มีการค้นพบว่าไขมันหรือน้ำมันที่เกิดจากการนำสัตว์มาบูชายันไหลมาผสมกับน้ำและขี้เถ้าที่เกิดจากการนำไม้มาเผาซากสัตว์ แล้วซึมผ่านลงไปสะสมตัวในชั้นดินเป็นตัวการที่ทำให้การซักผ้าสะอาดขึ้น นี่คือปฐมบทของการค้นพบปฏิกิริยาเคมีของสบู่ ซาปองนิฟิเคชั่น (Saponification)
มีเรื่องเล่าว่าเมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช หญิงสาวชาวโรมันได้นำผ้าลงไปซักล้างในลำธารไทเบอร์ (Tiber River) ซึ่งอยู่ในบริเวณกรุงโรมนั่นเอง ได้สังเกตเห็นว่าผ้าที่นำมาซักในบริเวณนี้จะรู้สึกว่าสะอาดดีกว่าไปซักในบริเวณอื่นๆ ในบริเวณที่ใกล้ๆกันกับลำธารแห่งนี้มีเนินเขาแห่งหนึ่งชื่อว่า เนินเขาซาโป ซึ่งในสมัยนั้นใช้เป็นสถานที่สำหรับบูชายันต์ และการบูชายันต์ก็มักจะสังเวยด้วยชีวิตสัตว์ ซากสัตว์เหล่านี้จะถูกนำไปเผาหลังจากมีพิธีกรรมเสร็จแล้ว จากการเผานี้เองทำให้ไขมันของสัตว์เหล่านั้นละลายออกมาและไหลไปผสมกับน้ำและขี้เถ้า ชาวบ้านสังเกตเห็นว่าในบริเวณที่ซักผ้านั้นเป็นที่ซึ่งมีน้ำไหลลงมาจากเนินเขาซาโปและซึมผ่านชั้นดินลงมา เมื่อนำผ้าไปซักในบริเวณนั้นจะพบว่าผ้าสะอาดดีกว่านำไปซักในที่อื่น ต่อมามีการค้นพบว่าไขมันหรือน้ำมันที่เกิดจากการนำสัตว์มาบูชายันไหลผสมน้ำและขี้เถ้าที่เกิดจากการนำไม้มาเผาซากสัตว์ แล้วซึมผ่านลงไปสะสมตัวในชั้นดินเป็นตัวการที่ทำให้การซักผ้าสะอาดขึ้น นี่คือปฐมบทของการค้นพบปฏิกิริยาเคมีของสบู่ ซาปองนิฟิเคชั่น (Saponification)
ปฏิกิริยาทางเคมีพื้นฐานของสบู่
จะเห็นได้ว่าการค้นพบของชาวโรมันเกี่ยวกับสบู่มันเป็นเรื่องของปฏิกิริยาทางเคมีง่ายๆ คือ กรดทำปฏิกิริยากับด่างซึ่งจะได้เกลือก็คือสบู่นั่นเอง แต่กรดอะไรกับด่างอะไรที่ทำให้เกิดเกลือที่เรียกว่าสบู่นี้ ซึ่งได้ข้อสรุปจากชาวโรมันว่ามันคือกรดไขมันกับด่างนั่นเอง
เริ่มต้นพิจารณาที่น้ำมันก่อน น้ำมันหรือไขมันก็คือการรวมตัวกันของสารประกอบ Triglycerides ในตัว Triglyceride นี้ประกอบไปด้วย กรดไขมัน (Fatty acid) 3 โมเลกุลจับกับกลีเซอรอล (Glycerol) 1 โมเลกุล เช่น Olein (เป็น Triglycerid ตัวหนึ่ง) ประกอบไปด้วยกรด Oleic 3โมเลกุลจับกับ Glycerol 1 โมเลกุล ซึ่งตัวกรดไขมันนี้ก็จะประกอบไปด้วยอะตอมของไฮโดรเจน, ออกซิเจน และคาร์บอน หลายๆตัวมารวมกัน ตัวอย่างกรดไขมัน Oleic จะประกอบไปด้วย คาร์บอน 18 อะตอม ไฮโดรเจน 34 อะตอม และออกซิเจน 2 อะตอม ส่วนมากแล้ว Triglyceride จะประกอบไปด้วยกรดไขมันสองถึงสามตัว
อีกองค์ประกอบหนึ่งของสบู่คือด่าง ด่างที่ใช้ทำสบู่ในกระบวนการ Cold Process นี้ส่วนมากใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งก็คือโซดาไฟนั่นเอง โซเดียมไฮดรอกไซด์ประกอบด้วย 1 โซเดียมอิอนกับ1ไฮดรอกไซด์อิออน ซึ่งไฮดรอกไซด์อิออนก็จะประกอบไปด้วยไฮโดรเจน 1 อะตอมและออกซิเจน 1 อะตอม ในปฏิกิริยาทางเคมีของการทำสบู่เราต้องการไฮดรอกไซด์อิออนไปทำปฏิกิริยากับกรดไขมันไม่ได้ต้องการโซเดียมอิออน ดังนั้นด่างชนิดอื่นๆก็ใช้ได้เหมือนกันเช่นโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์
