chauvet cave

การอพยพย้ายถิ่นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่ (Modern Human: Homo sapiens)

จากจุดกำเนิดที่แอฟริกาเมื่อกว่าแสนปีที่แล้ว มนุษย์ยุคใหม่ได้เริ่มออกเดินทาง ค้นหา ครอบครอง วิวัฒนาการ จนมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การหาอาหาร การป้องกันตัว การปรับตัว การอยู่เป็นกลุ่ม ซึ่งไม่มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ไหนสู้ได้ 

แอฟริกาจุดกำเนิดของบรรพบุรุษมนุษย์ยุคใหม่

ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 20 มีสมมุติฐานของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยใหม่ (หมายถึงเฉพาะสายพันธ์ Homo sapiens ที่วิวัฒนาการต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบันส่วนสายพันธุ์อื่นๆได้สูญพันธุ์ไปหมดสิ้นแล้ว) อยู่สองอย่างคือ หนึ่งเชื่อว่าจากหลักฐานการพบซากฟอสซิลของมนุษย์กระจัดกระจายไปทั่วโลก ทำให้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์เกิดการวิวัฒนาการในหลายๆจุดทั่วโลก และสมมุติฐานที่สองก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่ามนุษย์สมัยใหม่ที่มีอยู่ทั่วโลกนี้ล้วนแต่มีต้นบรรพบุรุษและวิวัฒนาการมาจากทวีปแอฟริกาทั้งสิ้น แล้วจึงทำการย้ายถิ่นไปตั้งรกรากยังถิ่นฐานต่างๆทั่วโลกและวิวัฒนาการสืบต่อไป

เมื่อมีการพัฒนาของเทคโนโลยีด้าน DNA สูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็ใช้เทคโนโลยีด้าน DNAในการพิสูจน์และลบล้างความเชื่อที่ว่ามนุษย์ยุคใหม่เกิดและวิวัฒนาการในหลายๆจุดทั่วโลกให้เหลือเพียงความเชื่อเดียวและสามารถลดข้อโต้แย้งของอีกทฤษฎีหนึ่งลงได้จนกว่าจะมีหลักฐานใหม่มายืนยันเพิ่มเติม โดยได้ทำการวิเคราะห์ Mitochondrial DNA ของมนุษย์ปัจจุบันเพื่อตามรอยกลับไปยังต้นตอบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคใหม่ในอดีต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถตามรอยย้อนกลับไปหาเจ้าของ Mitochondrial DNA ซึ่งเป็นผู้หญิงที่อยู่ในทวีปแอฟริกาเมื่อ 200,000 ปีก่อน และนักวิทยาศาสตร์เรียกเธอว่า อีฟ ซึ่งมันไม่ใช่ชื่อจริงของเธอหรอก

จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางโบราณคดี ซากฟอสซิล เครื่องมือ เครื่องใช้ ผสมผสานกับการนำใช้เทคโนโลยีทั้งทางด้าน DNA และการ Dating หาอายุ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษา และประมวลผลการวิวัฒนาการของบรรพบุรุษของเราได้แม่นยำขึ้น

ในปี 2003 ที่หมู่บ้าน Herto ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเอธิโอเปีย ในทวีปแอฟริกาตะวันออก ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ได้ค้นพบกะโหลกศีรษะของมนุษย์ยุคใหม่ 3 กะโหลกซึ่งเป็นของผู้ใหญ่ 2 คนกับเด็กอีก 1 คน แต่ไม่พบชิ้นส่วนอื่นของร่างกาย จากผลการหาอายุด้วยวิธี Dating พบว่ามีอายุอยู่ในช่วงราว 154,000 – 160,000 ปีนับว่าเป็นซากฟอสซิลของมนุษย์ยุคใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ได้ค้นพบมา

herto_skull
กระโหลกศรีษะมนุษย์ยุคใหม่ ค้นพบที่หมู่บ้าน Herto ในเอธิโอเปีย อายุประมาณ 160,000 ปี
Ethiopia Landscape
ภาพภูมิประเทศของประเทศเอธิโอเปีย ทางตอนเหนือ ภาพโดยmariusz kluzniak

