หลังจากที่เราได้นำเสนอวิธีการทำสบู่แบบแฮนด์เมดไป 2 วิธีแล้วคือ Melt and Pour และ Cold Process ในตอนที่ 2 และ 3 ตามลำดับ วิธีที่จะนำเสนอต่อไปนี้คือ Hot Process (HP Soap) ซึ่งเป็นวิธีที่มีขั้นตอนยุ่งยากขึ้นมาอีกเล็กน้อย เนื่องจากจะต้องใช้ความร้อนเข้ามาช่วยในเร่งกระบวนการ Saponification ให้เสร็จสมบูรณ์ด้วยระยะเวลาอันสั้น
ถึงแม้ขั้นตอนจะยุ่งยากและไม่สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะในสบู่ Hot Process ได้มากเท่าสบู่ Cold Process แต่เราสามารถย่นระยะเวลาได้เป็นเดือนเลยทีเดียว
ก่อนที่จะทำสบู่ด้วยวิธี Hot Process มีข้อคำนึงอยู่ 2-3 ประการคือ หนึ่ง คุณจะต้องมีเวลาเพราะว่าจะต้องดูเป็นช่วงๆในระหว่างทำการนึ่งสบู่ ประการที่สอง ลักษณะของสบู่ที่ได้มาจะไม่เรียบเนียนเหมือน Cold Prcess ประการสุดท้าย คุณไม่สามารถสร้างลวดลายศิลปะลงบนสบู่ได้อย่างอิสระซึ่งสบู่ที่ได้มาจะไม่มีลวดลายที่สวยงาม ถ้ายอมรับข้อกำหนดเช่นนี้ได้เราก็เริ่มลงมือกันเลย
จัดหาอุปกรณ์
- เครื่องผสมอาหารแบบมือถือ
- ชามขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับผสมอาหารให้ใช้เป็นสแตนเลส หรือ เซรามิค อย่าใช้พวกโลหะโดยเด็ดขาดเพราะจะมีปัญหากับโซดาไฟได้ และวัสดุที่ใช้ต้องทนความร้อนได้เพราะจะต้องมีการนึ่ง แต่ถ้ใครมีหม้อนึ่งก็สบายเลย
- ถ้วยตวง
- ตาชั่ง
- เตาแก๊ช หรือเตาไฟฟ้าก็ได้ ถ้ามีหม้อตุ๋นก็จะดีมาก ในกรณีไม่มีหม้อตุ๋นให้ใช้หม้อต้มน้ำแล้วเอาชามสบู่ไปตุ๋นในหม้อต้มน้ำก็ได้เช่นกัน
- เทอร์โมมิเตอร์
- พิมพ์สำหรับใส่สบู่ ใช้ได้ ทั้งไม้ พลาสติก ซิลิโคน
- อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ถุงมือยาง แว่นตาเซฟตี้

อุปกรณ์สำหรับทำสบู่แบบ Hot Process เบื้องต้นใช้แบบเดียวกับ Cold Process
ส่วนผสมและก็สูตร
คำนวณ lye กับน้ำ ด้วยใช้ lye calculator เราใช้จากเวปไซต์ Soapcal (มีลิ้งค์ในตอนที่ 3 การทำสบู่แบบ Cold Process) ซึ่งใช้สูตรเดียวกัน โดยมีเป้าหมายดังนี้ น้ำมันที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 500 กรัม ซึ่งมีสัดส่วนของน้ำมันต่างๆดังนี้ น้ำมันมะพร้าว 30% น้ำมันมะกอก 30% น้ำมันแอลมอนด์ 25% น้ำมันโจโจบา 5% น้ำมันระหุ่ง 5% เชียร์บัทเตอร์ 5% เพื่อความชุ่มชื้นของผิว และใช้ตัวเลข Super fat ที่ 5% จากการคำนวณจะได้ส่วนผสมดังนี้
- Lye (NaOH) 69.57 กรัม
- น้ำ 190 กรัม
- น้ำมันมะพร้าว 150 กรัม
- น้ำมันมะกอก 150 กรัม
- น้ำมันแอลมอนด์ 125 กรัม
- น้ำมัน Jojoba 25 กรัม
- น้ำมันระหุ่ง 25 กรัม
- Shea butter 25 กรัม
- สีสำหรับทำเครื่องสำอาง ตามความชอบ
- กลิ่น Neroli Essential Oil 31 กรัม (ดอกส้ม)
เครื่องมือที่จำเป็นในการใช้ทำสบู่หาซื้อได้จาก LAZADA

วิธีการทำ สบู่แฮนด์เมด Hot Process
- ขั้นตอนที่ 1 สวมถุงมือ ใส่แว่นตานิรภัย เท Lye ลงไปในน้ำที่เตรียมไว้คนให้ละลายเข้ากันจนหมดแล้วพักไว้ให้เย็น อย่าลืมนะให้ เท Lye ลงไปในน้ำ ห้ามเทน้ำลงไปใน lye
- ขั้นตอนที่ 2 เตรียมน้ำมันทั้งหมด ในกรณีนี้เราใส่ Shea butter ด้วยจำเป็นต้องอุ่นให้ละลายในน้ำมันให้หมด
- ขั้นตอนที่ 3 นำ lye + น้ำ ที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 มาเทใส่ในน้ำมันของขั้นตอนที่ 2
- ขั้นตอนที่ 4 นำที่ปั่นผสมอาหารชนิดมือถือมาปั่นส่วนผสมทั้งสองส่วนให้เข้ากันดี จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า Trace ซึ่งเป็นลักษณะที่ส่วนผสมของสบู่นี้เข้ากันได้ดีจนไม่จะกลับสภาพไปสู่สถานะเดิมอีกหมายถึงเป็นเนื้อเดียวกันสมบูรณ์ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายครีมข้นๆ เมื่อเรายกที่ผสมขึ้นมาและปล่อยให้ส่วนผสมที่ติดค้างบนไม้ผสมนั้นหยดลงไปในชามผสมมันจะแสดงร่องรอยนูนให้เห็นอยู่ และมันต้องไม่ได้จมหายไปในทันที ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Trace สรุปว่าผสมเข้ากันโดยสมบูรณ์