ตัวแปรที่ทำให้เกิดกระบวนการ Saponification ของน้ำมันหรือไขมันและด่าง คือการคนอย่างเร็ว (ปั่น) ในกระบวนการแบบ Cold Process หรือใช้ความร้อนช่วยเช่นการทำสบู่แบบ Hot process และระยะเวลา เมื่อน้ำมันหรือไขมัน (Triglycerides) กับด่าง (โซเดียมไฮดรอกไซด์) ทำปฏิกิริยากันแล้วผลที่ได้รับคือ กรดไขมันจะแยกตัวไปจับกับไฮดรอกไซด์อิออนกลายเป็นสบู่ และยังคงเหลือกลีเซอรินไว้ในสบู่อีกด้วย ตัวกลีเซอรินนี้เองที่ทำให้สบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Processและ Hot Process มีลักษณะเด่นคือทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นและนุ่มเนียน
คุณภาพและคุณลักษณะของสบู่แฮนด์เมด
คุณลักษณะเด่นๆของสบู่ก้อนที่เราต้องการก็คือ ความแข็งของสบู่, ฟองแบบโฟม, ฟองแบบครีม ความนุ่มเนียน เป็นต้น คุณสมบัติต่างๆเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับกรดไขมันในน้ำมันแต่ละชนิด ซึ่งน้ำมันแต่ละชนิดก็จะประกอบด้วยกรดไขมันที่แตกต่างกันไปหลายชนิด และจะให้คุณสมบัติตามกรดไขมันที่มีปริมาณมากในน้ำมันชนิดนั้น เช่นน้ำมันปาล์ม ประกอบไปด้วยกรด Palmitic acid 40.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกรดไขมันชนิดนี้จะแสดงลักษณะเด่นคือทำให้สบู่มีความแข็งมากขึ้นดังนั้นถ้าต้องการให้สบู่แข็งมากขึ้นก็ต้องใส่กรดไขมันชนิดนี้ลงในส่วนผสมในปริมาณที่มากขึ้นด้วย เมื่อเราทราบว่าคุณสมบัติของกรดไขมันแต่ละชนิดว่ามีผลต่อคุณสมบัติของสบู่อย่างไรเราก็สามารถออกแบบเพื่อที่จะผสมน้ำมันแต่ละชนิดเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ต้องการ และก็สามารถทำนายคุณลักษณ์ของสบู่ได้เลย
เครื่องมือที่จำเป็นในการใช้ทำสบู่หาซื้อได้จาก LAZADA

ตารางส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดต่างๆในน้ำมันแต่ละชนิดที่สำคัญดังตารางข้างล่างนี้
ชนิดน้ำมัน |
ปริมาณและชนิดของกรดไขมันคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ |
1)Castor Oil (น้ำมันละหุ่ง) | Risinoleic 44.1%,Oleic 7.4%,Linoleic3.1%,Lauric Myristic Palmitic Stearic 2.4% |
2)Coconut Oil (น้ำมันมะพร้าว) | Lauric 45.4%,Myristic 18%,Palmitic 1.5%,Capric 8.4%,Oleic 7.5%,Capryli 5.4%,Caproic 0.8%,Arachidic 0.4%,Palmitoleic 0.4%,Linoleic (trace) |
3)Olive Oil (น้ำมันมะกอก) | Oleic 84.4%,Palmitic 6.9%,Linoleic 4.6%,Stearic 2.3%,Arachidic 0.1%,Miristic trace |
4)Palm Oil (น้ำมันปาล์ม) | Oleic 42.7%,Palmitic 40.1%,Linoleic 10.3%,Stearic 5.5%,Myristic 1.4% |
5)Soybean Oil(น้ำมันถั่วเหลือง) | Linoleic 50.7%, Oleic 28.9%,Palmitic 9.8%,Linolenic 6.5%,Stearic 2.4%,Arachidic 0.9%,Palmitoleic 0.4%,Lauric 0.2%,Myristic 0.1%, C14 monoethenic 0.1% |
ตารางแสดงกรดไขมันชนิดต่างๆสัมพันธ์กับคุณสมบัติของสบู่แฮนด์เมด
