ในตอนที่ 6 นี้เราจะมาศึกษากันเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำมันต่างๆที่เรานิยมใช้มาทำสบู่กัน ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะน้ำมันที่ได้มาจากพืชเท่านั้น และก็เป็นน้ำมันที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดบ้านเราซึ่งก็มีหลากหลายชนิดด้วยกัน แต่จะเน้นเฉพาะน้ำมันที่ผู้เขียนได้เคยทดลองใช้แล้วเท่านั้น
นี่คือข้อดีของสบู่แฮนด์เมดคือ ออกแบบได้ดังใจนึก แต่ละก้อนล้วนมีเอกลักษณ์ประจำตัว ที่สำคัญคือไม่มีสารที่เราไม่รู้ผสมอยู่ด้วย ดังนั้นจึงปลอดภัยไร้กังวล
น้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์อเนกอนันต์ทั้งต่อร่างกายและผิวพรรณ นอกจากใช้ประกอบอาหารแล้วคนไทยโบราณยังรู้จักใช้น้ำมันมะพร้าวในการถนอมความงามกันมานานแล้ว เช่นนำมาใช้ใส่ผมจะทำให้ผมดูเงางามและยังใช้ในการทาผิวอีกด้วย สำหรับการทำสบู่แล้วน้ำมันมะพร้าวถือว่าเป็นของวิเศษเลยที่เดียว (ข้าพเจ้าพูดเอาเอง) เพราะว่ามันสามารถทำปฏิกิริยากับด่างได้อย่างสมบูรณ์กล่าวคือสามารถเปลี่ยนไปเป็นสบู่ได้อย่างสมบูรณ์เหนือกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ
โครงสร้างของน้ำมันมะพร้าวประกอบไปด้วย
ประมาณ 86% เป็นกรดไขมันอิ่มตัว โดยมี Lauric acid มากกว่า 40% ตามมาด้วย Capric acid, Caprylic acid, Myristic acid และ Palmitic acid และที่เหลือเป็นไขมันไม่อิ่มตัวพวก Linoleic acid กับOleic acid ซึ่งจะเห็นได้ว่าน้ำมันมะพร้าวประกอบไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Lauric acid
ประเภทของน้ำมันมะพร้าว
น้ำมันมะพร้าวในท้องตลาดบ้านเราสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มตามจุดหลอมเหลวได้ดังนี้ที่ 76F(24C), 92F(33C), 101F(38C) และ110F(43C) ที่พบในท้องตลาดส่วนมากจะเป็น 76F(24C)
ประโยชน์และการประยุกต์ใช้ในการทำสบู่
น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น มีคุณสมบัติในการต้านการออกซิเดซัน(Antioxidant) และยังสามารถช่วยชะลอริ้วรอยแห่งวัยได้อีกด้วย เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวประกอบไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวเป็นหลักจึงทำให้สบู่ไม่เกิดการหืนได้ง่าย และกรดไขมันอิ่มตัว Lauric acid ซึ่งมีปริมาณมากในน้ำมันมะพร้าวจึงมีคุณสมบัติทำให้สบู่เกิดฟอง และละลายน้ำได้ดีแม้ในสภาพน้ำค่อนข้างกร่อย มีความสามารถในการทำความสะอาดสูง ตัวสบู่เองจะมีความแข็งมาก และมีความสามารถในการเปลี่ยนไปเป็นสบู่ได้สูง การใช้ปริมาณน้ำมันมะพร้าวในสบู่มากเกินไปจะทำให้ผิวหนังแห้ง การใช้จึงจะต้องผสมกับน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันอื่นๆ

น้ำมันปาล์ม (Palm Oil)