ซึ่งเราจะเห็นว่าขั้นตอนที่ 1 ถึง 4 เหมือน Cold Process ทุกประการ
- ขั้นตอนที่ 5 การนึ่ง ถ้าคุณใช้หม้อนึ่งไฟฟ้าให้ใช้ไฟ Low แต่ถ้าในกรณีไม่มีหม้อนึ่งไฟฟ้าให้ใช้หม้อต้มน้ำนึ่งแทนโดยต้องรักษาอุณหภูมิไว้ที่ประมาณ 76 องศาเซลเซียสโดยประมาณ ข้อควรระวัง การใส่สบู่ในหม้อนึ่งควรใส่เพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น เพราะว่าขณะทำการนึ่งสบู่จะเกิดฟองและขยายตัวมาเต็มจนหม้อ
- ขั้นตอนที่ 6 หลังจากนึ่งได้พักหนึ่งสบู่ในชามนึ่งจะเกิดการขยายตัว โดยเริ่มมีฟองอากาศที่รอบๆขอบก่อน และสบู่จะเริ่มพองตัวขึ้น จากนั้นให้ค่อยๆคนสบู่ ไปเรื่อยๆ และสบู่จะยุบลงเหลือเท่าเดิม
- ขั้นตอนที่ 7 ทำการนึ่งและคนต่อไปจนกระทั่งเนื้อใสคล้ายๆวาสลีน หลังจากนั้นให้จับมาสักก้อนเล็กๆเอานิ้วมือบี้ดูจะรู้สึกว่ามันเป็นไข และให้ทดสอบว่าปฏิกิริยา Saponification เสร็จสมบูรณ์หรือยังให้ใช้ลิ้นแตะนิดนึงถ้ารู้สึกแปลบๆเหมือนไฟช๊อตเล็กๆแสดงว่ายังไม่สมบูรณ์ให้นึ่งและคนต่อไปจนไม่รู้สึกแปลบๆเมื่อนำมาแตะที่ลิ้น
- ขั้นตอนที่ 8 นำสีทีเราเตรียมไว้ผสมให้เข้ากัน ปล่อยให้เย็นลงเล็กน้อยจึงผสมน้ำมันหอมละเหยหรือน้ำหอม (กลิ่น) ในขั้นตอนนี้เราจะต้องทำอย่างรวดเร็วเพราะว่าสบู่จะเริ่มแข็งตัวหลังจากเย็นลงแล้ว
- ขั้นตอนที่ 9 นำสบู่ที่ได้ไปใส่ในพิมพ์ที่เตรียมไว้ การนำสบู่ใส่ในพิมพ์จะไม่เหมือน Cold Process หรือ Melt and Pour ซึ่งสามารถเทลงไปง่ายๆ แต่เนื่องจาก Hot Process มันไม่ใช่ของเหลวอีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องตักใส่และทำการเกลี่ยและกระแทกให้เรียบและฟองอากาศลดลง ทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง
- ขั้นตอนที่ 10 นำออกมาจากแม่พิมพ์แล้วตัดเป็นก้อนตามต้องการ
- ขั้นตอนที่ 11 นำสบู่ที่ตัดแล้ววางลงในถาดที่ปูด้วยกระดาษระวังอย่างวางซ้อนกัน เก็บไว้ในที่เย็น และมืด ประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถนำมาใช้ได้ บางคนก็นำมาใช้เลยก็ได้ไม่ต้องทิ้งไว้ถึงสัปดาห์
ถึงแม้ขั้นตอนจะยุ่งยากและไม่สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะในสบู่ Hot Process ได้มากเท่าสบู่ Cold Process แต่เราสามารถย่นระยะเวลาได้เป็นเดือนเลยทีเดียว โปรดติดตามตอนต่อไปของเรื่องราวเกี่ยวกับสบู่ที่นี่เร็วๆนี้
- link งานสบู่ทั้งหมด
ตอนที่ 1 พื้นฐานการทำสบู่แฮนด์เมด ตอนที่ 2 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบวิธี Melt and Pour, ตอนที่ 3 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process, ตอนที่ 4 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Hot Process, ตอนที่ 5 ปฏิกิริยาเคมี และคุณภาพของสบู่แฮนด์เมด, ตอนที่ 6 คุณสมบัติของน้ำมันและคุณลักษณะสบู่แฮนด์เมดที่ได้จากน้ำมันและไขมัน ตอนที่ 7 อาหารผิว ประโยชน์และวิธีใช้ในสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process ตอนที่ 8 สีสันจากธรรมชาติ ในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process ตอนที่ 9 การใส่กลิ่นในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process
อยากทราบว่าสูตรนี้เหมาะกับผิวประเภทไหนคะ
ขึ้นกับน้ำมันที่ใช้ และค่า superfat ค่ะ เช่นสำหรับคนผิวแห้งคงต้องลดน้ำมันมะพร้าวลงและเพิ่มน้ำมันมะกอก และอาจเพิ่มค่า superfat ขึ้นไป สำหรับสูตรที่เขียนไว้ในนี้เป็นสูตรผิวธรรมดา
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับข้อมูล