กรดไขมัน |
ความแข็ง |
ความสะอาด |
ฟอง |
ครีม |
นุ่มชุ่มชื่น |
Lauric | X | X | X | ||
Palmitic | X | X | |||
Stearic | X | X | |||
Ricinoleic | X | X | |||
Oleic | X | X | |||
Linoleic | X | X |
ความสัมพันธ์ของมวลโมเลกุลของกรดไขมันกับคุณสมบัติของสบู่แฮนด์เมด โดยทั่วไปแล้วกรดไขมันที่มีมวลโมเลกุลมากมักจะมี ความแข็งมาก ฟองน้อย และมีความสามารถในการทำความสะอาดต่ำ แต่ในทางกลับกันก็จะมีความเป็นครีมสูง และให้ความนุ่มนวล อ่อนโยนต่อผิว ไขมันที่มีมวลโมเลกุลมากค่า SAP จะต่ำ
ตารางแสดงมวลโมเลกุลของกรดไขมันแต่ละชนิด
กรดไขมัน |
สูตรเคมี |
มวลโมเลกุล |
Butyric | C4H8O2 | 88 |
Capric | C10H20O2 | 172 |
Crapoic | C6H12O2 | 116 |
Lauric | C12H24O2 | 200 |
Linoleic | C18H32O2 | 280 |
Myristic | C14H28O2 | 228 |
Oleic | C18H34O2 | 282 |
Palmitic | C16H32O2 | 256 |
Ricinoleic | C18H34O2 | 298 |
Stearic | C18H36O2 | 284 |
ค่า Iodine Value ในทางเคมีหมายถึงปริมาณของ Iodine เป็นกรัมที่สามารถละลายในน้ำมัน 100 กรัมได้หมด ค่า Iodine Value นี้จะใช้ในการหาปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัวของน้ำมันหรือไขมัน เช่นน้ำมันชนิดใดมีค่า Iodine Value สูงก็จะประกอบไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวสูง ตัวอย่างเช่น น้ำมันมะพร้าวมีค่า Iodine Value ต่ำประมาณ 7-12 กรัมก็หมายความว่าน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ในการทำสบู่ถ้าน้ำมันที่เราใช้มีค่า Iodine Value ต่ำ สบู่จะค่อนข้างแข็งหรือเรียกว่าสบู่แข็ง แต่สบู่ใดที่ทำมาจากน้ำมันที่มีค่า Iodine Value สูง สบู่นั้นก็จะเป็นสบู่อ่อน ดังนั้นเราจึงสามารถผสมผสานน้ำมันให้ได้สบู่ที่มีคุณสมบัติพอเหมาะโดยใช้ตาราง Iodine Value
ตารางแสดงค่า Iodine Value ของน้ำมันหรือไขมัน
น้ำมันหรือไขมัน |
ค่า Iodine Value คิดกรัมต่อน้ำมัน 100 กรัม |
Coconut Oil | 10.4 |
Castor Oil | 85.5 |
Olive Oil | 81.1 |
Palm Oil | 54.2 |
Palm Kernel Oil | 37.0 |
Soybean Oil | 130 |
Wheatgerm Oil | 125 |
Jojoba Oil | 85 |
Sweet Almond Oil | 105 |
Avocado Oil | 80 |
การคำนวณโซดาไฟ (Sodium Hydroxide หรือ Lye) สำหรับสบู่แฮนด์เมด
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า สบู่ผลของเป็นปฏิกิริยาทางเคมีของกรดไขมันและด่าง ในการทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold process เรานิยมใช้ด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ดังนั้นเราจะต้องมาคำนวณปริมาณของโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่เหมาะสมสำหรับทำสบู่
