ภูเวียงเมืองเก่า ศาลเจ้าจอมปากช่อง พัทยาสองโสภิณ เกาะกุดหินหาดสวรรค์ ศรัทธามั่นหลวงปู่ธีร์ ชมวิถีถิ่นควายไทย
ภูเวียง เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบทุกทิศทางคล้ายวงรี บางคนว่าภูมิประเทศคล้ายรูปหมีโคล่า มีช่องทางเข้าและออกทางเดียว เป็นชัยภูมิที่เหมาะแก่การป้องกันข้าศึกแต่ถ้าข้าศึกบุกเข้ายึดได้ก็ไม่มีทางหนีเหมือนกัน มีลำน้ำบองเป็นลำน้ำสายหลัก ซึ่งประกอบด้วยห้วยสาขาหลายสายไหลมาจากทางอุทยานแห่งชาติภูเวียงรวมกันเป็นน้ำบองไหลออกทางช่องเขาขาดบริเวณศาลเจ้าจอมลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์บริเวณบ้านดินดำ อีกทั้งอำเภอภูเวียงนี้ยังมีพื้นที่ติดกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์อีกด้วย ทำให้มีภูมิทัศน์ที่งดงาม และเมืองภูเวียงยังเป็นเมืองเก่ามาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้างยังครอบครองดินแดนถิ่นอีสานทั้งหมด ปัจจุบันนี้ภูเวียงมีชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งคือเป็นแหล่งขุดค้นพบไดโนเสาร์ที่สำคัญ และทางราชการได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ศาลเจ้าจอมนรินทร์ ถิ่นไดโนเสาร์ล้านปี อากาศดีอุทยานเด่น เป็นแหล่งอารยะธรรม เลิศล้ำภูตากา ตาดฟ้าผาชมตะวัน มหัศจรรย์ขุนเขา เวียงเก่าเมืองน่าอยู่
ภูเวียง เมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านซ้าง
เมืองภูเวียง เริ่มก่อตั้งเป็นชุมชนขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2300 โดยมีเรื่องเล่าว่าคนกลุ่มแรกที่เข้ามารวมกันอยู่เป็นชุมชนหมู่บ้าน เป็นกลุ่มของพรานป่าที่มีผู้นำชื่อนายสิง พรานสิงเดิมพื้นเพเป็นคนเมืองภูเขียวได้เข้ามาล่าสัตว์อยู่ในเขตหุบเขาภูเวียงแห่งนี้ และเห็นว่าที่แห่งนี้มีน้ำท่า และสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ดีเหมาะสมที่จะตั้งถิ่นฐาน จึงได้ชวนสมัครพรรคพวกจากบ้านข่าเชียงพิณ (บ้านแท่นในปัจจุบัน) ประมาณ 10 ครอบครัวตั้งเป็นชุมชนขึ้นในบริเวณด่านช้างชุม ภายหลังทางฝ่ายอาณาจักรล้านซ้างได้แต่งตั้งให้พรานสิงเป็นเจ้าเมืองภูเวียงชื่อ กวนทิพย์มนตรี โดยต้องส่งบรรณาการเป็นผ้าขาวแก่อาณาจักรล้านซ้าง เวียงจันทน์ ต่อมาได้มีผู้คนเดินทางมาจากทางเมืองยโสธร เมืองจำปาสัก และเมืองเวียงจันทน์เข้ามาอยู่รวมด้วย อาณาจักรล้านซ้างในสมัยที่ก่อตั้งเมืองภูเวียงนี้ได้แยกออกมาเป็น 3 อาณาจักรแล้วอันเนื่องมาจากการแย่งชิงกันของราชวงศ์คือ อาณาจักรล้านซ้าง หลวงพระบางโดยมีพระเจ้ากิ่งกิสราช เป็นองศ์ปฐมกษัตริย์ อาณาจักรล้านซ้าง เวียงจันทน์ มีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 เป็นองศ์ปฐมกษัตริย์ และสุดท้ายอาณาจักรล้านซ้าง จำปาสัก พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูล เป็นองศ์ปฐมกษัตริย์