เป็นน้ำมันที่ผลิตมาจากเนื้อของผลปาล์มซึ่งคนละชนิดกันกับน้ำมันจากเม็ดปาล์ม (Palm kernel Oil) มีหลักฐานการค้นพบว่ามนุษย์มีการใช้น้ำมันปาล์มมาแล้วกว่า 5,000 ปีตั้งแต่สมัยยุคอียิปต์รุ่งเรือง โดยปกติแล้วน้ำมันจากเนื้อปาล์มที่ยังไม่ผ่านการกลั่นมักจะมีสีออกน้ำตาลแดงเนื่องมาจากผลเนื้อปาล์มจะมีสารเบต้าแคโรทีนค่อนข้างสูง น้ำมันปาล์มที่วางขายในท้องตลาดของบ้านเรามีหลากหลายยี่ห้อซึ่งผลิตมาสำหรับใช้ในการปรุงอาหารโดยทั้งหมดจะผ่านการกลั่นลำดับส่วนมีการแยกสีและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกไป
องค์ประกอบของน้ำมันปาล์ม
น้ำมันปาล์มประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัวในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ
กรดไขมันอิ่มตัว Palmitic acid 43.5% ,Stearic 4.3% ,Myristic 1%
กรดไขมันไม่อิ่มตัว Oleic acid 36.6% ,Linoleic acid 9.1% ,อื่นๆ 5.5%
ประโยชน์และการประยุกต์ใช้ในการทำสบู่
สบู่ที่ทำจากน้ำมันปาล์มจะมีคุณสมบัติค่อนข้างที่จะเปราะมากเนื่องมาจากน้ำมันปาล์มจะประกอบไปด้วยปริมาณของกรดไขมันมากกว่ากลีเซอรีน คุณสมบัติของน้ำมันปาล์มจะคล้ายๆไขสัตว์(Tallow) ซึ่งจะเกิดฟองน้อยและเกิดยาก คุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อผิวก็มีไม่มากนัก น้ำมันปาล์มจะเกิดคุณประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับทำสบู่ก็ต่อเมื่อผสมกับน้ำมันอื่นๆเช่น น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันมะกอกเป็นต้น ซึ่งจะได้สบู่ที่มีคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยม กล่าวคือแม้น้ำมันมะพร้าวจะมีคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมทั้งความแข็ง การเกิดฟองและการทำความสะอาดแต่ก็ไม่สามารถที่จะใส่ในปริมาณที่มากได้เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งได้ ดังนั้นน้ำมันปาล์มจึงเข้ามาช่วยตรงนี้จะช่วยทำให้สบู่แข็งขึ้นโดยไม่ต้องใส่น้ำมันมะพร้าวมากเกินไป และทำให้ความสามารถในการละลายน้ำลดลงสบู่ก็จะใช้ได้นานขึ้น อีกคุณสมบัติที่สำคัญของน้ำมันปาล์มก็คือช่วยให้น้ำมันต่างๆที่ผสมอยู่ทำปฏิกิริยาซาปองนิฟิเคชันให้จบเร็วขึ้น

น้ำมันจากเม็ดปาล์ม (Palm Kernel Oil)
ตามชื่อเลยเป็นน้ำมันที่ผลิตจากเม็ดปาล์มซึ่งจะแตกต่างจากน้ำมันปาล์มเฉยๆที่ผลิตจากเนื้อปาล์ม น้ำมันเม็ดปาล์มนี้จะประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวมากกว่า 80% โดยเฉพาะ Lauric acid ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ให้คุณสมบัติในการทำสบู่ชั้นยอดเช่นเดียวกับน้ำมันมะพร้าว น้ำมันเม็ดปาล์มหาซื้อตามซุปเปอร์มาเกตทั่วไปได้ยาก แต่จะมีเฉพาะน้ำมันเม็ดปาล์มที่ผสมกับน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งบ้านเราเรียกว่าน้ำมันบัวส่วนมากเห็นขายกันเป็นปิ๊บๆ ไม่เห็นขายเป็นขวดย่อยๆแบบน้ำมันพืชชนิดอื่น
องค์ประกอบของน้ำมันจากเม็ดปาล์ม
น้ำมันจากเม็ดปาล์ม (Palm Kernel Oil) มีองค์ประกอบค่อนข้างคล้ายกับน้ำมันมะพร้าวมากคือประกอบด้วย กรดไขมันอิ่มตัวมากกว่า 80% ดังนี้
กรดไขมันอิ่มตัว Lauric acid 48.2% ,Myristic acid 16.2% ,Palmitic acid 8.4% , Capric acid 3.4% ,Caprylic acid 3.3% และStearic acid 2.5%
