ทะเลจีนใต้ : การแย่งชิงอำนาจในเอเชีย
บทที่ 1 : ซากเรือ
ถ้าจะรอให้อ่านจบทั้งเล่มแล้วเล่าทีเดียวเลยคงจะมีชะตากรรมเหมือนเล่มอื่นๆคืออ่านจบแล้วมีเรื่องอื่นต้องทำเลยไม่ได้เล่า ดังนั้นเล่มนี้ The South China Sea: The Struggle for Power in Asia ของ Bill Hayton ขอเปลี่ยนมาเล่าเป็นตอนๆไปก็แล้วกัน
บทที่ 1 Wrecks and Wrongs นั้น Hayton ได้เริ่มเรื่องจากการขุดค้นของนักโบราณคดีเพื่อปูพื้นว่ามีคนเกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่ในบริเวณทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่เมื่อใด แต่ถ้าผมเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้จะตัดส่วนนี้ทิ้งทั้งหมดเพราะมันไม่ตอบคำถามสำคัญอะไรสำหรับเรื่องนี้มากนัก แน่นอนเรารู้ว่าสิ่งที่มีชีวิตที่พอจะเรียกได้ว่ามนุษย์คือพวก Homo erectus คือพวกที่เดินหลังตรงได้ในแถบนี้คือมนุษย์ชวา หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พบคือมีอายุอยู่เมื่อ 1.5 ล้านปีมาแล้ว มนุษย์ชวารุ่นนี้ไม่ได้มีอยู่ในชวาเท่านั้น หากแต่มีอยู่ในจีนด้วย แต่ยังไม่แน่นักว่ามนุษย์ชวาพัฒนาอารยะธรรมมาเป็นมนุษย์ทุกวันนี้หรือเปล่า
สิ่งที่น่าสนใจและมีความหมายจริงต่อเรื่องนี้น่าจะเริ่มเมื่อมีการค้นพัฒนาการของอารยะธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า ซึ่งในแง่นี้งานทางประวัติศาสตร์จะใช้อธิบายได้ดีกว่าโบราณคดี เรารู้กันแบบไม่ปะติดปะต่อว่าระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1-5 มีการค้ารุ่งเรืองขึ้นมาในบริเวณชายฝั่งทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากหลักฐานของจีนอาณาจักรแรกๆที่มีอิทธิพลในแถบนี้อยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเรียกว่าฟูนัน
ถึงอย่างนั้นก็ตาม Hayton (หน้า 11) กล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีใดๆที่จะพิสูจน์ว่ามีการค้าสำเภาจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนศตวรรษที่ 10”
ฟูนันเป็นจุดการค้าสำคัญ เพราะเรือสำเภาที่แล่นในแถบนี้ไปมาระหว่างตะวันออกและตะวันตกต้องแวะพัก Hayton บอกว่าเรือเดินทะเลเหล่านี้เดินทางไปมาระหว่างยุโรป อินเดียและคาบสมุทรมลายู บางทีขนส่งสินค้าทางบกผ่านคอคอดกระด้วยก่อนที่จะต่อลงทะเล (ข้อนี้ขอให้นักโบราณคดีไทยมาไขปริศนาดีกว่ามีหลักฐานว่าพวกเขาทำกันอย่างนั้นจริงๆหรือ)
เรื่องที่น่าสนใจจริงๆของบทที่ 1 นี้อยู่ที่หน้า 13 Hayton บอกว่าคนในอารยะธรรมจีนที่ควบคุมชายทะเลกับแผ่นดินใหญ่นั้นเป็นคนละพวกกัน พวกที่อยู่ด้านเหนือส่วนใหญ่มองเข้าหาแผ่นดินใหญ่ในขณะที่พวกที่อยู่ทางใต้มองออกไปข้างนอก(คือทะเล) และพวกเขาทำการค้าผ่านฟูนัน ซึ่งควบคุมการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราวๆ 3 ศตวรรษท่ามกลางการแข่งขันและแย่งชิงมากมาย เมื่อสิ้นฟูนัน อาณาจักรจามปาซึ่งอยู่ตอนกลางของเวียดนาม (ปัจจุบัน) ก็ขึ้นมาแทนที่ แต่แม้ว่าจามปาจะครอบงำการค้ากับจีนอยู่ในยุคสมัยของพวกเขาแต่ก็ไม่ได้ผูกขาดในเวลานั้นก็มีอาณาจักรทารูมาจากชวาตะวันตกและอื่นๆจากสุมาตราปรากฏขึ้นมาในเส้นทางการค้าด้วยเช่นกันแต่พวกนี้อยู่ในอิทธิพลของอินเดียมากกว่าใช้ขนบการปกครองแบบอินเดีย ไม่มีหลักฐานอะไรชัดเจนมากนัก แต่ดูเหมือนว่าอาณาจักรเหล่านี้ (รวมทั้งจามปา) ที่เรียกตัวเองว่าเป็น มณฑล (mandala) ติดต่อกับอินเดียมากกว่าจีน