น้ำมันหรือไขมันแต่ละชนิดจะมีค่า Saponification (SAP) แตกต่างกันไป ซึ่งค่า SAP นี้หมายถึงปริมาณของด่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) เป็นมิลลิกรัมที่สามารถทำปฏิกิริยากับ Triglyceride (น้ำมันหรือไขมัน) ปริมาณ 1 กรัมจนสมบูรณ์ เรียกปฏิกิริยานี้ว่า Saponification ยกตัวอย่างเช่นน้ำมันมะพร้าวมีค่า SAP เท่ากับ 268 หมายความว่า ต้องใช้ KOH 268 มิลลิกรัมจึงจะทำให้ปฏิกิริยา Saponification กับน้ำมันมะพร้าว 1 กรัมได้สมบูรณ์ ซึ่งค่า SAP นี้จะขึ้นอยู่กับมวลโมเลกุลของกรดไขมันในน้ำมันหรือไขมัน (Triglycerides) โดยค่าของ SAP จะแปรผกผันกับมวลโมเลกุลของกรดไขมัน คือถ้าค่า SAP ต่ำแสดงว่าน้ำมันมีกรดไขมันที่มีมวลโมเลกุลสูงรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก
ตารางแสดงค่า SAP ของน้ำมันชนิดต่างๆ
น้ำมันหรือไขมัน |
ค่า SAP |
Cator Oil* | 180.3 |
Coconut Oil | 268 |
Olive Oil | 189.7 |
Palm Oil | 199.1 |
Palm Kernel Oil | 219.9 |
Soybean Oil | 190.6 |
Wheat germ Oil | 185 |
Jojoba Oil | 97.5 |
Sweet Almond Oil | 192.5 |
Avocado Oil | 187.5 |
Shea butter | 180 |
*หมายเหตุ น้ำมันละหุ่ง (Castor Oil) เป็นน้ำมันที่มวลโมเลกุลค่อนข้างสูงทำให้ต้องการด่างในการทำปฏิกิริยาจำนวนที่สูงตามมาด้วย ในการทำสบู่ถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำมันละหุ่งเกิน 15% มีข้อแนะนำว่าให้ใช้ค่า Super Fat ที่ประมาณ 5%
เนื่องจากค่า SAP เป็นค่าที่คำนวณมาจากความต้องการ KOH เพื่อที่จะทำให้ปฏิกิริยา Saponification สมบูรณ์ แต่เมื่อเราต้องการที่จะใช้ด่างประเภท NaOH (โซเดียมไฮดรอกไซด์) เนื่องจากมวลโมเลกุลของ NaOH เท่ากับ 40 ซึ่งเบากว่า KOH ซึ่งหนัก 56.1 ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องแปลงค่าจากน้ำหนักของ KOH ให้เป็นน้ำหนักของ NaOH โดยการคูณด้วย 40/56.1 กล่าวคือน้ำหนักของ NaOH = (40/56.1) เท่าของน้ำหนัก (KOH)
ตัวอย่างการคำนวณ น้ำมันมะพร้าว 1 กิโลกรัมจะใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์เท่าไร
ค่า SAP ของน้ำมันมะพร้าวเท่ากับ 268 มิลลิกรัมต่อ 1 กรัม (1,000 มิลลิกรัม) ทำให้หน่วยเท่ากันคือเป็นกรัมโดยการเอา 1,000 หาร ก็จะได้ ค่า SAP 0.268 กรัมต่อน้ำมันมะพร้าว 1 กรัม
ดังนั้นถ้าใช้น้ำมันมะพร้าว 1 กิโลกรัม (1,000 กรัม) จึงต้องใช้ KOH ทั้งหมด เท่ากับ 0.268 คูณด้วย 1000 กรัม จะได้ KOH ที่จะต้องใช้เท่ากับ 268 กรัม จากนั้นเปลี่ยนน้ำหนัก KOH ไปเป็นน้ำหนัก NaOH ด้วยการ คูณด้วย 40/56.1 ก็จะได้ 191.09 กรัม สรุปเป็นสูตรได้ดังนี้
ปริมาณNaOH ที่ต้องการ = ((SAP/1000)*(ปริมาณน้ำมัน))*40/56.1
สรุปนำค่า SAP หารด้วย 1,000 แล้วคูณด้วยปริมาณน้ำมันจะได้ปริมาณ KOH ที่ต้องการ จากนั้นแปลงเป็นน้ำหนักของ NaOH ด้วยการคูณด้วย 40/56.1
ค่า Superfat
หลังจากเราทราบแล้วว่าปริมาณของโซเดียมไฮดรอกไซด์เท่าไรจึงจะทำปฏิกิริยา Saponification สมบูรณ์ แต่ในการทำสบู่นั้นคนทำสบู่ไม่ต้องการปฏิกิริยาที่สมบูรณ์ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องเหลือน้ำมันหรือไขมันส่วนเกินไว้เพื่อให้สบู่มีความนุ่มนวล อ่อนโยน เก็บความชุ่มชื้นไว้ให้ผิวได้ อีกทั้งไม่ระคายเคืองต่อผิวอันเนื่องมาจากโซเดียมไฮดรอกไซด์ และยังปลอดภัยในกรณีที่การชั่งตวงวัดมีการผิดพลาดอีกด้วย ซึ่งน้ำมันที่เหลือนี้คนทำสบู่จะเรียกว่าค่า Superfat ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่จะต้องลดลงจากที่คำนวณได้เพื่อที่จะให้น้ำมันหรือไขมันยังคงเหลืออยู่ในสบู่
