เราเขียนเรื่องการทำสบู่ Cold Process มาถึงตอนนี้เป็นตอนที่ 9 แล้ว และตอนนี้ตั้งใจว่าจะพูดเกี่ยวกับเรื่อง การใส่กลิ่นในสบู่แฮนด์เมด และเรามีสูตรการผสมกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย (Essential Oils Blended) มาแจกด้วยเล็กน้อย กลิ่นที่ใส่ในสบู่ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดนี้โดยส่วนมาก หลายๆมากเลยจะเป็นกลิ่นสังเคราะห์ การใส่กลิ่นหอมลงไปในสบู่แบบ Cold Process นี้เราจะใส่เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะเทสบู่ลงในโมลด์ สบู่ธรรมชาติแบบ Cold Process ของเรานอกจากจะเป็นสบู่ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์จากน้ำมัน และสารบำรุงผิว ซึ่งจะทำให้ผิวชุ่มชื้น เรียบเนียน นุ่มนวล แล้ว การผสมผสานกลิ่นหอมต่างๆของน้ำมันหอมระเหยที่ใส่ลงในสบู่ก็ยังช่วยให้สบู่มีคุณประโยชน์เพิ่มไปอีก น้ำมันหอมระเหยบางชนิดยังช่วยให้ผ่อนคลายและบำบัดความเครียดได้อีกด้วย
น้ำมันหอมระเหย Essential Oils แท้ 100 เปอร์เซ็นต์
เราคุ้นเคยกับคำว่ามีการบำบัดด้วยกลิ่น (Aromatherapy) มาประมาณ 10-20 ปีหลังมานี้เอง แต่จริงๆแล้วมีการค้นพบการใช้น้ำมันหอมระเหยในการบำบัดและรักษาโรคมากว่า 5,000 ปีมาแล้ว และน้ำมันหอมระเหยส่วนมากจะมาจากพืชมีเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้นที่มาจากสัตว์ เท่าที่ทราบก็คือ กลิ่นจากชะมด กลิ่นมูสจากกวางมูส และกลิ่นจากคัดหลั่งของปลาวาฬ แต่เราไม่แนะนำให้ใช้กลิ่นอะไรจากสัตว์นะ เดี๋ยวจะเป็นการส่งเสริมการฆ่าสัตว์ สบู่ที่เราทำก็ไม่ส่วนใดเป็นส่วนผสมจากสัตว์เลย เล่าสู่ฟังเฉยๆว่ามีการนำกลิ่นจากสัตว์มาทำเป็นน้ำมันหอมระเหย น้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในพืชจะทำหน้าที่ต่อต้านโรค กำจัดแมลงที่เป็นศัตรู และดึงดูดแมลงที่เป็นประโยชน์ในการช่วยผสมพันธุ์
น้ำมันหอมระเหย จะมีลักษณะไม่เหมือนกับน้ำมันที่เราต้องการกรดไขมันไปทำสบู่ แต่น้ำมันหอมระเหยนี้จะมีลักษณะคล้ายน้ำมากกว่าน้ำมัน จะสามารถระเหยได้ง่ายเมื่อสำผัสอากาศ เราสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆของพืช เช่น ใบ ผล ดอก กลีบดอก เปลือก ลำต้น ราก เป็นต้น และมีวิธีการสกัดออกมาหลายวิธี เช่น สกัดด้วยการกลั่น สกัดด้วยวิธีการบีดอัด สกัดด้วยสารละลาย สกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นต้น แต่ละวิธีล้วนใช้ปริมาณส่วนต่างๆของพืชจำนวนมาก ดังนั้นน้ำมันหอมระเหยแท้ๆจึงมีราคาแพง ผู้ผลิตสบู่โดยมากมักไม่ใช้น้ำมันหอมระเหยแบบแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เห็นหอมๆแบบทะลุแพคเกจ และติดตัวไปตลบอบอวลนั่นล้วนเป็นกลิ่นสังเคราะห์แทบทั้งสิ้น
กลิ่นสังเคราะห์