เมืองภูเวียง สัณนิษฐานว่าน่าจะก่อตั้งในช่วงสมัยพระเจ้าศิริบุญสารเจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านซ้าง เวียงจันทน์ ในขณะนั้นเวียงจันทน์ได้เกิดการขัดแย้งกันระหว่างพระเจ้าศิริบุญสารกับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่คือพระวอกับพระตาซึ่งทั้งสองคนเป็นพี่น้องกัน พระวอกับพระตาจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกอพยพไพร่พลข้ามแม่น้ำโขงมาบูรณะเมืองนครเวียงจำปากาบแก้วบัวบาน (ซึ่งเดิมเป็นเมืองเก่าสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต เวียงจันทน์ ของอาณาจักรล้านซ้างสมัยที่ยังไม่แยกจากกันเป็น 3 เมือง) หลังจากบูรณะเมืองเสร็จแล้วพระวอพระตาจึงตั้งชื่อเมืองขึ้นใหม่ว่า เวียงใหม่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (เมืองหนองบัวลำภูในปัจจุบันนี้) ประกาศตัวเป็นเอกราชไม่ขึ้นต่อใคร มีกษัตริย์ปกครอง และตรากฎบัญญัติของตัวเอง โดยมีเมืองหน้าด่านคือ นาด้วง ภูเวียง ผาขาว วรรณา ตอนนั้นเมืองภูเวียงได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านของเวียงใหม่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ในเมืองภูเวียงเองเจ้าเมืองภูเวียง กวนทิพย์มนตรี ได้เสียชีวิตลง และได้แต่งตั้งให้ท้าวศรีสุธอผู้เป็นน้องชายขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน
ต่อมาในช่วงประมาณปี 2310 พระเจ้าศิริบุญสารยกทัพเข้ามาตีเวียงใหม่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานของพระวอพระตา ต่อสู้กันอยู่ 3 ปีจึงยึดเมืองได้ และทำให้พระตาได้เสียชีวิตในสนามรบ หลังจากพ่ายแพ้พระวอได้นำไพร่พลหลบหนีไปพึ่งพาบารมีของเมืองจำปาสัก ต่อมาพระวอก็ได้แยกตัวออกมาตั้งเมืองที่ดอนมดแดง ในจังหวัดอุบลราชธานีปัจจุบันและขอขึ้นตรงกับเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) ต่อมาปี 2321 เจ้าศิริบุญสาร แห่งเวียงจันทน์ยังแค้นไม่เลิก ยกทัพเข้าตีพระวออีกครั้งที่ดอนมดแดง เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินพระองค์ทรงโปรดให้ พระยาจักรี ยกทัพมาช่วยพระวอ และตามตีกองทัพของพระเจ้าศิริบุญสารไปจนยึดเวียงจันทน์ได้ ท้าวศรีสุธอเจ้าเมืองภูเวียงจึงได้เข้าสวามิภักดิ์กับกรุงธนบุรีนับตั้งแต่นั้นมา

เจ้าจอมนรินทร์ ยอมตายแต่ไม่ยอมแพ้
ในช่วงปี พ.ศ. 2369 – 2371 เมืองเวียงจันทน์ในขณะมีเจ้าอนุวงศ์ปกครองอยู่ เห็นว่าทางกรุงเทพฯมีศึกติดพันหลายด้าน และเหล่าแม่ทัพนายกองล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่เก่งกล้าสามารถเหมือนสมัยก่อน ในช่วงเดือนตุลาคม 2369 จึงประกาศอิสรภาพหรือแข็งเมือง และยกพลเข้าตีกรุงเทพมหานครหวังจะยึดเอาเมืองให้ได้ โดยการชักชวนเกลี้ยกล่อมและรวบรวมหัวเมืองต่างๆให้ร่วมมือกันโจมตีกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะหัวเมืองทางภาคอีสานเจ้าอนุวงศ์ได้ส่งขุนนางและทหารเข้าเกลี้ยกล่อมให้เข้าร่วมโจมตีกรุงเทพมหานครด้วย โดยมี 2 เมืองคือเมืองนครพนมและเมืองจัตุรัสเข้าร่วมมือด้วยอย่างแข็งขัน อีก 9 เมืองเข้าร่วมอย่างไม่เต็มใจคือ ขุขันธ์ สระบุรี หล่มสัก ชนบท ยโสธร สุรินทร์ ปักธงชัย ขอนแก่น สกลนคร และอีก 6 เมืองไม่เข้าร่วมคือ เขมราฐ กาฬสินธุ์ ภูเขียว ภูเวียง ชัยภูมิ และหล่มสัก เจ้าเมืองเหล่านี้ที่ไม่เข้าร่วมถูกเจ้าอนุวงศ์สั่งประหารชีวิตทั้งหมด ภายหลังเจ้าเมืองขุขันธุ์ก็ถูกสั่งประหารด้วยเช่นกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมาหลังจากประกาศการกู้ชาติได้ 5 เดือนเจ้าอนุวงศ์บุกยึดเมืองโคราช และเคลื่อนกองกำลังต่อไปจนถึงสระบุรี ทางกรุงเทพมหานครจึงทราบข่าวเจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏ
หลังจากที่ทางกรุงเทพฯทราบข่าวเจ้าอนุวงศ์ตั้งตัวเป็นกบฎแล้ว สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าให้จัดกองทัพออกปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ถึงห้าทัพใหญ่โดยเกณฑ์ไพร่พลจากทั่วทุกสารทิศตั้งแต่เหนือจรดใต้บุกเข้าสู่อีสาน 5 ทิศทางโดยมีทัพหลวงคือทัพของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยกทัพเข้าทางสระบุรี อีกทัพหนึ่งที่มีผลงานเด่นคือทัพของพระยาราชสุภาวดียกทัพไปทางโคราช เข้าตี เมืองพิมาย อุบล จำปาสัก นครพนม แล้วเข้าไปพบกันที่เวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าวว่าทางกรุงเทพฯไหวตัวและยกทัพมาปราบจึงได้ถอยทัพจากสระบุรี กวาดต้อนไพร่พลกลับเวียงจันทน์โดยวางกำลังเอาไว้ตีประทะตลอดแนวทาง ด่านยุทธศาสตร์สำคัญก่อนที่จะถึงเวียงจันทน์คือเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน(หนองบัวลำภู) ส่วนทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรก็ตามตีจนมาถึงเมืองภูเวียงเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิที่ดี จึงได้หยุดทัพหลวงไว้ที่นี่ และส่งกองกำลังเข้าตีเมืองหนองบัวลำภู
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ได้แต่งตั้งให้เจ้าเมืองจัตุรัส พระยานรินทร์สงครามซึ่งมีความจงรักภักดีต่อเจ้าอนุวงศ์เป็นแม่ทัพอยู่รั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ส่วนตัวพระองศ์เองได้นำไพร่พลเดินทางกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ สมรภูมิแห่งนี้เป็นสมรภูมิที่ต่อสู้กันดุเดือดที่สุด อันเนื่องมาจากพระยานรินทร์สงครามเป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถ มีวิชาคาถาอาคม และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ต่อสู้จนเหลือทหารเพียง 6 คน และสุดท้ายก็พลาดท่าหล่นลงมาจากหลังม้าจึงถูกทหารไทยจับตัวส่งกรมพระราชวังบวรฯที่ทัพหลวง เมืองภูเวียง กรมพระราชวังบวรฯทราบว่าพระยานรินทร์สงครามเป็นคนมีความสามารถในการสู้รบจึงคิดจะชุบเลี้ยงไว้ แต่พระยานรินทร์สงครามไม่เพียงแต่ไม่สนใจใยดี และยังตอบกลับมาว่า “เมื่อเกิดเป็นชายชาติทหาร ถ้าแม้นเสียทีก็จะขอยอมตายไม่ยอมอยู่เป็นคน ขอให้ท่านฆ่าเสียให้เป็นผียังดีเสียดีกว่าอยู่เป็นคน” ดังนั้นกรมพระราชวังบวรจึงสั่งประหารชีวิต พระยานรินทร์สงคราม แต่ด้วยความที่พระยานรินทร์เป็นคนที่มีคาถาอาคมแก่กล้า ฟัน แทง ไม่เข้า กรมพระราชวังบวรจึงให้เอาตัวไปผูกติดกับต้นไม้และใช้ช้างแทงจนตาย ณ.ที่ต้นยางใหญ่ใกล้กับหนองน้ำ “บุ่งกกแสง” ปัจจุบันอยู่บริเวณทางโค้งห่างจากศาลเจ้าจอมไปประมาณ 100 เมตร ต่อมามีการสร้างศาลขึ้นเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญ และความเป็นจอมคนของพระยานรินทร์สงคราม เรียกศาลเจ้าจอม หรือปู่จอมที่คนภูเวียงและประชาชนทั่วไปให้นับถือสักการบูชา ตั้งอยู่บริเวณช่องเขาทางเข้าไปอำเภอเวียงเก่าบริเวณใกล้เคียงกับที่ซึ่งพระยานรินทร์สงครามถูกประหารชีวิต หลังจากเสร็จสิ้นศึกเจ้าอนุวงศ์แล้วเมืองภูเวียงก็กลับไปขึ้นกับไทยเหมือนเดิม