และในถ้ำแห่งหนึ่งที่ Pinnacle point ในประเทศแอฟริกาใต้ ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยอริโซนา สหรัฐอเมริกา ค้นพบหลักฐานการอาศัยอยู่ ดำรงชีพ และวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคใหม่ว่าเมื่อ 164,000 ปีมาแล้วมนุษย์ยุคใหม่ได้วิวัฒนาการและเรียนรู้วิธีหาอาหารจากทะเล และรู้จักการใช้สีแล้วและมันเป็นสีแดง

การเดินทางออกนอกทวีปแอฟริกาครั้งแรกของมนุษย์ยุคใหม่

ในปี 1933 ที่ประเทศอิสราเอลในถ้ำ Qafzeh และ Skhul โครงกระดูกของมนุษย์ยุคใหม่ได้ถูกค้นพบ และปัจจุบันได้ทำการ Dating หาอายุ พบว่ามีอายุราว 90,000-100,000 ปี นับเป็นซากฟอสซิลของมนุษย์ยุคใหม่ที่เก่าที่สุดที่พบอยู่นอกทวีปแอฟริกา ในบริเวณภูมิภาคนี้ยังได้พบซากฟอสซิลของมนุษย์ยุคนีแอนเดอร์ทัล (Homo Neanderthalensis) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกให้อยู่คนสายพันธุ์กับมนุษย์ยุคใหม่ (Homo sapiens) และจากการ dating หาอายุพบว่าอยู่ระหว่าง 48,000 – 61,000 ปีและมนุษย์สายพันธุ์นี้ก็สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว ในบริเวณที่แห่งนี้นักวิทยาศาสตร์ไม่พบว่ามนุษย์ยุคใหม่ได้มีการสร้างรกราก ขยายดินแดน และวิวัฒนาการต่อไปแต่กลับหยุดอยู่กับที่ มีแต่มนุษย์ยุคนีแอนเดอร์ทัลครอบครองอยู่ ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเมื่อมนุษย์ยุคใหม่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่นี่และก็เกิดตายไปอันเนื่องมาจากเหตุใดๆก็ตาม อาจเป็นเพราะภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรืออาจถูกฆ่าตายหมดด้วยมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

Skhul_Cave
ถ้ำ Skhul ในอิสราเอล มีหลักฐานโครงกระดูกของมนุษย์ยุคใหม่อายุประมาณ 100,000 ปี เก่าแก่ที่สุดที่พบนอกแอฟริกา

ย้อนกลับมาที่ทวีปแอฟริกาในบริเวณแถบตะวันออกของทวีป นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถค้นพบหลักฐานการวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคใหม่ มีการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้จากหินและมีการสร้างที่ประณีตและซับซ้อนขึ้น มีการใช้เครื่องซัด เช่นหอก มีความสามารถในการหาอาหารจากทะเล มีการเลือกใช้สี มีความสามารถในการล่าเป็นกลุ่ม และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันเกิดขึ้นแล้ว ณ ช่วงเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถ Dating หาอายุของช่วงเวลานั้นได้คือ 75,000 – 55,000 ปี การวิวัฒนาการทั้งทางด้านเทคโนโลยี และอาหารส่งเสริมให้มนุษย์ยุคใหม่เรียนรู้ที่จะเดินทางและออกค้นหาไปยังส่วนต่างๆของโลก ทำไมมนุษย์ยุคใหม่ถึงเริ่มออกเดินทางค้นหา จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ด้าน DNA พบว่าในช่วงก่อนที่จะเริ่มมีการอพยพเคลื่อนย้ายออกจากแอฟริกา บริเวณแหล่งที่อยู่ของเหล่ามนุษย์ยุคใหม่ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเราทุกคนบนโลกนี้เกิดการแห้งแล้งขนาดใหญ่ซึ่งถึงขนาดส่งผลไปยัง DNA เลยทีเดียว มนุษย์ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นได้พยายามแยกตัวกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆเพื่อการเอาตัวรอด นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินว่าในช่วงนั้นมนุษย์เกือบจะสูญพันธุ์เลยทีเดียว และหลังจากสภาวะอากาศคืนกลับมาสู่ความปกติมนุษย์ยุคใหม่ที่เหลือรอดก็รวมตัวกันใหม่อีกครั้ง

