นอกเหนือจากคุณประโยชน์จากสารอาหารผิวในสบู่โฮมเมดแบบ cold process แล้ว สีสันจากธรรมชาติ และลวดลายนับเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของสบู่ธรรมชาติที่ผลิตด้วยวิธีแบบนี้ แต่สีสันที่เห็นเด่นสะดุดตาเหล่านั้นโดยมากมักมาจากสีสังเคราะห์กับพวกอินออร์แกนิคส์เสียเป็นส่วนมาก แต่เราคงจะไม่พูดถึงกันหละ เพราะงานของเราจะเสนอเฉพาะสิ่งที่เป็นธรรมชาติซึ่งเป็นคอนเซบของเจ้าของเวปไซต์เลย ซึ่งเราเองก็ชอบด้วยเพราะสบู่ที่เราทำไม่ใส่สีอะไรที่เป็นสารสังเคราะห์เลยเพราะเรามีปรัชญาในการทำสบู่ว่า เราทำสบู่เพื่อใช้ไม่ได้ทำมาเพื่อโชว์ ดังนั้นสีสันจัดจ้านสะดุดตาเราจึงไม่ทำ ซึ่งสบู่ในตลาดทั่วๆร้อยละ 90 เลยก็แทบจะกล่าวได้จะผสมสีที่มาจากการสังเคราะห์จากสารเคมีและพวกอนินทรีย์วัตถุ แม้ว่าสารสังเคราะห์พวกนี้จะได้การรับรองว่าปลอดภัยสามารถใช้ในเครื่องสำอางและอาหารได้ก็ตาม ซึ่งในความเห็นของเรามันคงยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่เพื่อความสวยงามและน่าใช้เราก็จะต้องมีสีสันและลวดลายบ้างเพื่อไม่ให้สบู่เรามองดูหน้าเบื่อเกินไปมันจะได้น่าใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงเราจะใช้เฉพาะสีที่มาจากธรรมชาติและเป็นพวกสารอินทรีย์เท่านั้น เพราะสบู่ของเราผลิตมาจากวัตถุดิบคุณภาพสูงซึ่งสีสังเคราะห์เหล่านั้นอย่าหวังจะได้เข้ามาปนเปื้อนในสบู่ชั้นยอดของเรา
สีสังเคราะห์และสีจากธรรมชาติ
มนุษย์รู้จักใช้สีมาแล้วนับพันปีแล้วโดยใช้สีในตอนแรกๆจะเป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติทั้งหมดอันเนื่องจากยังไม่มีความรู้เรื่องเคมีสังเคราะห์ ในสมัยก่อนมนุษย์ได้สีมาจากพวกพืช,สัตว์ และพวกแร่ธาตุจากธรรมชาติ จนในถึงปี ค.ศ.1856 ชาวอังกฤษได้รู้จักสร้างสีสังเคราะห์ได้อย่างบังเอิญ สีแรกที่เป็นสีสังเคราะห์คือสีม่วง หลังจากนั้นมาสีจากธรรมชาติก็ได้ถูกแทนที่ด้วยสีสังเคราะห์ และใช้กันอย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบัน อย่างที่รู้กัน อย. อนุญาตให้ใช้สีสังเคราะห์ได้ทั้งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง แต่ก็ต้องใช้ภายใต้ข้อกำหนดปริมาณของสารตะกั่วและสารหนูในขอบเขตที่ยอมรับได้ แต่สารที่ต้องสังสัยว่าเป็นสารก่อมะเร็งหลายตัวก็ยังไม่ได้ถูกต้องห้ามซึ่งก็ยังเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภค ถ้าลดความต้องการให้สบู่มีสีสันฉูดฉาด สบู่ของเราก็สามารถใช้เฉพาะสีจากธรรมชาติได้ ซึ่งสบู่ที่ใช้สีจากธรรมชาติไม่ได้มีแค่สีทึมๆ เทาๆ เท่านั้น แต่ยังมีหลายโทนสีให้เลือกใช้ เช่น สีจากพืชผัก พวกบีท, เชอร์รี, บลูเบอร์รี ซึ่งพวกนี้จะให้สีออกในโทนแดง พวกที่เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศที่บดเป็นผง พวกนี้ก็จะมีหลากหลายสี สามารถใช้เป็นสครับได้ และยังให้กลิ่นที่หอมอีกด้วย สีที่สกัดจากสมุนไพรต่างๆจะด้วยวิธีแช่น้ำแล้วคั้นเอาสี หรือใช้ต้มสกัดเอาสีก็ได้