ปริมาณโซเดียมไฮดรอกไซด์เท่าไรจึงเหมาะสมสำหรับการทำสบู่ ปกติผิวหนังคนเราจะมีความเป็นกรดอ่อนๆ คือมีค่า pH ประมาณ 4 – 6.75 แต่ผิวหนังของคนเราก็สามารถรับความเป็นด่างได้เล็กน้อย ถ้ามีความเป็นด่างมากเกินไปผิวหนังก็อาจเกิดระคายเคืองได้ ปริมาณของโซเดียมเท่าไรจึงจะเหมาะสมไม่มีคำตอบของตัวเลขที่แน่นอนว่าค่า Superfat ควรเป็นเท่าไร สำหรับผู้เขียนเองทดลองดูว่าตั้งแต่ 5-20 เปอร์เซ็นต์และพบว่าช่วงที่ดีที่สุดพึงพอใจที่สุดคือช่วงระหว่าง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นปริมาณของโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ต้องลดลงจากการคำนวณว่าเป็นเท่าไรจะต้องมีการทดลองเองของคนทำสบู่แต่ละคนว่าพึงพอใจประมาณเท่าไรไม่มีสูตรสำเร็จ
การคำนวณปริมาณโซเดียมไดออกไซด์(NaOH) ในกรณีที่ใช้น้ำมันหลายๆชนิด
การทำสบู่จะต้องมีการผสมผสานน้ำมันหลากหลายชนิด ทั้งที่มีไขมันอิ่มและไขมันไม่อิ่มตัวเพื่อจะให้ได้สบู่ที่มีคุณภาพดังที่ต้องการ ดังนั้นจึงจะต้องมีวิธีการคำนวณปริมาณของโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ต้องใช้ ในกรณีที่ผสมน้ำมันหลายๆชนิดซึ่งแต่ละชนิดก็มีค่า SAP ต่างๆกันไป
ยกตัวอย่างง่ายๆ สูตรนี้ประกอบด้วย น้ำมันมะกอก 500 กรัม น้ำมันมะพร้าว 300 กรัม น้ำมันปาล์ม 200 กรัม รวมเป็น 1 กิโลกรัมพอดี
ขั้นตอนที่ 1หาค่า SAP เฉลี่ยโดยน้ำหนัก โดยการเปลี่ยนปริมาณน้ำมันแต่ละชนิดให้เป็นเปอร์เซ็นต์เสีย จะได้ดังนี้ (ความเป็นจริงเราควรจะออกแบบส่วนผสมน้ำมันเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว) น้ำมันมะกอก 50% น้ำมันมะพร้าว 30% น้ำมันปาล์ม 20% ทำให้คำนวณง่ายขึ้นก็คือเปลี่ยนให้เป็นตัวเลขธรรมดาโดยเอา 100 หารออกจะได้ 0.5, 0.3 และ 0.2 ตามลำดับ ให้ง่ายกว่านั้น คือเอาน้ำมันรวมทั้งหมดมาหารปริมาณน้ำมันแต่ละตัวก็จะได้เหมือนกันคือ 500/1,000 = 0.5 , 300/1,000 = 0.3 และ200/1,000 = 0.2 จากนั้นก็นำค่า SAP ของน้ำมันแต่ละตัวไปคูณ ซึ่งก็คือ 189.7, 268 และ 199.1 ตามลำดับ แล้วนำค่าที่ได้มาบวกกันก็จะได้ค่า SAP เฉลี่ยโดยน้ำหนัก ทำเป็นสูตรได้ดังนี้
(ปริมาณน้ำมันมะกอก/ปริมาณน้ำมันรวม) x ค่าSAPของน้ำมันมะกอก + (ปริมาณน้ำมันมะพร้าว/ปริมาณน้ำมันทั้งหมด) x ค่าSAPของน้ำมันมะพร้าว + (ปริมาณน้ำมันมะปาล์ม/ปริมาณน้ำมันทั้งหมด) x ค่า SAP ของน้ำมันปาล์ม = ผลเฉลี่ยค่า SAP
เมื่อแทนค่าจะได้ดังนี้ (500/1,000) x 189.7 + (300/1,000) x 268 + (200/1,000) x 199.1 = 215.07 มิลลิกรัมต่อน้ำมัน 1 กรัม