 

เริ่มเดินทางสู่เอเชียเมื่อ 80,000 ปีที่แล้ว อินเดีย จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย

 

การเดินทางย้ายถิ่นของมนุษย์ยุคใหม่จริงๆเริ่มที่ไหนเมื่อไรนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ปักใจเชื่อนักว่าเมื่อไรที่ไหน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดมนุษย์ยุคใหม่ได้มีการเคลื่อนย้ายอพยพแน่นอน มีการสันนิษฐานเอาไว้ว่าเมื่อ 80, 000ปีมาแล้วหรืออาจนานกว่านั้น มนุษย์ยุคใหม่โดยมากเริ่มออกเดินทางจากคาบสมุทรไซไน (Sinai Peninsula) และบางส่วนข้ามช่องแคบทางปลายสุดของทะเลแดงที่ประเทศจีบูตี ซึ่งสันนิษฐานว่าในช่วงยุคน้ำแข็งเวลานั้นน้ำทะเลลดลงจนเกิดแผ่นดินโผล่ขึ้นมาเชื่อมต่อทวีปแอฟริกากับคาบสมุทรอาระเบีย นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่ออีกว่าการเดินทางย้ายถิ่นของมนุษย์ยุคใหม่นี้จะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพภูมิประเทศที่ไม่คุ้นชิน สภาพภูมิอากาศที่แตกต่าง ดังนั้นมนุษย์ยุคใหม่กลุ่มนี้น่าจะเดินทางลัดเลาะริมขอบชายฝั่งทะเลลงไปทางใต้ไปตามมหาสมุทรอินเดียเพราะว่าภูมิประเทศและอากาศไม่เปลี่ยนแปลงจากถิ่นเดิมและยังคงหาอาหารได้ง่าย อย่าลืมว่ามนุษย์ยุคใหม่เหล่านี้มีความสามารถในการหาอาหารจากทะเลแล้ว

ที่เมือง Jwalapuram อำเภอ Kurnool รัฐอันธราประเทศ อินเดีย ริมฝั่งแม่น้ำ Jurreru นักวิทยาศาสตร์ได้คนพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคใหม่ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับหลักฐานที่พบในทวีปแอฟริกา คือเครื่องมือ เครื่องใช้ของมนุษย์ยุคใหม่ถูกทับถมด้วยตะกอนของแม่น้ำหนาประมาณ 7.5 เมตร ถึงแม้ที่นี่จะไม่พบซากฟอสซิลของมนุษย์ยุคใหม่แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อมั่นในหลักฐานที่ค้นพบว่าบรรพบุรุษของเราได้อพยพมาที่นี่จริง จากหลุมสำรวจพบว่ามีชั้นของเถ้าภูเขาไฟบางๆ จากการ Dating หาอายุพบว่ามีอายุราว 74,000 ปีซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของภูเขาไฟ Toba ที่อินโดนีเซียระเบิดพอดี จากการลำดับชั้นดินที่อยู่ของหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบว่ามนุษย์ยุคใหม่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทั้งก่อนและหลังภูเขาไฟระเบิด และเป็นที่แน่ชัดว่าไม่น้อยกว่า 74,000 ปีแน่นอนที่บรรพบุรุษของเราอพยพมาจากแอฟริกามายังเอเชีย  หลังจากมาถึงยังเอเชียแล้วมนุษย์ยุคใหม่ยังคงวิวัฒนาการต่อเนื่องขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ จากหลักฐานทางโบราณคดีนักวิทยาศาสตร์พบว่าบรรพบุรุษของเราได้บุกเบิกเส้นทางสองเส้นคือทาง