สีจากสมุนไพรและเครื่องเทศชนิดผง
การใส่สมุนไพรและเครื่องเทศสีสันต่างๆลงไปในสบู่นับเป็นเรื่องน่าสนุก เพราะสมุนไพรและเครื่องเทศเหล่านี้นอกจากจะมีสีสันแล้วยังมีกลิ่นหอม พร้อมยังทำให้สบู่มีสครับอีกด้วย ผงอบเชย กานพู ลูกจันทร์ ซึ่งจะเป็นที่นิยมและมีกลิ่นหอมออกแนวแขกๆด้วย ผงกระหรี่ ขมิ้น และหญ้าฝรั่น จะมีเชดสีออกเหลือง ชาดจะมีสีแดง ซึ่งเราสามารถนำสีเหล่านี้มาเล่นด้วยเทคนิค Swirl ได้
การใส่สมุนไพรสีสันต่างๆลงไปในสบู่โดยตรงจะทำให้จับกันเป็นก้อนแลดูไม่สวยงาม เรามีเทคนิคเล็กๆน้อยๆที่จะมาบอกคือ แบ่งสบู่ที่ผสมแล้วมาเล็กน้อยเพื่อที่จะผสมกับสมุนไพรผง หรือจะใช้น้ำมันอะโวคาโดหรือน้ำมันมะกอกก็ได้ น้ำสมุนไพรหรือเครื่องเทศสีที่เราต้องการ ผสมให้เข้ากันก่อนจึงค่อยนำไปผสมกับสบู่ที่เหลือจะทำให้สมุนไพรหรือเครื่องเทศเหล่านี้ไม่จับกันเป็นก้อน ปริมาณที่ใช้ขึ้นกับว่าเราต้องการสีเข้มหรืออ่อนมากขนาดไหนต้องทดลองเอา แต่เรามีคำแนะนำว่าควรใส่ในช่วง 15-60 กรัมต่อสบู่ 5 กิโลกรัม ถ้ามากกว่านั้นผิวหนังอาจระคายเคืองเนื่องจากเครื่องเทศได้ ซึ่งจะแก้ไขไม่ได้ต้องทิ้งอย่างเดียว
การสกัดสีจากสมุนไพร เครื่องเทศ พืชต่างๆ ด้วยวิธีการแช่ในน้ำอุ่นและการต้ม
ดอกไม้ ใบไม้ ของพืชต่างๆจะเป็นแหล่งสีอย่างดี เพียงแต่เรานำใบไม้หรือดอกไม้เอามาหั่นให้เป็นชิ้นละเอียดๆ นำไปแช่ในน้ำต้มประมาณน้ำต้ม 500 กรัมต่อใบพืชหรือดอกไม้ 200 กรัม ปิดฝาแล้วแช่ทิ้งไว้ประมาณ 6 – 8 ชั่วโมงจากนั้นจึงนำมากรองและนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อนำไปใช้ต่อไป ส่วนเมล็ด เปลือก และรากไม้เรามักจะใช้วิธีต้มเอาสี โดยนำรากหรือเปลือกไม้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆนำไปแช่ในน้ำให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นนำไปต้มในน้ำปล่อยให้เดือดอย่างช้าๆ หลังจากเดือดแล้วให้ลดไฟลงและเคี่ยวต่อไปจนน้ำงวดลงเหลือ 1 ใน 4 ส่วน จากนั้นปิดฝากันการระเหย ยกลงจากเตาและแช่ต่อไปอีก 10 นาที จากนั้นจึงกรองและนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อรอการนำมาใช้ต่อไป และควรนำมาใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
วิธีใช้เราจะใส่น้ำสีเหล่านี้ด้วยปริมาณเดียวกันกับน้ำที่เราใช้น้ำละลายด่าง (ใช้แทนน้ำ) แต่พึงระลึกไว้ว่าสีเหล่านี้จะไม่ให้สีเข้มข้นและสดใสเหมือนสีที่มาจากสารสังเคราะห์ และจะจางลงเมื่อผสมกันกับด่าง และสีพวกนี้เราไม่สามารถแนะนำได้ว่าควรใส่เท่าไรจึงจะได้สีออกมาแบบใด เราจะต้องทดลองด้วยตัวเองและจดจำบันทึกไว้ว่าสีที่เราพึงพอใจนั้นเราได้ใส่อะไรไปปริมาณเท่าไร เพราะมีปัจจัยหลายสิ่งที่เราต้องควบคุม