เนื่องจากการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชจะต้องใช้พืชเป็นจำนวนมหาศาลทำให้น้ำมันหอมระเหยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์มีราคาแพง ต่อมาจึงมีการสร้างกลิ่นเลียนแบบน้ำมันหอมระเหยทุกชนิด ซึ่งส่วนมากมักจะมีส่วนผสมของ Dipropylene Glycol ซึ่งทำให้มีปัญหากับสบู่ Cold Process เมื่อเราผสมไปในสบู่แล้วมันจะเกิดการจับตัวเป็นก้อน และบางชนิดทำให้เกิดอาการเทรซอย่างรวดเร็ว เอวังเลยอย่างนั้น จึงต้องทดสอบดูว่าอะไรใช้ได้ไม่ได้ เราเลยตัดสินใจไม่ใช้ บางตัวก็ผสมแอลกอฮอร์ ซึ่งทำให้เกิดระคายเคืองได้ในกรณีที่แพ้ อย่างไรก็ตามนักทำสบู่ส่วนมากก็ยังนิยมใช้อันเนื่องมาจากราคาถูก เก็บรักษาได้นาน แม้ว่ากลิ่นหรือน้ำมันหอมสังเคราะห์จะทำมาได้ใกล้เคียงกับน้ำมันหอมละเหยจากธรรมชาติเพียงใด และราคาถูกปานใด แต่คุณสมบัติที่มีไม่เหมือนกับน้ำมันหอมระเหยแท้จากธรรมชาติแน่ๆก็คือ น้ำมันหอมที่ทำมาจากสารสังเคราะห์จะไม่มีคุณสมบัติในการเยียวยา เช่นการทำให้ผิวนุ่มนวล อ่อนโยน การเยียวยาผิวจากการบอบช้ำ และเสียหาย อย่างไรก็ตามเราใช้กลิ่นที่ทำมาจากสารสังเคราะห์ มันจะทำให้สบู่ของเราที่คัดเลือกสรรสุดยอดน้ำมันบำรุงผิว และบรรจงคำนวณคุณสมบัติมาอย่างดี ทั้งฟองอ่อนนุ่ม ด้อยค่าลงไป
การเก็บรักษาและการใช้น้ำมันหอมระเหยแท้จากธรรมชาติในสบู่ Cold Process
น้ำมันหอมระเหย หรือ Essential Oil ไม่เหมือนน้ำมันที่เราใช้ทำสบู่ทั่วๆไปอันเนื่องมาจากคุณสมบัติของมันที่สามารถระเหยได้ง่ายเมื่อสัมผัสอากาศ และเมื่อถูกความร้อนและแสง ดังน้นการเก็บน้ำมันหอมระเหยจึงต้องพิเศษออกไป คือเราต้องเก็บไว้ในขวดหรือภาชนะทึบแสง เช่นขวดสีชา และต้องทำการปิดฝาขวดให้แน่น ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิไม่สูงคือควรต่ำกว่า 35 องศาเซนเซียส และไม่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ถ้าเราเก็บไว้ดีๆน้ำมันหอมระเหยพวกนี้จะอยู่ได้นานถึง 6 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเราเก็บไว้ในตู้เย็นก็สามารถยืดอายุได้นานไปอีก เราเคยเก็บน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มไว้นานถึง 2 ปีก็ยังสามารถใช้ได้มีกลิ่นหอมเหมือนเดิม ใครเก็บไว้ในตู้เย็นก่อนนำมาใช้ควรปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในอุณหภูมิห้องเสียก่อน
- เราควรจะใส่น้ำมันหอมระเหยเท่าไรในการทำสบู่
การใส่กลิ่นในสบู่แฮนด์เมด เราจะใส่เท่าไรดี เป็นคำถามที่เกิดกับคนทำสบู่ใหม่ๆทุกคน เท่าไรจึงพอดี ไม่มีคำตอบตายตัว เริ่มแรกๆเราก็ทดสอบ ทดลองก่อนนะ เราเองทำสบู่ประมาณ 5 กิโลกรัมตอนแรกใส่ไป 2-3 หยด ปรากฎว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราตัดสบู่มาแทบจะไม่ได้กลิ่นเลย ตอนหลังเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาพอใจอยู่ที่ช่วงประมาณ 1-3 % ของน้ำมันที่ทำสบู่ แต่สบู่ของเราจะใส่แค่ประมาณ 1-2 % เท่านั้น นี่เราหมายถึงใส่น้ำมันหอมระเหย (EO) ชนิด 100% อย่างไรก็ตามถ้าเราต้องการจะใส่น้ำมันหอมระเหยในปริมาณมาก