Cold Process Soap หรือ CP soap เป็นการทำสบู่แฮนด์เมดแบบวิธีคลาสสิคดั้งเดิม
ข้อดีของการทำสบู่แฮนด์เมดวิธีนี้ก็คือ เราสามารถออกแบบส่วนผสมของสบู่ได้หมด ซึ่งสามารถสร้างสรรค์คุณภาพและความสวยงามได้ตามใจชอบ และยังเป็นการสร้างสรรค์ทั้งงานวิทยาศาสตร์และงานศิลปะให้ผสมกลมกลืนไปด้วยกัน
สบู่ชนิดนี้เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างกรดไขมัน (Fatty acid) และน้ำด่าง (Lye) ตัวอย่างของกรดไขมันที่นิยมนำมาใช้ทำสบู่กันก็คือ น้ำมันมะกอก น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น ส่วนน้ำด่างก็คือโซดาไฟเรานี่เอง (NaOH) และปฏิกิริยาทางเคมีนี้เรียกว่า “ saponification” ข้อดีของการทำสบู่แฮนด์เมดวิธีนี้ก็คือ เราสามารถออกแบบส่วนผสมของสบู่ได้หมด ซึ่งสามารถสร้างสรรค์คุณภาพและความสวยงามได้ตามใจชอบ และยังเป็นการสร้างสรรค์ทั้งงานวิทยาศาสตร์และงานศิลปะให้ผสมกลมกลืนไปด้วยกัน การทำสบู่ด้วยวิธีนี้ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยอันเนื่องมาจากปฏิกิริยาทางเคมี และอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือการเลือกชนิดของ น้ำมันหอมละเหย สี ที่เราใส่ลงไปว่าจะยังคงสามารถอยู่ได้ไหมในกระบวนการทำสบู่นี้ อีกทั้งเรายังต้องอดทนรอให้ปฏิกิริยาของ Saponification เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 6 สัปดาห์
ความปลอดภัยระว่างการผสมโซดาไฟ (Lye) หรือ NaOH
ก่อนที่จะดำเนินการทำสบู่ด้วยวิธีนี้เราควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้โซดาไฟ การละลายโซดาไฟ โปรดรำลึกเสมอว่าควรนำโซดาไฟใส่ไปในน้ำ ขอเน้นย้ำว่า โซดาไฟใส่ไปในน้ำ ไม่ใช่น้ำใส่ลงในโซดาไฟ การลงมือทำต้องสวมใส่อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเสมอ คือ แว่นตา และถุงมือ
Lye Calculator คำนวณเปอร์เซ็นต์ของ Lye ต่อน้ำ
เป็นโปรแกรมที่ใช้คำนวณสัดส่วนของ Lye (NaOH) ต่อน้ำที่จะนำไปใช้ในสูตรการทำสบู่ของเรา โปรแกรมที่ใช้คำนวณนี้ ซึ่งจะต้องกรอกเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันแต่ละชนิดที่เราจะใช้ในสูตรของเรา หลังจากนั้นให้ใส่เปอร์เซ็นต์ของ Super fat ซึ่งหมายถึงการใส่ปริมาณน้ำมันให้เกินไว้เพื่อที่โปรแกรมจะได้ลดสัดส่วนของ Lye ลงตามที่เราใส่เปอร์เซ็นต์ของ Super fat ซึ่งการใส่ค่านี้เพื่อความปลอดภัยในการใช้ Lye จะได้ไม่ใส่มากเกินไปซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ขณะเราชั่ง ตวง วัด ในการใส่ lye ถ้ามากเกินไปจะเป็นผลเสียมากกว่าการใส่น้อยเกินไป การใส่น้ำมันมากเกินไปไม่เกิดผลเสียใดๆ แต่จะมีประโยชน์เช่นให้ทำให้ผิวเราเนียนและชุ่มชื้นมากขึ้น มีข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ให้ใส่ค่า Super fat ที่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ แนะนำโปรแกรมที่ใช้คำนวณจากสองเวปไซต์ชื่อดังคือ http://www.brambleberry.com/Pages/Lye-Calculator.aspx http://soapcalc.net/calc/soapcalcwp.asp ใช้ได้ทั้งสองเวป ซึ่งอันแรกดูจะใช้ง่ายกว่าแต่อันหลังก็มีรายละเอียดมากกว่า เมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Cold Process Soap ลองมาทำกันเลย
วิธีการทำ Cold Process Soap
อุปกรณ์สำหรับทำ Cold Process Soap ภาพจาก Soap Queen
จัดหาอุปกรณ์
- เครื่องผสมอาหารแบบมือถือ
- ชามขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับผสมอาหารให้ใช้เป็นสแตนเลส หรือ พลาสติก หรือ เซรามิค อย่าใช้พวกโลหะโดยเด็ดขาดเพราะจะมีปัญหากับโซดาไฟได้
- ถ้วยตวง
- ตาชั่ง
- พิมพ์สำหรับใส่สบู่ ใช้ได้ ทั้งไม้ พลาสติด ซิลิโคน
- อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ถุงมือยาง แว่นตาเซฟตี้
- เครื่องวัด PH
ส่วนผสมและสูตร