เครื่องมือที่จำเป็นในการใช้ทำสบู่หาซื้อได้จาก LAZADA

สีของน้ำมันจากพืช น้ำมันหอมระเหย สารสกัดจากพืช
น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันละหุ่ง เหล่านี้เป็นน้ำมันที่ทำให้สบู่เพิ่มคุณประโยชน์สำหรับผิว และยังสามารถให้สีอีกด้วยซึ่งสีที่ได้มาจะเป็นสีขาวขุ่นๆ จนถึงเหลืองซีดๆ น้ำมันหอมระเหย (EO) เอสเซนเชี่ยลออยล์ต่างๆ นอกจากจะมีหน้าที่หลักในการให้กลิ่นแล้ว บางตัวยังให้สีอีกด้วย สารสกัดจากพืชต่างๆ เช่น หัวบีทจะให้สีออกแดง ฟักข้าวจะให้สีส้ม ขมิ้นจะให้สีเหลือง คลอโรฟิลด์ในพืชก็จะให้สีเขียว เป็นต้น การใช้สารสกัดจากพืชต่างๆพวกนี้ต้องตรวจสอบให้ดีว่าผลิตด้วยกระบวนการใด และให้แน่ใจว่าเขาใช้น้ำมันเป็นตัวทำละลาย เพราะถ้าเป็นการสกัดโดยใช้น้ำเป็นตัวทำละลายแล้ว บริษัทส่วนมากจะใช้ propylene glycol ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ ถ้าเราต้องการหลีกเลี่ยงสารสังเคราะห์ในสบู่ของเราก็ควรหลีกเลี่ยง จากประสบการณ์ของเราสารตัวนี้จะเกิดเร่ง trace ด้วย
สีจากสารอนินทรีย์จากธรรมชาติ
สีจากสารอนินทรีย์จากธรรมชาติ ซึ่งจะหมายถึงพวกแร่ธาตุจากธรรมชาติที่อยู่ใต้ดินซึ่งเกิดจากของเหลวใต้ดินพวกแมกมา เมื่อเย็นตัวลงกลายเป็นผลึกแร่สะสมและทำปฏิกริยากันในรูปต่างๆ ซึ่งมนุษย์รู้จักใช้สีพวกนี้มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว ในวงการเครื่องสำอางและวงการทำสบู่ก็ได้มีการนำแร่ให้สีพวกนี้มาใช้อย่างกว้างขวาง และ อย. รับรองว่ามีความปลอดภัย แร่ที่ให้สีพวกนี้ได้แก่ แร่ไมก้า หินเชล หินพัมมิคส์ เคลย์ เหล็กออกไซด์ ไทเทเนียมไดออกไซด์ อัลตรามารีน (Ultramarine) อัลตร้ามารีน คือสีที่ได้จากการบดอัญมณีชื่อ ลาพีส ลาซูรี ซึ่งเป็นหินที่ประกอบไปด้วยแร่ 3 ชนิดคือ แร่ไพไรท์ แร่แคลไซท์ แร่ลาซูไรท์ เมื่อรวมกันแล้วจะมีสีน้ำเงินเข้ม อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์สีอัลตรามารีนขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ตามนักทำสบู่หรือบริษัททำสบู่ชื่อดังหลายแหล่งก็นิยมใช้สีที่เกิดจากแร่ธาตุพวกนี้ แต่ก็มีหลายคนอีกเหมือนกันที่ไม่ยอมใช้ด้วยเหตุผลของความไม่ปลอดภัย ด้วยข้อกังขา เช่น ไมก้า และ พัมมิคส์ พวกนี้จะมี free silica เมื่อเราสูดเข้าไปในระบบหายใจของเราจะทำให้เรามีปัญหา และแร่ธาตุพวกนี้แม้มาจากธรรมชาติอาจจะทำให้ผิวเราระคายเคืองได้ และอีกอย่างหนึ่งแร่ธาตุพวกนี้มักผสมด้วยสารสังเคราะห์มาปะปนด้วยเสมอจะหาบริสุทธิ์แท้ยาก ถ้าเราจะทำสบู่เราให้เป็นสบู่ธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์คงต้องพิจารณาผู้ผลิตแต่ละรายให้ถี่ถ้วน