ต่อมาภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารราชการใหม่ เมืองภูเวียงถูกลดฐานะแค่เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นในปี พ.ศ.2445 ต่อมาอำเภอภูเวียงได้เจริญเติบโต และได้ย้ายออกจากหุบเขาภูเวียงบริเวณด่านช้างชุม ออกมาตั้งในพื้นที่ด้านนอกในบริเวณอำเภอภูเวียงปัจจุบันเพื่อการเดินทางคมนาคมได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และยังสามารถขยายเมืองออกไปเพื่อที่จะรองรับความเจริญในภายหน้า ต่อมาในปีพ.ศ. 2549 บริเวณเมืองภูเวียงเก่า(พื้นที่ในหุบเขา) ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอเวียงเก่า และในปีถัดมา พ.ศ. 2550 ได้ยกฐานะเป็นอำเภอเวียงเก่า


ตึกเหลือง ภูเวียงวิทยายน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชาชนได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง เมืองภูเวียงในฐานะที่เป็นหัวเมืองสำคัญก็ได้รับนโยบายด้านการศึกษามาด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2441 มีการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในเมืองภูเวียงโดยเจ้าเมืองภูเวียง พระศรีทรงไชย ได้บริจาคเงินส่วนตัวเดือนละ 10 บาทเพื่อจ้างครูมาทำการสอน และยังได้จัดระบบการเรียนการสอนขึ้นมาอีกด้วย ต่อมาข้าหลวงประสิทธิ์สรรพากรจากเมืองขอนแก่นได้ย้ายมาประจำที่เมืองภูเวียง และได้ช่วยเจ้าเมืองภูเวียงพัฒนาระบบการเรียนการสอน ตอนแรกๆโรงเรียนแห่งนี้ได้อาศัยเรียนที่วัดไปพลางๆก่อน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2445 เมืองภูเวียงถูกลดชั้นลงเป็นแค่อำเภอหนึ่งขึ้นตรงต่อเมืองขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2451 พระศรีทรงไชยซึ่งขณะนั้นก็ได้ถูกลดตำแหน่งลงเป็นนายอำเภอด้วยเช่นกันได้ปรับปรุงการเรียนการการสอนใหม่ และได้ขอจัดตั้งเป็นโรงเรียนชั้นมูลศึกษาผ่านไปทางมณฑลอุดร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้ามาเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2451 จึงกลายเป็นโรงเรียนชั้นมูลศึกษาแห่งแรกในจังหวัดขอนแก่น
ต่อมาในปี พ.ศ.2468 โดยอำมาตย์เอกพระยาบริหารราชการอาณาเขต (ยิ้ม นีละโยธิน) ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ของบประมาณจากทางราชการมาก่อสร้างอาคารเรียนเป็นเงินจำนวน 41,828 บาท 11 สตางค์ สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2473 อาคารเรียนนี้เป็นอาคาร 1 ชั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ตัวอาคารก่อด้วยอิฐโบกปูนทาด้วยสีเหลือง ชาวภูเวียงเรียกว่าตึกเหลือง ส่วนหลังคาเป็นกระเบื้องปัจจุบันมุงด้วยสีแดง สภาพในปัจจุบันยังมองดูสวยสดงดงามล้ำค่ามาก และยังคงใช้ประโยชน์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เฉพาะตัวอาคารเรียนนี้มีอายุถึง 85 ปี ต่อมาในปี 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าให้โรงเรียนนี้ชื่อว่า “โรงเรียนภูเวียงวิทยายน” รวมสิริอายุของโรงเรียนยาวนานถึง 107 ปี


เมืองภูเวียงในยุคปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น 2 อำเภอคือ อำเภอภูเวียงซึ่งตั้งอยู่นอกหุบเขาภูเวียงกับอำเภอเวียงเก่าซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอภูเวียงเดิม คนแถวนั้นเรียกกันว่าคนในภูกับคนนอกภูซึ่งแยกแยะกันด้วยภูมิประเทศจริงๆแล้วก็เป็นคนเมืองภูเวียงด้วยกันทั้งหมด เดียวนี้ภูเวียงได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาหลายๆจุดด้วยกัน พร้อมกันนี้ยังคงเป็นเส้นทางลัดไปยัง สปป. ลาว ได้ดังเดิมเช่นในอดีต และหวังว่าในอนาคตเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังเวียงจันทน์ สปป. ลาว เพื่อการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านสู่ประชาคมอาเซียนในปีหน้านี้ 2558 AEC
แหล่งไดโนเสาร์ล้านปี
ในปี พ.ศ. 2519 กรมทรัพยากรธรณีได้มีโครงการสำรวจแร่ยูเรเนียมบริเวณห้วยประตูตีหมา เทือกเขาภูเวียง แต่แทนที่จะพบแค่แร่ยูเรเนียม นายสุธรรม แย้มนิยม นักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีในสมัยนั้น ก็ยังพบกระดูกไดโนเสาร์ขนาดประมาณ 1 ฟุตในขณะนั้นสันนิษฐานว่าเป็นกระดูกต้นขาไดโนเสาร์ประเภทกินพืช การสำรวจขุดค้นจริงๆเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 กรมทรัพยากรธรณี โดยนายเชิงชาย ไกรคง นักธรณีวิทยา ได้นำคณะสำรวจซากบรรพชีวินของไทยและฝรั่งเศส เข้าสำรวจขุดค้นหากระดูกไดโนเสาร์บริเวณต้นห้วยประตูตีหมา เทือกเขาภูเวียง จากการสำรวจพบกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่หลายชนิด หลังจากนั้นก็มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์มาเรื่อยๆและมีหลุมสำรวจถึง 9 หลุมด้วยกัน ไดโนเสาร์ที่ค้นพบที่สำคัญและสร้างชื่อเสียงให้อำเภอภูเวียงคือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Phuwiangosaurus Sirindhornae เป็นชื่อสกุลของไดโนเสาร์ที่พบในชั้นหินหมวดหินเสาขรัว อายุประมาณ 130 ล้านปี อยู่ยุคครีเตรเชียสตอนต้น เป็นไดโนเสาร์ชนิดแรกที่มีการบรรยายลักษณะจากประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่ม Titanosaur เป็นโซโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว) ขนาดกลาง ความยาวประมาณ 15-20 เมตร ตัวอย่างต้นแบบพบที่ เทือกเขาภูเวียง อำเภอภูเวียง ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2525 และบรรยายลักษณะเมื่อปี 2537
ทางกรมทรัพยากรธรณีได้ขอพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองศ์ท่าน และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรหลุมขุดค้นที่ 2 ถ้ำเจีย ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532 จากการค้นพบครั้งนี้ทำให้ไดโนเสาร์ได้เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอภูเวียง สร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักอำเภอภูเวียงมากยิ่งขึ้น และทำให้จังหวัดขอนแก่นนำสัญลักษณ์ไดโนเสาร์ไปเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่นด้วยเช่นกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีได้ร่วมกันจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ภูเวียง ขึ้นที่พื้นที่สาธารณะโคกสนามบิน ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 17.00 นาฬิกา วันจันทร์หยุดทำการ 1 วัน นอกจากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงแล้ว ทางอำเภอเวียงเก่าได้จัดสร้างอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง ที่บ้านโนนจานเกี้ยว ตำบลเมืองเก่าพัฒนา อำเภอเวียงเก่า เอาไว้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป






พัทยาสองโสภิน เกาะกุดหินหาดสวรรค์
ปี 2509 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้สร้างเขื่อนอุบลรัตน์ขึ้นมา เขื่อนนี้เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 370 ตารางกิโลเมตร ณ.ระดับเก็บกักน้ำปกติ พื้นที่อ่างเก็บกักน้ำที่กว้างใหญ่นี้ได้ครอบคลุมหลายอำเภอรวมถึงเขตอำเภอภูเวียงด้วย ทำให้พื้นที่ด้านตะวันออกของอำเภอภูเวียงกลายเป็นพื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ภูมิทัศน์ทางด้านนี้จึงมีความสวยงามแบบวิวสวยริมน้ำ พร้อมทั้งเกิดชุมชนและธุรกิจริมน้ำขึ้นมาหลายแห่ง ที่สำคัญและเด่นที่สุดคือการดำเนินการจัดทำสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ “พัทยาสอง” ของ อบต. หนองกุงเซิน โดยการปรับปรุงพื้นที่บริเวณริมน้ำให้มีลักษณะคล้ายชายหาดพัทยา หรือบางแสน ซึ่งเราสามารถลงเล่นน้ำได้ มีบานานาโบท เรือถีบ มีเก้าอี้ผ้าใบและร่มไว้บริการสามารถนั่งได้ประมาณ 4 คน พร้อมกับมีการปูเสื่อพร้อมกับโต๊ะญี่ปุ่นสำหรับทานอาหารได้ ในอัตรา 100 บาท มีอาหาร ส้มตำ ไก่ย่าง และอื่นๆไว้บริการนักท่องเที่ยว บริการส่งถึงที่นั่ง บรรยากาศและอารมณ์ว่าประมาณนั่งอยู่ชายหาดพัทยา บางแสน ก็ไม่ปาน ในส่วนตัวคิดว่าดีกว่าทะเลพัทยาหรือบางแสนเสียอีกที่มองซ้ายก็เห็นตึกมองขวาก็เป็นตึก แต่ที่นี่มองไปรอบๆจะเห็นทุ่งหญ้าสีเขียว มองไปเบื้องหน้าก็เห็นภูเขา
ในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะวันสงกรานต์จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลกันมาเล่นน้ำสงกรานต์ที่นี่ สำหรับคนที่ไม่ชอบความวุ่นวายกรุณาหลีกเลี่ยงวันสงกรานต์ ทาง อบต. หนองกุงเซิน ยังได้จัดให้มีร้านค้า ร้านอาหาร และห้องน้ำสะอาดไว้ให้บริการอีกด้วย (เก็บเงินเพื่อทำความสะอาดและบำรุงรักษา 3 บาท) สร้างงานสร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้ทำธุรกิจเล็กๆน้อยๆอีกด้วย ขากลับอย่าลืมแวะอุดหนุนส้มปลาตองของกลุ่มสตรีแปรรูปปลาบ้านหนองโน ตำบลหนองกุงเซิน ร้านค้าของเขาอยู่ริมถนนทางเข้าพัทยา 2 นั่นแหละหาง่าย รสชาติอร่อยดี ส่วนข้าพเจ้าเองมักจะแวะซื้อซี่โครงไก่ปิ้งข้างถนนแถวนั้นไม้ละสิบบาทอร่อยดีชอบ
ชุมชนริมน้ำแถวนั้นยังมีของดีอยู่อีกหลายอย่าง เช่น หมู่บ้านอนุรักษ์ควาย ที่หมู่บ้านโนนอุดม และบ้านโนนสว่าง เขาว่ามีควายเป็นพันตัวเลย และหมู่บ้านเกาะกุดหิน เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนเกาะในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เราสามารถไปชมวิถีชีวิตของชาวบ้านเกาะกุดหินได้ซึ่งโดยมากมักประกอบอาชีพชาวประมง ซึ่งขณะนี้ทาง อบต. หว้าทอง พยายามจะส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่ง




ศรัทธาเลิศล้ำพุทธศาสนา
ภูเวียงมีวัดที่มีชื่อเสียงหลายวัดที่มีผู้คนนิยมเข้ามาทำบุญและท่องเที่ยวทั้งจากคนภูเวียงเองและคนจากต่างถิ่น เช่น
วัดถ้ำผาเกิ้ง