คำนวณ lye กับน้ำ ด้วยใช้ lye calculator เราใช้จากเวปไซต์ Soapcal จากลิงค์ข้างบน โดยมีเป้าหมายดังนี้ น้ำมันที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 500 กรัม ซึ่งมีสัดส่วนของน้ำมันต่างๆดังนี้ น้ำมันมะพร้าว 30% น้ำมันมะกอก 30% น้ำมันแอลมอนด์ 25% น้ำมันโจโจบา 5% น้ำมันระหุ่ง 5% เชียร์บัทเตอร์ 5% เพื่อความชุ่มชื้นของผิว และใช้ตัวเลข Super fat ที่ 5% จากการคำนวณจะได้ส่วนผสมดังนี้
- Lye (NaOH) 69.57 กรัม
- น้ำ 190 กรัม
- น้ำมันมะพร้าว 150 กรัม
- น้ำมันมะกอก 150 กรัม
- น้ำมันแอลมอนด์ 125 กรัม
- น้ำมัน JoJoBa 25 กรัม
- น้ำมันระหุ่ง 25 กรัม
- Shea butter 25 กรัม
เครื่องมือที่จำเป็นในการใช้ทำสบู่หาซื้อได้จาก LAZADA

เริ่มลงมือทำกันเลย สบู่แฮนด์เมด Cold Process
- ขั้นตอนที่ 1 สวมถุงมือ ใส่แว่นตานิรภัย เท Lye ลงไปในน้ำที่เตรียมไว้คนให้ละลายเข้ากันจนหมดแล้วพักไว้ อย่าลืมนะให้ เท Lye ลงไปในน้ำ ห้ามเทน้ำลงไปใน lye
- ขั้นตอนที่ 2 เตรียมน้ำมันทั้งหมด ในกรณีนี้เราใส่ Shea butter ด้วยจำเป็นต้องอุ่นให้ละลายในน้ำมันให้หมด
- ขั้นตอนที่ 3 นำ lye + น้ำ ที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 มาเทใส่ในน้ำมันของขั้นตอนที่ 2
- ขั้นตอนที่ 4 นำที่ปั่นผสมอาหารชนิดมือถือมาปั่นส่วนผสม ทั้งสองส่วนให้เข้ากันดี จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า Trace ซึ่งเป็นลักษณะที่ส่วนผสมของสบู่นี้เข้ากันได้ดีจนไม่จะกลับสภาพไปสู่สถานะเดิมอีก หมายถึงเป็นเนื้อเดียวกันสมบูรณ์ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายครีมข้นๆ เมื่อเรายกที่ผสมขึ้นมาและปล่อยให้ส่วนผสมที่ติดค้างบนไม้ผสมนั้นหยดลงไปในชามผสมมันจะแสดงร่องรอยนูนให้เห็นอยู่ และมันต้องไม่ได้จมหายไปในทันที ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Trace สรุปว่าผสมเข้ากันโดยสมบูรณ์
- ขั้นตอนที่ 5 หลังจากผสมกันจนเกิด Trace แล้วขั้นตอนนี้เป็นการสร้างสีสัน และกลิ่นหอม ซึ่งใครมีหัวศิลปะก็เสริมเติมแต่งได้ตามใจชอบ เช่นเราอาจจะแบ่ง ส่วนผสมออกเป็นหลายๆถ้วยเพื่อใส่สีสันให้แตกต่างกัน
- ขั้นตอนที่ 6 นำสบู่ที่ได้สร้างสีสันต่างๆและใส่กลิ่นหอมไปแล้ว นำมาเทลงพิมพ์ซึ่งการเทแต่ละสีลงในแบบพิมพ์นับว่าเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะขั้นหนึ่งที่เดียว และเรายังวาดลวดลายได้จากการเทและใช้ไม้ป้ายให้เป็นรูปร่างได้อย่างสวยงามตามแต่จินตนาการของท่าน
- ขั้นตอนที่ 7 ปล่อยทิ้งไว้ในแบบพิมพ์ประมาณ 24 ชั่วโมงสบู่จะแข็งตัวและสามารถนำออกมาจากพิมพ์เพื่อตัดแบ่งได้
- ขั้นตอนที่ 8 หลังจากนำออกจากแบบพิมพ์และตัดเป็นที่เรียบร้อยให้เก็บไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์เพื่อให้กระบวนการทางเคมีดำเนินไปให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์จึงนำมาใช้หรือจำหน่ายได้ ก่อนใช้แนะนำให้วัด PH เสียก่อน ค่าที่ดีควรจะอยู่ที่ 8-10 อาจจะใช้เครื่องวัดหรือซื้อแผ่นวัดความเป็นกรดเป็นด่างก็ได้
เสร็จสิ้นกระบวนการทำสบู่แบบวิธีดั้งเดิม ง่าย สนุก และสามารถสร้างสรรค์คุณภาพและงานศิลป์ไปได้พร้อมกัน ลองดูนะคะ พบกันใหม่ เรื่องหน้าเร็วๆนี้ค่ะ
- link งานสบู่ทั้งหมด
ตอนที่ 1 พื้นฐานการทำสบู่แฮนด์เมด ตอนที่ 2 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบวิธี Melt and Pour, ตอนที่ 3 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process, ตอนที่ 4 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Hot Process, ตอนที่ 5 ปฏิกิริยาเคมี และคุณภาพของสบู่แฮนด์เมด, ตอนที่ 6 คุณสมบัติของน้ำมันและคุณลักษณะสบู่แฮนด์เมดที่ได้จากน้ำมันและไขมัน ตอนที่ 7 อาหารผิว ประโยชน์และวิธีใช้ในสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process ตอนที่ 8 สีสันจากธรรมชาติ ในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process ตอนที่ 9 การใส่กลิ่นในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process