ถ้าพูดถึงบรรดาอาณาจักรหรือมณฑลในอุษาคเนย์นั้นไม่มีใครละเลยบทบาทของศรีวิชัยไปได้ การค้นพบของนักโบราณคดีฝรั่งเศส Pierre Yves Manguin ในปี 1993 ยืนยันว่า ศรีวิชัยน่าจะมีศูนย์กลางตั้งอยู่แถบเมืองปาเลมบัง อินโดนีเซีย (พื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางอารยธรรมสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งหนึ่งทุกวันนี้กลายเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยไปเสียแล้ว) ราวๆปลายศตวรรษที่ 7 ราชวงศ์ถังของจีนสร้างสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับศรีวิชัยจนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเมืองหน้าด่านให้กับราชวงศ์ถังได้
การค้นพบซากเรือใบเดาที่พวกอาหรับใช้ที่เกาะปาเลตังอินโดนีเซียเมื่อปี 1998 ได้เครื่องปั้นดินเผาของจีนมากถึง 50,000 ชิ้นทำให้สรุปได้ว่า ราวๆกลางราชวงศ์ถังการค้าในทะเลจีนน่าจะรุ่งเรืองมาก ราชสำนักถังทำการค้าด้วยตัวเอง ขุนนางที่จะควบคุมการค้าได้ต้องได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเท่านั้น สถานการณ์แบบนี้แน่นอนว่าจะต้องมีการกินสินบาทคาดสินบนกันอย่างขนานใหญ่ จึงปรากฏว่าพวกพ่อค้ากันลุกฮือต่อต้านถึงขั้นจลาจลในกวางโจวประมาณปี 758 พวกเปอร์เซียและอาหรับจึงหนีไปทำการค้าที่อื่น เปิดโอกาสให้ผู้นครแถวปากแม่น้ำแดง (เวียดนามปัจจุบัน) ฉวยโอกาสเปิดท่าเรือที่ลองเบียนรับการค้าได้หลายสิบปี จนสิ้นราชวงศ์ถังในราวปี 906 จึงได้พากันตั้งอาณาจักรด๋ายเวียดขยายอำนาจและครอบครองแผ่นดินจามปาได้ในที่สุด
ข้างฝ่ายจีนนั้นชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ศูนย์กลางอยู่แถบฟูเจียนในปัจจุบัน มีการสร้างอาณาจักรของชาวจีนขึ้นมาใหม่เรียกว่ามินนาน เมืองท่ากวางโจว จึงเป็นเมืองท่าที่คึกคักอยู่ได้ สำเภาจีนทำการค้าขายและพาเอาพวกฮกเกี้ยนกระจายไปทั่วชายฝั่งทะเลจีนใต้ จนกระทั่งราชวงศ์ซ่งเข้มแข็งขึ้นมาและควบคุมฟูเจียนได้ แต่แรกๆราชสำนักซ่งก็มองว่าทะเลเป็นประตูที่เปิดรับภัยคุกคาม ความคิดชั่วร้ายทั้งหลายจากต่างขาติก็มักมาทางทะเลนี่แหละ ในปี 985 ราชสำนักซ่งห้ามพ่อค้าจีนเดินทางไปค้าขายต่างแดน ราชสำนักทำการผูกขาดการค้าเสียเอง พ่อค้าต่างชาติไม่มีทางเลือกต้องติดต่อและเสียภาษีการค้า ภาษีปากเรือให้กับราชสำนักเท่านั้น แต่ซ่งทำแบบนั้นได้ไม่กี่ปีก็เปลี่ยนนโยบาย ส่งผู้แทนการค้าออกค้าขายต่างประเทศและอนุญาตให้เอกชนทำการค้ากับต่างชาติได้ ตอนต้นศตวรรษที่ 11 ราชสำนักซ่งให้อมาตย์หวัง อันซี ทำการปฏิรูปการค้า ลดภาษี กระตุ้นการค้าให้เฟื่องฟูขึ้นมาอย่างมากในช่วง 20 ปี ที่สำคัญคือยกเลิกคำสั่งห้ามค้าเงินทองแดง ทำให้เหรียญทองแดงซึ่งเป็นเงินตราราชวงศ์ซ่งกลายเป็นตัวกลางในการค้าในทะเลจีนใต้เฉพาะอย่างยิ่งสุมาตราและชวาอย่างกว้างขวาง อาจจะกล่าวได้ว่ายุคซ่งเป็นยุคทองของการค้าในทะเลจีนใต้อีกยุคหนึ่ง