สิ่งที่ควรคำนึงก็คือน้ำมันหอมระเหยพวกนี้เราจะใส่หลังจากผ่านกระบวนการ Saponification ไปแล้วดังนั้นน้ำมันส่วนนี้คือน้ำมันส่วนเกิน ถ้ามากเกินไปก็มีผลต่อคุณภาพสบู่ได้ กล่าวคือถ้าสูตรของเราใช้แบบค่า Superfat ที่สูงมาก น้ำมันส่วนนี้ก็จะถูกรวมเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งน้ำมันส่วนนี้จะแยกตัวออกมาจากเนื้อสบู่ ถ้ามากเกินไปเราก็จะสังเกตุเห็นได้ตอนที่เราเปิดสบู่ออกมาหลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่มีน้ำมันมากเกินไปเท่านั้นการมีน้ำมันมากเกินไปอาจไปรบกวนปฏิกิริยาซึ่งจะเกิดต่อมาในขณะที่เราทำการบ่มสบู่ ซึ่งทำให้มีค่า P้H ที่ต่ำลง ทำให้สบู่เนื้อไม่สม่ำเสมอ และอาจจะทำให้สบู่ไม่แข็งตัวในที่สุด
การผสมผสานกลิ่น
การใส่กลิ่นในสบู่แฮนด์เมด เราสามารถใส่กลิ่นโดดๆของน้ำมันหอมระเหยลงไปได้เลย เช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นมะลิ กลิ่นมะกรูด เป็นต้น ซึ่งขึ้นกับความชอบ อย่างไรก็ตามถ้าเราต้องการให้สบู่ที่เราบรรจงผลิตขึ้นมาด้วยความพิถีพิถันให้มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เราก็สามารถผสมผสานน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์กลิ่นเฉพาะของเราขึ้นมาเอง แต่เราจะทำอย่างนั้นได้เราต้องรู้จักคุณสมบัติในการส่งกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยในแต่ละชนิดเพื่อที่เราจะสร้างกลิ่นเฉพาะของเราเอง การผสมผสานกลิ่นมันศิลปะแขนงหนึ่ง บางคนเปรียบเทียบคล้ายกับการบรรเลงดนตรี ที่มีการผสมเอาเสียงต่างๆเข้าด้วยกัน เช่นเสียงกลอง เสียงเครื่องเปา เครื่องสี เมื่อนำมาผสมผสานกันอย่างถูกส่วนก็จะได้เสียงอันไพเราะ กลิ่นหอมก็เช่นกัน เราสามารถแบ่งกลิ่นออกเป็น 3 โน๊ตกว้างๆดังนี้ (Aroma accords notes)
- Base Note เป็นกลิ่นที่สำคัญที่สุดและจะส่งกลิ่นออกเป็นตัวสุดท้าย และส่งกลิ่นติดอยู่นานที่สุดพวกนี้จะเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีมวลโมเลกุลหนักสุด เช่น น้ำมันมันหอมระเหยในกลุ่ม Woods และ Musks เป็นต้น
- MIddle Note หรือ Heart Note กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยกลุ่มนี้จะส่งกลิ่นถัดมาจากกลุ่ม Top Note เนื่องจากมีมวลโมเลกุลอยู่ในช่วงกลางๆ กลุ่มนี้จะได้แก่ ตระกูล Floral, Fruit, Spice และ Green เป็นต้น
- Top Note หรือ Head Note จะเป็นกลิ่นหอมกลิ่นแรกที่เราได้สัมผัส และจะหายไปอย่างรวดเร็ว มันเป็นกลิ่นที่ส่งมาเพื่อความประทับใจในครั้งแรกพบ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีมวลโมเลกุลต่ำทำให้ฟุ้งกระจายได้ง่าย และระเหยออกไปได้เร็ว น้ำมันหอมระเหยในกลุ่มนี้ได้แก่ พวก Citrus, Bergamot และ Lavender เป็นต้น
น้ำมันหอมระเหยในกลุ่มต่างๆ
- Woody ได้แก่ Sandalwood, Cedar, Patchouli, Rosewood และ Juniper Berry
