูกปัดที่ทำจากอะเกต คาร์นีเลียน กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้าทำจากสำริด

ส่วนการฝังศพในยุคเหล็กตอนปลาย ช่วงประมาณ 1,500 – 2,100 ปี ที่พบที่ชั้นดินช่วงบนๆ สภาพของโครงกระดูกจะถูกรบกวนโดยคนในยุคสมัยหลังๆ ลักษณะที่พบร่วมกับโครงกระดูก มีสีดำ ขัดมัน และมีเส้นลายในตัว เกิดจากการใช้ก้อนกรวดกดลากทำลวดลายบนผิวภาชนะ ภาชนะลวดลายแบบนี้รู้จักกันในนาม พิมายดำ เป็นเอกลักษณ์ของภาชนะดินเผายุคเหล็กของลุ่มน้ำมูลตอนบน