ปัจจุบันกลายเป็นพุทธอุทยานวัดถ้ำผาเกิ้ง ตั้งอยู่เชิงเทือกเขาภูเวียง บ้านโคกหนองขาม ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า วัดถ้ำผาเกิ้งเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ อันเนื่องจากพระอาจารย์สุบรรณ์ สิริธโร ได้เดินธุดงศ์มาพบสถานที่แห่งนี้ในปี 2537 และได้เล็งเห็นว่าสถานที่นี้มีความร่มรื่น เงียบสงบ เหมาะสำหรับเป็นที่ศึกษาธรรม ท่านจึงจำพรรษา ณ. แห่งนี้ และได้มีการเทศนาสั่งสอนญาติโยม จนทั่งญาติโยมเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงมีการก่อสร้างศาสนวัตถุขึ้นมา ตอนแรกๆก็ยังไม่มีอะไรมาก มีแค่เจดีย์ โดมเต่า และศาลาการเปรียญ ซึ่งก็ไม่ใหญ่โตอะไรมากดูสงบเงียบดี แต่ในยุคปัจจุบันมีการก่อสร้างมหาวิหารสัมฤทธิ์พร เป็นวิหารสูงสามชั้นข้างบนจะมีพระพุทธรูปปางสัมฤทธิ์พรองศ์ใหญ่ขนาดหน้าตักกว้าง 19 เมตรสูง 26 เมตรสามารถมองเห็นได้จากข้างล่างเขาขึ้นมา บริเวณรอบๆมหาวิหารจะมีรูปปั้นพญานาคหลายตนอยู่รอบๆ มหาวิหารฯ มีการวางศิลาฤกษ์วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 119 ล้านบาท



วัดป่ากิตติยานุสรณ์
เป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่โดยมีการเริ่มก่อสร้างในปี 2540 ด้วยการที่ชาวบ้านได้นิมนต์ให้หลวงปู่บุญจันทร์ กิตติญาโน ซึ่งเป็นพระที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา ขณะนั้นหลวงปู่จันทร์ได้กลับมาจากธุดงค์ไปจำพรรษาในบริเวณป่าช้าของทั้งสามหมู่บ้านคือบ้านท่าเสี้ยว บ้านโนนตุ่น และบ้านสงเปือย ที่นั่นหลวงปู่จันทร์ได้พาญาติโยมสร้างกุฏิหลังเล็กๆเพื่อใช้ในการกิจกรรมของสงฆ์ และต่อมาในปี 2544 หลวงปู่จันทร์ก็ได้ธุดงค์ออกจากวัดนี้ไป สภาพโดยทั่วไปของวัดป่ากิตติยานุสรณ์เป็นป่าไผ่เสียส่วนมาก การสร้างกุฏิ ศาลา ก็สร้างซ่อนอยู่ในป่าไผ่ทำให้มีบรรยากาศเงียบสงบและร่มรื่นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติธรรม วัดนี้มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดไปทั่วประเทศเนื่องมาจากมีดาราคู่ขวัญ ญาญ่า-ณเดชน์ มาศรัทธราและมาทำบุญที่วัดบ่อยๆ และกิจกรรมสำคัญๆของทางวัดก็มักจะมา อีกทั้ง ณเดชน์ก็เป็นคนขอนแก่นด้วย ทำให้เหล่าแฟนคลับติดตามมาทำบุญและมีความศรัทธาเลื่อมใสด้วย ปัจจุบันวัดป่ากิตติยานุสรณ์มีการก่อสร้างศาสนวัตถุจำนวนมาก เหมือนวัดทั่วไปเมื่อคนมีจิตศรัทธามากขึ้นก็จะเริ่มเห็นสิ่งก่อสร้างขึ้นมาในวัดค่อยๆใหญ่ขึ้นตามฐานะ วัดนี้ก็มีองศ์พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวเจดีย์มีสีเหลืองทองอร่าม ภายในเจดีย์ใช้ทำศาสนกิจได้ และขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างพระนอนยิ้มพุทธเมตตา เป็นพระปางไสยาสน์ สีขาว ขนาด 40 เมตร พร้อมอาคารเป็นฐานรองรับตั้งอยู่ในสระน้ำสวยงามมากแม้ตอนนี้ยังไม่เสร็จดี และข้างๆกันกำลังก่อสร้างเสาอโศก ลักษณะเปาเสาทรงกลมข้างบนจะเป็นสิงห์และเสมาธรรมจักร ตัวเสามีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดเสมาธรรมจักรประมาณ 21 เมตร ตอนที่ข้าพเจ้าไปยังสร้างไม่เสร็จ ตอนนี้ทางวัดก็บอกบุญสำหรับผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างศาสนวัตถุเหล่านี้อยู่



วัดถ้ำกวาง หรือวัดถ้ำศิลา