ประเด็นที่น่าถกเถียงมากที่สุดในบทที่หนึ่งนี้อยู่ในหน้า 24 (บทที่หนึ่งน่าจะเริ่มตรงนี้คงจะกระชับกว่า) คือเรื่องกองเรือมหาสมบัติของราชวงศ์หมิงและเรื่องราวของนายพลเรือขันทีมุสลิม เจิ้ง เหอ หรือเจ้าพ่อซำป๋อกงในความรับรู้ของคนไทย ที่ว่า จริงๆแล้ว เจิ้ง เหอ และกองเรือมหาสมบัติของจักรพรรดิต้าหมิงเคยเดินทางรอบโลกในศตวรรษที่ 15 ดังที่ Gavin Menzies ว่าเอาไว้ในหนังสือ1421: ปีที่จีนค้นพบโลก หรือว่าจะเป็นแบบที่ Geoff Wade นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลียว่า ใน Ming Shi-lu ที่กล่าวว่าแท้จริงแล้วกองเรือมหาสมบัติของจีนโดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้การนำของเจิ้งเหอไม่เคยไปถึงแอฟริกาหรอก ไม่เคยมีการค้นพบซากเรือสำเภาจีนนอกเขตทะเลเอเชียเลย ข้อโต้แย้งนี้น่ารับฟังมากเพราะในหนังสือของ Menzies ส่วนใหญ่ใช้หลักฐานแวดล้อมเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ความรู้เรื่องแผนที่การเดินเรือของชาวจีน คำบอกเล่าของคนเชื้อสายจีน การพบพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่มีในจีนหรือที่อื่นๆในโลก ก็สรุปว่าพวกนี้ไปมากับการค้าสำเภาของจีน หลักฐานที่เป็นซากเรือที่ Menzies อ้างถึงคือการค้นพบซากสำเภาจีนที่เกาะใต้นิวซีแลนด์
ความจริงงานของ Menzies ไม่ได้พูดถึงเจิ้งเหอมากมายนัก แต่สนใจการเดินทางของกัปตันจีนอื่นๆเช่น หง เป่า ที่เขาเชื่อว่าเดินทางไกลว่าเจิ้งเหอ แต่ด้วยความที่ Menzies เป็นผู้บังคับการเรือดำน้ำ เขามีความรู้เรื่องการเดินเรือมากกว่าประวัติศาสตร์งานของเขาก็ไม่ได้เน้นบทบาทด้านอื่นๆของกองเรือมหาสมบัติ แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อการโฆษณาของรัฐบาลจีนอย่างมากเลยทีเดียว
พรรคคอมนิวนิสต์จีนใช้เรื่องของเจิ้งเหอเพื่อพิสูจน์ความก้าวหน้าทางทะเลในศตวรรษที่ 15 ของจีนและที่สำคัญคือการทูตสันถวไมตรีของกองเรือมหาสมบัติของนายพลขันทีมุสลิมจากหยูนนานเจิ้งเหอ เจ้าหน้าที่และนักการทูตจีนมักชอบพูดว่า “เจิ้งเหอไม่เคยยึดครองดินแดน ไม่เคยสร้างป้อมปราการ ไม่ปล้นชิงทรัพย์สมบัติของชาติใด ในการทำการค้านั้นท่านยึดคติให้มากกว่ารับ ทำให้ท่านเป็นที่ต้อนรับและยกย่องสรรเสริญทุกแห่งหนที่เดินทางไป” (หน้า 25)
Wade แย้งงานของMenzies ว่าในการเดินทาง 25 เที่ยวของกองเรือมหาสมบัติของต้าหมิงระหว่างปี 1403-1430 นั้นอยู่ภายใต้การนำของเจิ้งเหอแค่ 5 เที่ยว กองเรือมหาสมบัติส่วนใหญ่อยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เท่านั้น อย่างมากไปถึงมหาสมุทรอินเดีย ที่สำคัญพันธกิจไม่ใช่ทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีหากแต่โชว์แสนยานุภาพทางทหาร การเดินทางแต่ละเที่ยวกองเรือมหาสมบัติจะมีเรือ 50-250 ลำ ทหารมากว่า 20,000 อาวุธครบครัน