กรดไขมันไม่อิ่มตัว Oleic acid 15.3%, Linoleic acid 2.3% และอื่นๆอีก 0.4%
ประโยชน์และการประยุกต์ใช้ทำสบู่
เนื่องจากน้ำมันเม็ดปาล์มมีกรดไขมันอิ่มตัวอยู่ในปริมาณที่สูงโดยเฉพาะ Lauric acid ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่มหัศจรรย์คือเป็นกรดไขมันอิ่มตัวและยังมีมวลโมเลกุลต่ำอีกด้วยทำให้สบู่ที่มีกรดไขมันชนิดนี้มีคุณสมบัติในการเป็นฟองและละลายน้ำได้ดีในเกือบทุกสภาพน้ำ อีกทั้งยังทำให้ก้อนสบู่มีความแข็งอีกด้วย ข้อเสียของน้ำมันจากเม็ดปาล์มก็คือไม่สามารถใช้ในปริมาณที่มากได้เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งได้ และยังคงมีกลิ่นแม้ใช้ในปริมาณไม่มาก ดังนั้นเราจึงควรใช้น้ำมันเม็ดปาล์มในปริมาณที่น้อยกล่าวคือประมาณ 10% และต้องใช้ร่วมกับน้ำมันอื่นๆด้วย
น้ำมันมะกอก (Olive Oil)
มะกอกเป็นพืชพื้นถิ่นของแถบเมดิเตอร์เรเนียน และทวีปอัฟริกาตอนเหนือ พบมากในสเปน กรีซ อิตาลี ฝรั่งเศส โมรอคโค โดยเฉพาะประเทศสเปนซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันมะกอกรายใหญ่ของโลก ในแถบบ้านเราไม่พบว่ามีการผลิตทำให้น้ำมันมะกอกมีราคาแพงและพบว่ามีขายเฉพาะในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น ประโยชน์ของน้ำมันมะกอกนับว่ามากมายมหาศาล ตั้งแต่ใช้ในการปรุงอาหาร ใช้ในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สบู่ และรวมไปถึงทางด้านเภสัชกรรมด้วย
น้ำมันมะกอกแบ่งออกเป็นเกรดต่างๆดังนี้
Virgin Olive Oil เป็นน้ำมันมะกอกที่สกัดด้วยวิธีทางกลศาสตร์คือเอาผลมะกอกมาบีบเอาน้ำมันเฉยๆไม่มีการกลั่นไม่มีการใช้ความร้อน เป็นสินค้าเกรดสูงราคาแพงที่สุด ในกลุ่มของน้ำมัน Virgin Olive oil นี้ยังแบ่งออกเป็น Extra virgin , Virgin ,Ordinary virgin และ Lampante virgin Olive oil โดยเรียงลำดับจากคุณภาพสูงสุดไปหาต่ำสุด หมายเหตุ Lampante virgin Olive oil ไม่ได้ใช้ในการรับประทานแต่ใช้ในการจุดน้ำมันตะเกียงหรือใช้ในอุตสาหกรรม สิ่งสุดท้ายที่เหลือจากการสกัดน้ำมันแบบนี้คือ Olive Pomace (กากของมะกอก) ซึ่งยังคงมีน้ำมันเหลืออยู่
Refine Olive Oil น้ำมันมะกอกที่ได้จากการนำเอาน้ำมันพวก Virgin olive oil เกรดต่างๆไปกลั่นเพื่อแยกสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออกไป เช่น กลิ่น สี รสชาติ เป็นต้น
Olive pomace oil เป็นน้ำมันที่ได้จากการสกัดจากกากของมะกอกที่คั้นเอาน้ำมันประเภท virgin oil ไปหมดแล้ว จากนั้นนำไปกลั่นและผสมกับน้ำมัน virgin oil เพื่อให้ได้ รสชาติ และกลิ่นที่ต้องการน้ำมันชนิดนี้เป็นน้ำมันเกรดต่ำและมีราคาถูกที่สุด
องค์ประกอบของน้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอกประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่า 80% โดยมีปริมาณกรดไขมันต่างๆเป็นช่วงตามถิ่นที่ปลูก วิธีการสกัด และเกรดของน้ำมันชนิดต่างๆ ดังต่อไปนี้
ไขมันอิ่มตัว Palmitic acid 7.5-20% ,Stearic acid 0.5-5%
ไขมันไม่อิ่มตัว Oleic acid 55-83% ,Linoleic acid 3.5-21%