ขั้นตอนที่ 2 นำค่าเฉลี่ยของ SAP มาเปลี่ยนเป็นหน่วยเดียวกันโดยการนำ 1,000 มาหารก็จะได้ 215.07/1000 จะได้ 0.21507 จากนั้นคูณด้วยปริมาณน้ำมันทั้งหมดคือ 1,000 กรัม ก็จะได้เท่ากับ 0.21507 x 1,000 = 215.7 กรัม
ขั้นตอนที่ 3 เนื่องจากค่าที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 เป็นค่าที่คำนวณมาจากด่างที่เป็น KOH ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนจากน้ำหนัก KOH เป็น NaOH โดยนำ 40/56.1 มาคูณค่าที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 ได้ดังนี้ 215.07 x 40/56.1=153.34 กรัม
ขั้นตอนที่ 4 ลดปริมาณโซเดียมไฮดรอกไซด์ด้วยค่า Superfat สมมุติว่าเราใช้ค่า Superfat ที่ 15% เราต้องเอา 85% หรือ 0.85 (มาจาก 100 – 15) ไปคูณกับค่า NaOH จากขั้นตอนที่ 3 ก็จะได้ 153.34 x 0.85 = 130.34 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่เราต้องใช้
สรุปได้ว่า สบู่ถูกสังเกตุเห็นโดยชาวโรมันเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช เป็นปฏิกิริยาระหว่างกรดไขมันกับด่าง คุณสมบัติ และคุณภาพของสบู่ขึ้นอยู่กับชนิดของกรดไขมันเป็นหลัก ซึ่งกรดไขมันแต่ละชนิดก็ให้คุณสมบัติแตกต่างกันไป น้ำมันแต่ละชนิดก็มีกรดไขมันแตกต่างกันไป ดังนั้นถ้าเราจะทำสบู่ให้ได้คุณสมบัติ และคุณภาพที่ดีเราต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของกรดไขมันในน้ำมันแต่ละชนิดเพื่อที่ได้จะผสมผสานน้ำมันออกมาให้ได้คุณลักษณะที่ดีตามความต้องการ ซึ่งผู้ทำสบู่สามารถออกแบบได้ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือปริมาณโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ใช้ถ้าใช้มากเกินไป สบู่ก็จะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังได้ แต่ใช้น้อยเกินไปสบู่ก็จะเสียได้เช่นกัน ค่า Superfat ที่เหมาะสมที่เราจะใช้นั้นจะต้องถูกทดสอบ และทดลองให้ได้ความพึงพอใจที่สุด และไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง
- link งานสบู่ทั้งหมด
ตอนที่ 1 พื้นฐานการทำสบู่แฮนด์เมด ตอนที่ 2 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบวิธี Melt and Pour, ตอนที่ 3 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process, ตอนที่ 4 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Hot Process, ตอนที่ 5 ปฏิกิริยาเคมี และคุณภาพของสบู่แฮนด์เมด, ตอนที่ 6 คุณสมบัติของน้ำมันและคุณลักษณะสบู่แฮนด์เมดที่ได้จากน้ำมันและไขมัน ตอนที่ 7 อาหารผิว ประโยชน์และวิธีใช้ในสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process ตอนที่ 8 สีสันจากธรรมชาติ ในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process ตอนที่ 9 การใส่กลิ่นในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับความรู้ครั้งนี้ มีประโยชน์มากค่ะ
พึ่งจะเริ่มทำสบู่ มาเจอที่คุณดีทำไว้ละเอียดมากเลยค่ะ ขอขอบคุณมากๆนะคะ:)))
ขอบคุณมากครับผม
ใช้น้ำมันมะพร้าว,น้ำมันปาล์มที่ขายในห้างได้ไหมครับ จะได้สบู่ไหม
ได้จ้า