- Evergreen ส่วนมากเป็นพวกสน ได้แก่ Swiss Pine, Mountain Pine, Ocean Pine และ Stone Pine
- Green ได้แก่ Basil, Cucumber, Violet และ Mimosa
- floral พวกดอกไม้นานาชนิด เช่น Carnation, Gardenia, Honeysuckle, Lavender, Mimosa, Ylang-Ylang, Hyacinth,Chamomile, Lilac, Jasmine, Rose, Muguet,Geranium, Apple Blossom, Lily, Iris และ Jonquil เป็นต้น
- Herbal กลุ่มสมุนไพร ได้แก่ Rosemary, Marjoram, Dill, Tarragon, Coriander, Juniper Berry, Fennel, Caraway Seed และ Clary Sage เป็นต้น
- Fruity กลุ่มผลไม้ เช่น Apple, Peach, Strawberry, Apricot, Black Currant และ Cherry เป็นต้น
- Citrus หรือ พวกตระกูลส้ม เช่น Lemon, Orange, Tangerine, Bergamot, Grapefruit, Lime, Verbena และ Petitgrain เป็นต้น
เครื่องมือที่จำเป็นในการใช้ทำสบู่หาซื้อได้จาก LAZADA

แจกสูตรการผสมกลิ่นต่างๆด้วยน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ ฟรี 5 สูตร
สูตรที่จะแจกนี้ไม่ใช่สูตรของเราเองนะ เราอ่านมาจากหนังสือของฝรั่ง และเราหัดทำแต่ก็ยังขาดน้ำมันหอมระเหยอีกหลายๆตัวที่หาไม่ได้ ที่เอาสูตรมาแจกกันเผื่อนักทำสบู่ท่านใดจะมีแหล่งซื้อน้ำมันหอมระเหยที่ราคายุติธรรม ไม่ต้องถูกนะเพราะเรารู้ว่าของพวกนี้ราคาแพง จะได้ทดลองทำต่อยอดไปเป็นกลิ่นหอมสบู่ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองได้ ทดลองดูนะคะ นี่เป็นสูตรที่ใช้ได้กับสบู่ประมาณ 1 กิโลกรัมถ้าน้อยกว่านั้นก็ลดหรือเพิ่มสัดส่วนได้ตามสะดวก
- กลิ่น Citrus
- lemon 9 ช้อนชา
- Bergamot 5 ช้อนชา
- Lemongrass 2 ช้อนชา
- Clove 2 ช้อนชา
- กลิ่น Sweet Earth
- Lavender 9 ช้อนชา
- Pachouli 3 ช้อนชา
- Vanila 6 ช้อนชา
- กลิ่น Summer spice
- Rose 9 ช้อนชา
- Clove 5 ช้อนชา
- Peppermint 4 ช้อนชา
- กลิ่น Purple prose
- Lavender 12 ช้อนชา
- Rose 6 ช้อนชา
- กลิ่น Clean Slate
- Sandalwood 6 ช้อนชา
- Rose 6 ช้อนชา
- Ylang-Ylang 4 ช้อนชา
- Patchouli 2 ช้อนชา
ขอให้สนุกสนานกับการทำสบู่นะคะ เราขอจบเรื่องราวของสบู่ cold process ไว้ที่ 9 ตอนนะจ๊ะ ในเรื่องต่อๆไปจะมีอะไรโปรดติดตามกันได้ที่นี่
- link งานสบู่ทั้งหมด
ตอนที่ 1 พื้นฐานการทำสบู่แฮนด์เมด ตอนที่ 2 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบวิธี Melt and Pour, ตอนที่ 3 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process, ตอนที่ 4 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Hot Process, ตอนที่ 5 ปฏิกิริยาเคมี และคุณภาพของสบู่แฮนด์เมด, ตอนที่ 6 คุณสมบัติของน้ำมันและคุณลักษณะสบู่แฮนด์เมดที่ได้จากน้ำมันและไขมัน ตอนที่ 7 อาหารผิว ประโยชน์และวิธีใช้ในสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process ตอนที่ 8 สีสันจากธรรมชาติ ในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process
อยี่ยมมากครับ จะหาทางทดลองทำดูครับ