ประโยชน์และการประยุกต์ใช้ทำสบู่
คนเรารู้จักใช้น้ำมันมะกอกในการบำรุงผิวมาตั้งแต่ยุคอียิปต์จนถึงสมัยปัจจุบัน โดยใช้เพื่อเป็นทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น โดยการที่นำมันมะกอกมีคุณสมบัติทำให้ความชุ่มชื้นสามารถเกาะติดอยู่กับผิว และยังสร้างฟิล์มบางๆป้องกันไม่ให้ความชุ่มชื้นจากภายในผิวสูญเสียไป น้ำมันมะกอกยังมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนสารให้ความชุ่มชื้นตัวอื่นๆคือจะไม่อุดตันหรือขัดขวางการทำงานตามธรรมชาติของผิว เช่น การขับเหงื่อ การหลั่งซีบัม การผลัดผิว เป็นต้น ยังมีงานวิจัยที่กล่าวว่าน้ำมันมะกอกมีคุณสมบัติรักษาสิวได้ และยังมีวิตามิน E สูงอีกด้วย เนื่องจากน้ำมันมะกอกประกอบไปด้วยไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Oleic acid มีตั้งแต่ 55-83% ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับน้ำมันชนิดอื่นๆ กรดไขมันชนิดนี้จะมีคุณสมบัติในการทำความสะอาด และให้ความชุ่มชื้นต่อผิว เมื่อใช้ในปริมาณที่มากจะทำให้สบู่อ่อน ถ้าต้องการทำให้ก้อนสบู่แข็งจะต้องมีการเติมน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันเม็ดปาล์มหรือน้ำมันปาล์มลงไปด้วย การทำปฏิกิริยา Sapoifaction จะมีความสมบูรณ์แตกต่างกันไปตามเกรดของน้ำมันมะกอก โดยเกรด virgin และ refine olive (น้ำมันมะกอกที่ผ่านการกลั่น) จะมีสิ่งเจือปนที่ไม่สามารถทำปฏิกิริยากับด่างได้อยู่น้อย กล่าวคือเป็นน้ำมันมกอกที่ค่อนข้างบริสุทธิ์มากการทำปฏิกิริยา Saponification จึงทำได้สมบูรณ์กว่าน้ำมันมะกอกพวก Pomace olive oil ซึ่งทำมาจากกากของมะกอก จะมีสิ่งเจือปนอยู่มากจึงทำปฏิกิริยากับด่างได้ไม่สมบูรณ์ สิ่งเจือปนที่ไม่สามารถทำปฏิกิริยากับด่างได้ตัวนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ส่วนผสมที่เป็นน้ำมันชนิดอื่นๆเกิดปฏิกิริยา Saponification ได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีการผสมน้ำหอมที่เป็นน้ำหอมสังเคราะห์ที่มีสารพวก dipropylene glycol หรือแม้แต่เป็นพวก Essential Oil 100% ก็ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือน้ำมันมะกอกชนิด Pomace นี้จะทำให้สบู่ออกมาสีเข้มกว่าน้ำมันมะกอกแบบอื่นๆไม่ขาวสวย การใช้จึงต้องมีควรระมัดระวังในกรณีที่สูตรของเราประกอบไปด้วยน้ำมันมะกอกชนิด Pomace มาก ตัวผู้เขียนเองใช้มาแล้วทุกอย่าง และเห็นว่าน้ำมันมะกอกชนิด Pomace นี้ก็ใช้ได้ไม่มีผลอะไรมากนักเนื่องจากเลือกใช้ในปริมาณที่ไม่สูงมากเกินไป ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าน้ำมันมะกอกเกรดอื่นๆ แต่ก็ยังมีคุณค่าต่อผิวพรรณของเราไม่ได้แตกต่างกัน ในกรณีที่สูตรสบู่ใช้น้ำมันมะกอกสูงๆก็ควรที่จะใช้น้ำมันมะกอกชนิดเกรดสูงๆไปด้วยเช่น พวกเกรด Virgin หรือเป็นน้ำมันมะกอกที่กลั่นแล้วก็ได้ เนื่องจากน้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันที่มีคุณค่าต่อผิวพรรณมากจึงมีการทำสบู่จากน้ำมันมะกอก 100% มากว่า 100 ปีแล้วในปัจจุบันก็มีการผลิตขายกันบ้าง และเรียกชื่อสบู่ประเภทนี้ว่า Castile Soap