Jwalapuram_site
หลุุมสำรวจทางโบราณคดีที่เมือง Jwalapuram รัฐอันทราประเทศ อินเดีย
India_Jwapuram
ภาพชั้นเถ้าภูเขาไฟ Toba (ชั้นสีขาว)จากหลุมสำรวจใน Jwalapuram อินเดีย ภาพโดย sanjaypk

กลุ่มแรกเดินทางไปทางด้านใต้ เลียบเลาะชายฝั่งลงไปทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังได้พบหลักฐานฟอสซิลที่ประเทศลาว เกาะชวา อินโดนีเซีย จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้ามไปยังโอเชียเนีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานฟอสซิลของมนุษย์ยุคใหม่ทั้งในเกาะนิวกินี และประเทศออสเตรเลีย จากการ Dating พบว่ามนุษย์ยุคใหม่ได้มาถึงและตั้งหลักปักฐานที่ออสเตรเลียเมื่อก่อน 55,000 ปี ข้อมูลจากแหล่ง Malakunanja II ใน Northern Territory และที่ Lake Mungo รัฐ New South Wales  ประเทศออสเตรเลีย นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าในช่วงเวลาอยู่ในยุคน้ำแข็งเป็นไปได้ว่าน้ำทะเลจะลดลงจนทำให้ช่องว่างระหว่างแผ่นดินไม่ห่างกันมากนักอยู่ในวิสัยที่มนุษย์สมัยนั้นจะสามารถค้นหาวิธีได้สันนิษฐานว่าคงใช้วิธีต่อแพไม้ไผ่ข้ามไปเพราะว่าไม้ไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Lake Mungo NSW
ภูมิประเทศ Lake Mungo New South Wales ออสเตรเลีย บริเวณที่พบร่องรอยของมนุษย์ยุคใหม่ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ภาพโดยnullawar

 

กลุ่มหลังนี้มนุษย์ยุคใหม่ยังคงค้นหาขยายอาณาเขตการหากินออกไปทางเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก ที่ถ้ำเทียนหยวน ใกล้ๆกับกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2003 ซากฟอสซิลของมนุษย์ยุคใหม่ได้ถูกค้นพบ และจากการ Dating หาอายุพบว่ามีอายุในช่วงระหว่าง 38,500 – 40,200 ปี

tianyuan cave
การขุดพบโครงกระดูกที่ถ้ำเทียนหยวน ใกล้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ภาพโดย www.mpg.de