เป็นวัดประจำหมู่บ้าน บ้านโนนสวรรค์ อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันมีหลวงปู่ทองมา สุตธรรมโม เป็นเจ้าอาวาส วัดนี้ศาสนวัตถุมีไม่มาก มีตามปกติที่วัดควรจะมีแต่มีจุดเด่นที่ลานหินถ้ำกวางและถ้ำพระ ในสมัยก่อนคงเป็นที่อาศัยของบรรดาสัตว์ป่า มันลักษณะเป็นชะเวิกหินมากกว่า บริเวณนี้เป็นลานหินทรายขนาดใหญ่อยู่ในเทือกเขาภูเวียง เมื่อขึ้นไปที่ลานนี้จะมองเห็นหุบเขาภูเวียงได้ค่อนข้างชัดเจน ทางเดินจากวัดมาถึงลานหินแห่งนี้เป็นทางเดินผ่านป่า และลัดเลาะมาตามตีนเขา มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น มีความร่มรื่นและสงบเงียบ ที่นี่ไม่มีผู้คนมามากนักทำให้รู้สึกสงบร่มเย็น ไม่มีสิ่งก่อสร้างที่เกินความจำเป็นสำหรับวัด



พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ธีร์
วัดมิ่งเมืองพัฒนาราม เป็นที่เก็บรวมพระเครื่องของขลังและสิ่งของที่ชาวบ้านญาติโยมนำมาถวายหลวงปู่ธีร์สมัยที่มีชีวิตอยู่ หลวงปู่ธีร์เป็นพระที่เกจิอาจารย์ชื่อเสียงด้านเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคลต่างๆ ท่านยังเป็นนักสะสมพระเครื่อง พระพุทธรูป ทั้งของใหม่และเก่า และยังสะสมวัตถุโบราณ เช่น ระฆัง ข้อง ถ้วย โถ โอ ชาม ขันหมาก ถาด ไห เป็นต้นทำให้พิพิธภัณฑ์ของท่านมีของเก่าโบราณเยอะ ในปี 2500 ท่านได้สร้างวัดภูเวียงวนารามขึ้นที่ป่าช้าของหมู่บ้าน และต่อมาวัดได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดมิ่งเมืองพัฒนาราม วัดนี้ตั้งอยู่ที่บ้านนาก้านหลือง ตำบลภูเวียง อำเภอภูเวียง หลวงปู่ธีร์ท่านได้มรณะภาพเมื่อ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2549 คงเหลือไว้แต่ความทรงจำและความศัรทธาของคนภูเวียงอย่างไม่เสื่อมคลาย การเข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถขอเข้าชมได้ที่วัด
อำเภอภูเวียงและอำเภอเวียงเก่านับเป็นอำเภอที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีภูมิทัศน์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและมีชื่อเสียง ยังอีกหลายที่ที่ข้าพเจ้าไม่ได้เอ่ยถึง เช่น น้ำตกตาดฟ้า และน้ำตกทับพญาเสือ ถ้ำฝ่ามือแดง ผาชมตะวันก็สวยงามไม่แพ้ที่ใด ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง และหมู่บ้านเลี้ยงผึ้งก็มี อยากให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมเยียนเมืองภูเวียงที่ซึ่งไม่ได้มีดีแต่ไดโนเสาร์
การเดินทางและที่พัก
การเดินทางเข้าสู่อำเภอภูเวียง มาจากขอนแก่นตามถนนหมายเลข 12 (ถนนมะลิวัลย์) มาถึงอำเภอหนองเรือ ผ่านบริษัทน้ำตาลมิตรภูเวียง ประมาณไม่เกินกิโลเมตรจะเห็นทางสามแยก สังเกตง่ายมากจะเห็นไดโนเสาร์ยืนอยู่บนเกาะกลางถนน และจะมีร้านขายไก่ย่างอยู่เต็มสองข้างทางอร่อยทุกร้านไม่ต้องเลือก ให้เลี้ยวขวาเข้ามาตามถนนหมายเลข 2038 ทางไปหนองบัวลำภู อีกประมาณ 20 กิโลเมตรก็จะถึงอำเภอภูเวียง และตามทางหมายเลข 2038 ไปยังอำเภอเวียงเก่าอีกประมาณ 18 กิโลเมตรก่อนจะเข้าอำเภอเวียงเก่าจะผ่านช่องเขา บริเวณนั้นชาวบ้านเรียกว่าปากช่อง การเดินทางไปยังอำเภอภูเวียง นอกจากจะใช้บริการรถ 999 ของ บขส แล้วขณะนี้บริษัทนครชัยขนส่งก็ได้เปิดเส้นทางจากกรุงเทพมหานครไปยังภูเวียงแล้วสะดวกสบายมีรถวิ่งวันละ 3 เที่ยว ที่พักในอำเภอมีหลายแห่ง ราคาห้องพักประมาณ 500 – 550 บาทต่อคืนโดยเฉลี่ยคุณภาพดูดีใช้ได้ ไปถึงแล้วไม่ต้องกลัวหลงทางถามคนภูเวียงได้ทุกคน คนภูเวียงล้วนมีน้ำใจงาม
[google_map_easy id=”9″]