เครื่องมือที่จำเป็นในการใช้ทำสบู่หาซื้อได้จาก LAZADA

น้ำมันละหุ่ง Castor Oil
เป็นน้ำมันที่สกัดจากเม็ดละหุ่ง เนื่องจากบ้านเรามีการปลูกละหุ่งกันแพร่หลายและก็มีการผลิตน้ำมันละหุ่งเป็นรายใหญ่อันดับต้นของโลก จึงทำให้ราคาไม่แพงมาก แต่ก็ไม่มีขายตามร้านค้าทั่วไป ประโยชน์ของน้ำมันละหุ่งใช้ได้หลายอย่าง เช่นใช้ในวงการแพทย์ ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้ถนอมอาหาร ใช้ในวงการดูแลรักษาผิว ใช้ในอุตสาหกรรมสบู่ เป็นต้น
องค์ประกอบของน้ำมันละหุ่ง
น้ำมันละหุ่งประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มเป็นส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Ricinoleic acid และมีกรดไขมันอิ่มตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ไขมันอิ่มตัวคือ Palmitic acid 0.5-1%, Stearic acid 0.5-1%
ไขมันไม่อิ่มตัว Ricinoleic acid 85-95%, Oleic acid 2-6%, Linolenic 1-5%
ประโยชน์และการประยุกต์ใช้ทำสบู่
น้ำมันละหุ่งมีประโยชน์ต่อผิวเช่นเดียวกันกับน้ำมันมะกอก น้ำมันโจโจบา คือทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นต่อผิว ปกป้องไม่ให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น และทำให้ผิวนุ่มลื่น ในการทำสบู่น้ำมันละหุ่งจะต้องใช้ร่วมกับน้ำมันตัวอื่น เพราะว่าลำพังน้ำมันละหุ่งแล้วสบู่ที่ได้จะค่อนข้างใสและก้อนสบู่จะอ่อนนิ่ม ดังนั้นจึงต้องผสมกับน้ำมันตัวอื่นด้วยจึงจะได้สบู่ที่มีคุณสมบัติที่ดีและทำให้ผิวมีความลื่นเนียนและชุ่มชื้น
ด้วยเหตุว่าน้ำมันละหุ่งประกอบไปด้วย Ricinoleic acid เป็นปริมาณที่มากซึ่งจะทำให้มีความหนืดมากกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ และมีข้อควรระวังในการคำนวณปริมาณ NaOH เพราะว่าน้ำมันละหุ่งประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่ม Ricinoleic acid สูงมากและมีมวลโมเลกุลสูงทำให้ต้องการ NaOH สูงกว่าปกติ ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำมันละหุ่งเกิน 15% มีคำแนะนำว่าควรใช้ค่า superfat ที่ 5% อีกทั้งน้ำมันละหุ่งยังมีกลิ่นค่อนข้างแรงและมักจะไปกลบกลิ่นน้ำหอมที่เราใส่ไปดังนั้นการเลือกใช้น้ำมันละหุ่งในปริมาณที่มากจะส่งผลต่อกลิ่นของสบู่ ซึ่งจะทำให้สบู่จะมีกลิ่นของน้ำมันละหุ่งอยู่ด้วย และข้อควรระลึกถึงเสมอว่าน้ำมันละหุ่งดิบจะมีโปรตีนที่เป็นพิษ ดังนั้นเวลาเลือกซื้อน้ำมันละหุ่งควรให้แน่ใจว่าเป็นน้ำมันที่ถูกกำจัดพิษออกไปหมดแล้ว
น้ำมันชนิดอื่นๆ