จากเอเชียสู่โลกใหม่ทวีปอเมริกาทางช่องแคบแบริ่ง กว่า 14,600 ปีมาแล้ว

การเดินทางค้นพบโลกใหม่ทวีปอเมริกาของมนุษย์ยุคใหม่นักวิทยาศาสตร์ยังคงเสนอแนวคิดหลากหลายทฤษฎี แต่ดูเหมือนว่าแนวคิด Bering Land Bridge จะได้รับความสนใจมากกว่า กล่าวคือจากเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกมนุษย์ยุคใหม่ได้ออกเดินทางไปทวีปอเมริกาโดยผ่านทางช่องแคบแบริ่ง นักวิทยาศาสตร์พยามหาหลักฐานหลายอย่างมาพิสูจน์ทฤษฎีนี้ บ้างว่ามนุษย์ยุคใหม่ได้มาหยุดรอและอาศัยที่ไซบีเรียประมาณถึง 10,000 ปีก่อนที่จะข้ามช่องแคบนี้ไปยัง อลาสกา ทวีปอเมริกาเหนือหลังจากสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง อย่างไรก็ตามไม่ว่าบรรพบุรุษของเราจะข้ามไปอเมริกาทางไหนแต่ไปถึงแท้แน่นอน หลักฐานที่เป็นซากฟอสซิลของมนุษย์ยุคใหม่ที่ถูกค้นพบที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือนั้นถูกค้นพบที่ Arlington spring บนเกาะ Santa Rosa แคลิฟอร์เนีย  สหรัฐอเมริกาโดย Phil C. Orr และฟอสซิลที่พบเป็นกระดูกของผู้หญิง จากการ dating หาอายุพบว่ามีอายุราวๆ 13,000 ปี การเดินทางของมนุษย์ยุคใหม่นี้ยังไมจบที่อเมริกาเหนือแค่นั้นยังมีหลักฐานการค้นพบซากฟอสซิลของมนุษย์ยุคใหม่ที่ประเทศชิลีอีก ในปี 1970 Tom Dillehay นักโบราณคดี มหาวิทยาลัย Vanderbilt ได้ทำการ Dating หาอายุพบว่ามีอายุอยู่ประมาณ 14,600 ปี แก่กว่าผู้หญิงที่ Arlington spring เสียอีก

santa rosa Island
Santa rosa Island แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สถานที่พบมนุษย์ยุคใหม่ อายุประมาณ 13,000 ปี ภาพโดย akasped (ในภาพไม่ใช่บริเวณจุดที่่พบ)

 

เข้ายึดครองทวีปยุโรปผ่านทางเอเชียเมื่อ 50,000 ปีที่แล้ว

ย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้นหลังจากมนุษย์ยุคใหม่เริ่มเคลื่อนย้ายออกจากแอฟริกาครั้งแรกเมื่อ 90,000 ถึง 100,000 ปีที่แล้ว และมาหยุดอยู่ที่อิสราเอลซึ่งไม่พบหลักฐานการวิวัฒนาการต่อเนื่องไป หลังจากนั้นอีกประมาณ 10,000 ปีมนุษย์ยุคใหม่จากแอฟริกาก็เริ่มอพยพเข้าสู่ทวีปเอเชียผ่านมาทางคาบสมุทรอาระเบียน แต่ในช่วงเวลานี้นักวิทยาศาสตร์ไม่พบหลักฐานว่ามีการเคลื่อนย้ายอพยพไปสู่ทวีปยุโรป นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสาเหตุที่มนุษย์ยุคใหม่รีรอที่จะเดินทางสำรวจขึ้นเหนือไปทางยุโรปอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมในขณะนั้นเป็นหลัก ในช่วง 65,000-55,000ปี โลกของเราตกอยู่ในยุคน้ำแข็ง ซึ่งทั่วทั้งยุโรปปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ในช่วงเวลานั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่มนุษย์ยุคใหม่จะอพยพขึ้นทางเหนือไปทางทวีปยุโรปซึ่งมีสภาวะเป็นน้ำแข็งและก็ไม่มีอาหาร อีกทั้งยังเป็นถิ่นยึดครองของพวก Homo Neanderthalensis ซึ่งแข็งแรงทนทานกว่าแถมยังฉลาดพอๆกับมนุษย์ยุคใหม่ แต่หลังจากยุคน้ำแข็งสิ้นสุดลง นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานการปรากฏตัวครั้งแรกของมนุษย์ยุคใหม่เมื่อ 50,000 ปีที่แล้วที่บัลกาเรีย สันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคใหม่ได้ออกเดินทางมาจากคาบสมุทรอารเบียขึ้นเหนือไปตามแถบแม่น้ำไทกรีส และยูเฟรตีส เข้าสู่ตุรกี ตามแม่น้ำดานูบสู่ฮังการี จากนั้นเดินทางต่อไปทางตะวันตกไปยังออสเตรีย  จากออสเตรียมุ่งลงใต้เข้าสู่อิตาลีตอนเหนือ แล้วเลาะชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปสุดที่โปรตุเกสซึ่งเป็นชายฝั่งแอตแลนติกเมื่อ 38,000ปีทีแล้ว และในปี 1994 ได้มีการค้นพบภาพวาดศิลปะบนผนังถ้ำของมนุษย์ยุคใหม่ อายุราว 36,000 ปีที่ Chayvet Cave ทางตอนใต้ฝรั่งเศส ต่อมาประมาณเมื่อ 33,000 ปีที่ผ่านมา จากเอเชียมนุษย์ยุคใหม่เดินทางเข้าสู่ยุโรปตะวันออก และมีการตั้งรกรากกันอยู่ทางตอนเหนือของทะเลดำบริเวณประเทศยูเครน มนุษย์กลุ่มนี้ได้เดินทางสำรวจไปยังยุโรปตอนกลางและทางตอนเหนือ ต่อมาเมื่อ 18,000 ปีที่แล้วช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย (LGM : The Last Glacial Maximum) ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำแข็งปกคลุมไปทั่วทั้งยุโรปทั้งตอนเหนือเรื่อยลงมาจนถึงตอนกลางทำให้มนุษย์ยุคใหม่คงเหลือรวมตัวกันอยู่เฉพาะแถบตอนใต้ของยุโรป นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาพบว่ามีการรวมกลุ่มอยู่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่อยู่ในฝรั่งเศสและสเปน กลุ่มที่คาบสมุทรบอลข่าน และกลุ่มที่อยู่ในประเทศยูเครน หลังจากสิ้นยุคน้ำแข็งมนุษย์ยุคใหม่ก็ยังคงปกหลักและวิวัฒนาการต่อไปในยุโรป และมนุษย์ 3 กลุ่มนี้เองเป็นบรรพบุรุษของชาวยุโรปในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อ 8,200 ปีมนุษย์ยุคใหม่ที่อยู่แถบทางตะวันออกกลางได้วิวัฒนาการจนมีความสามารถในทางเกษตรกรรม และได้นำเอาเทคโนโลยีนี้เข้าไปสู่ยุโรปในเวลาต่อมา