สีมุก
สีมุกเกิดจากการที่แร่ไมก้าถูกเคลือบด้วยเหล็กออกไซด์และไทเนียมไดออกได์เป็นชั้นๆขนานกันไป เมื่อถูกแสงแต่ละชั้นที่ถูกเคลือบไว้ก็จะให้การสะท้อนและการดูดซับแสงหรือการส่องผ่านแสงที่ต่างกันทำให้เกิดการระยิบระยับได้ โดยเหล็กออกไซด์จะให้สีบลอนด์ และไทเทเนียมไดออกไซด์จะให้สีเอิร์ทโทนที่ค่อนข้างสว่างๆ ผู้ผลิตมักใส่ในสีเพื่อให้เกิดการสะท้อนแสงและสีทำให้สบู่มีความสะดุดตาขึ้นมาทันที ในธรรมชาติแล้วไมก้าจะถูกเคลือบด้วยเหล็กออกไซด์และไทเทเนียมไดออกไซด์ไม่ได้ง่ายๆ แต่เราก็มีการสังเคราะห์ออกมาได้เป็นสีมุกสังเคราะห์ แม้แต่บริษัทสบู่ใหญ่ๆที่ประกาศตัวว่าใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติก็ยังคงใช้สีมุกสังเคราะห์
ในส่วนตัวเราทำสบู่มักจะไม่นิยมใช้สีที่มาจากแร่ธาตุเพราะด้วยเหตุผลว่าแร่ธาตุต่างๆแม้มาจากธรรมชาติและถูกรับรองว่าปลอดภัย แต่เรายังคิดว่ามันอาจเจือปนสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผิว และบางตัวประกอบด้วยซิลิกาอิสระซึ่งจะมีผลต่อระบบหายใจเราได้เมื่อเราสูดเข้าไปในระบบหายใจ (หมายถึงตอนที่เราทำ) อย่างไรก็ตาม อ.ย. ก็รับรองว่าปลอดภัยสามารถใช้ในเครื่องสำอางได้ แต่ในอดีตมีการเคยนำสีที่มีสารตะกั่วผสมอยู่ด้วยมาใช้ทำเครื่องสำอางทำให้ผู้ใช้ถูกพิษของสารตะกั่วและทำให้หน้าดูแก่มากทั้งที่มีอายุอยู่ในวัยรุ่น บางคนถูกสารพิษมากถึงกับเสียชีวิต ดังนั้นเราจึงพิจารณาแล้วเห็นควรใช้สีจากพืชสมุนไพรดีกว่า
สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดตามเรื่องราวของสบู่ในตอนต่างๆจากลิ้งค์ข้างล่างได้เลยคะ ตอนต่อไปจะเสนอเรื่องกลิ่น
- link งานสบู่ทั้งหมด
ตอนที่ 1 พื้นฐานการทำสบู่แฮนด์เมด ตอนที่ 2 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบวิธี Melt and Pour, ตอนที่ 3 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process, ตอนที่ 4 การทำสบู่แฮนด์เมดแบบ Hot Process, ตอนที่ 5 ปฏิกิริยาเคมี และคุณภาพของสบู่แฮนด์เมด, ตอนที่ 6 คุณสมบัติของน้ำมันและคุณลักษณะสบู่แฮนด์เมดที่ได้จากน้ำมันและไขมัน ตอนที่ 7 อาหารผิว ประโยชน์และวิธีใช้ในสบู่แฮนด์เมดแบบ Cold Process ตอนที่ 8 สีสันจากธรรมชาติ ในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process ตอนที่ 9 การใส่กลิ่นในสบู่แฮนด์เมด แบบ Cold Process
ส่วนผสมของการทำสบู่แฮนด์เมดด้วยวิธี Melt and Pour
น้ำมัน วนิลลา หาซื้อได้จากไที่ไหนค่ะ
ร้านเคมีภัณฑ์ เวปเขา http://www.chemipan.com จ้า
ฮงฮวดก็มีคะ เลือกเอาอันที่เป็น EO นะคะ ส่วนมากจะเป็นกลิ่นสังเคราะห์