ยังมีน้ำมันพืชอีกหลายชนิดที่สามารถนำมาเป็นส่วนผสมเพื่อทำสบู่ได้ เช่นน้ำมัน Canola ซึ่งจะมีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นหลัก คือ Oleic acid ประมาณถึง 60% ซึ่งเราสามารถนำมาทดแทนเพื่อลดสัดส่วนการใช้น้ำมันมะกอกที่มีราคาแพงได้, น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน (Sunflower oil) ประกอบไปด้วย กรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นหลักเช่นกัน คือ Oleic acid ประมาณ 30%, Linoleic ประมาณ 59% และกรดไขมันอิ่มตัวพวก Palmitic acid และ Stearic acid เล็กน้อยรวมกันประมาณ 10% แต่จุดเด่นของน้ำมันดอกทานตะวันอีกอย่างหนึ่งคือมี วิตามินอี สูงและราคาถูก และน้ำมันถั่วเหลือง (Soybean oil) เป็นน้ำมันพืชที่หาง่ายราคาถูกและก็สามารถนำมาเป็นส่วนผสมในสบู่ได้ ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นหลักเช่นกัน คือ Linoleic acid ประมาณ 51%, Oleic acid ประมาณ 23% และกรดไขมันอิ่มตัวเล็กน้อยรวมกันประมาณ 14 – 15%
เมื่อเราทราบถึงองค์ประกอบของกรดไขมันในน้ำมันต่างๆแล้ว ทำให้เราสามารถเลือกใช้และออกแบบสบู่ในคุณภาพและต้นทุนที่เราพึงพอใจได้ โดยสรุปได้ดังนี้พวกกรดไขมันอิ่มตัวเราจะได้จากน้ำมันมะพร้าว น้ำมันจากเม็ดปาล์มก็จะมีมีกรด Lauric acid เป็นหลักซึ่งมีคุณสมบัติทำให้สบู่มีความแข็ง เป็นฟองดี และมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดสูง แต่ใช้ในปริมาณมากๆจะทำให้ผิวหนังแห้ง และน้ำมันปาล์ม (เนื้อปาล์ม) จะมีพวก Palmitic acid สูงสบู่ก็จะมีความแข็งและเป็นครีมสูง ส่วนพวกกรดไขมันไม่อิ่มตัวก็จะได้จากน้ำมันมะกอก ซึ่งมีกรด Oleic acid สูง ซึ่งจะทำให้สบู่มีคุณสมบัติในการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น มีความสามารถในการทำความสะอาด และเนื้อสบู่จะมีลักษณะอ่อนนิ่มและเป็นครีม น้ำมันละหุ่ง ก็จะมีพวก Ricioloic สูง ก็จะทำให้สบู่มีความนุ่มลื่นชุ่มชื่นผิว มีฟองมาก และสบู่จะมีคุณสมบัติอ่อนนิ่ม และพวกน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเม็ดดอกทานตะวันก็จะมีพวก Linoleic acid สูง ก็จะมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดสูง และยังทำให้สบู่มีความนุ่มลื่นชุ่มชื่นผิว แต่ก็จะทำให้สบู่มีลักษณะที่อ่อนนิ่ม ทั้งหมดนี้เมื่อเรานำกรดไขมันชนิดต่างๆมาผสมกันในสัดส่วนต่างๆก็จะได้สบู่ที่มีคุณสมบัติดังที่เราพอใจได้ และนี่คือข้อดีของสบู่แฮนด์เมดคือ ออกแบบได้ดังใจนึก แต่ละก้อนล้วนมีเอกลักษณ์ประจำตัว ที่สำคัญคือไม่มีสารที่เราไม่รู้ผสมอยู่ด้วย ดังนั้นจึงปลอดภัยไร้กังวล
- links งานสบู่ทั้งหมด
ตอนที่ 1 พื้นฐานการทำสบู่แฮนด์เมด ตอนที่ 2 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบวิธี Melt and Pour, ตอนที่ 3 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process, ตอนที่ 4 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Hot Process, ตอนที่ 5 ปฏิกิริยาเคมี และคุณภาพของสบู่แฮนด์เมด, ตอนที่ 6 คุณสมบัติของน้ำมันและคุณลักษณะสบู่แฮนด์เมดที่ได้จากน้ำมันและไขมัน ตอนที่ 7 อาหารผิว ประโยชน์และวิธีใช้ในสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process ตอนที่ 8 สีสันจากธรรมชาติ ในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process ตอนที่ 9 การใส่กลิ่นในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process