chauvet cave
ภาพวาดบนผนังถ้ำของมนุษย์ยุคใหม่ที่ Chauvet Cave ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส อายุประมาณ 36,000 ปี ภาพโดย theadventurouseye

 

จากจุดกำเนิดที่แอฟริกาเมื่อกว่าแสนปีที่แล้ว ที่มนุษย์ยุคใหม่ได้เริ่มออกเดินทาง ค้นหา ครอบครอง วิวัฒนาการ จนมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ การหาอาหาร การป้องกันตัว การปรับตัว การอยู่เป็นกลุ่ม ซึ่งไม่มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ไหนสู้ได้ จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถครอบครองโลกใบนี้ และอ้างสิทธิ์ในการเป็นสายพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่เพื่อเอาเปรียบสัตว์ในสายพันธ์ุอื่นทุกเรื่องราว การวิวัฒนาการและการอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์สายพันธุ์นี้ยังคงไม่สิ้นสุดง่ายๆ ยังคงออกเดินทางหาสิ่งใหม่ๆต่อไปซึ่งไม่เคยเพียงพอ ไม่เคยหยุดนิ่ง และสุดท้ายพวกมนุษย์สายพันธุ์อาจทำลายล้างกันเองเพื่อเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอย่างรุนแรงและสูญพันธุ์ในที่สุด เมื่อนั้นจะมีสัตว์ในสายพันธุ์อื่นที่ปรับตัวได้ดีกว่าครอบครองโลกไว้แทนที่

[google_map_easy id=”6″]

1 thought on “การอพยพย้ายถิ่นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่ (Modern Human: Homo sapiens)”

  1. เขียนเรื่องราวน่าติดตามมากเลยค่ะ คำบรรยายเข้าใจง่าย ชอบตรงมีแผนที่ให้ดู ทำให้เข้าใจเรื่องราวการอพยพได้ดีขึ้น

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.