เที่ยวแรกของเจิ้งเหอในปี 1405 ไปปาเลมบังเพื่อตามจับนักโทษหนีคดี เฉิน ซู่ หยี การปะทะกันมีคนตายไปถึง 5,000 คน ในคราวนั้นกองเรือเจิ้งเหอต่อสู้กับกองทัพชวาซึ่ง Wade เชื่อว่าเป็นของมหาบพิธศัตรูของต้าหมิงในทะเลจีนใต้ด้วยซ้ำไป ปีเดียวกันเขาตั้งกองรักษาการที่มะละกาเพื่อคุมเส้นทางในช่องแคบตรงนั้น ในปี 1411 เจิ้งเหอบุกศรีลังกา จับกษัตริย์ไปเมืองจีนและตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดดูแลเกาะนั้น ปี 1415 เจิ้งเหอ เข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในสุมาตรา มีหลักฐานว่าขันทีคนนี้ไปทำลายคาบสมุทรอาระเบียด้วย
กองเรือมหาสมบัติมีภารกิจ 2 อย่างคือควบคุมเส้นทางการค้าและสร้างความชอบธรรมให้จักรพรรดิ์ต้าหมิงให้เป็นที่ยำเกรงในหมู่ผู้ปกครองต่างชาติ ต้าหมิงใช้นโยบายการทูตแบบเรือปืนนี้ประมาณ 30 ปีก่อนที่พวกกังฉินขี้อิจฉาจะยุติบทบาทของกองเรือมหาสมบัติและนายพลเรือเจิ้งเหอลงเสีย ทำการเผาแผนที่ทำลายเรือของเขา และจีนไม่เคยพัฒนากองเรือให้สามารถไปยึดเกาะต่างๆในทะเลจีนใต้อีกเลยกระทั่ง 500 ปีต่อมา
แต่รัฐบาลจีนในยุคคอมมิวนิสต์เข้าใจและใช้ปริศนาของเจิ้งเหอได้ดี จึงได้ตั้งสถาบันมรดกโบราณคดีใต้น้ำ ก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20 ผู้อำนวยการศูนย์ จาง เหว่ย ประกาศว่านักปะดาน้ำของเขาได้ค้นพบวัตถุที่มีอายุอยู่ในปี 907 เพื่อพิสูจน์ว่ามีคนจีนอาศัยอยู่ในหมู่เกาะพาราเซล นักโบราณคดีอิสระคงหัวเราะเพราะปีนั้นราชวงศ์ถังเพิ่งล่มสลาย เป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นเรือลำแรกๆของอาณาจักรที่ตั้งใหม่แถบฟูเจียนพยายามออกทะเล แต่Hayton คิดว่าวัตถุนั้นน่าจะมาจากเรือของมาเลย์หรืออาหรับมากกว่าจีนหรืออาจจะเป็นไปได้อีกว่าเวลานั้นมีการค้าขายทางเรืออยู่ทั่วไป คงมีเรือของใครบรรทุกสินค้าจีนจมลงไปนอนก้นทะเลบ้างล่ะ การค้นพบอะไรเล็กๆน้อยๆแบบนี้คงไม่สามารถสรุปว่า จีนเคยครอบครองหมู่เกาะแถบนั้นได้เป็นแน่
บทที่ 2 เส้น (เขตแดน) และแผนที่
ในบทนี้ Hayton พูดถึงช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1500-1948 คือยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหาเรื่องดินแดนในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่คือสิ่งที่ตกตะกอนมาจากยุคนั้นทั้งสิ้น สำหรับที่ท่านที่คุ้นเคยกับเรื่องพระวิหาร สามารถเทียบเคียงได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่เป็นแก่นสารของเรื่องทั้งหมดอยู่ตรงที่ว่า ในอดีตนั้นความคิดรวบยอดของฝรั่งตะวันตกและเอเชียเกี่ยวกับความเป็น “รัฐ” หรือ “ประเทศ” นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทางฝ่ายเอเชียนั้นพูดถึงอาณาจักรแว่นแคว้นในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง คือคำว่า Mandala ซึ่งแปลว่าศูนย์กลางมาจากแนวคิดของพราหมณ์ ภาษาไทยผมอยากจะใช้คำว่า มณฑล ซึ่งพจนานุกรมไทยแปลว่าดวงหรือเขตการปกครอง ในสมัยก่อนนั้นไม่ค่อยมีคนรู้ว่าขอบเขตของอาณาจักรสิ้นสุดที่ใด เรารู้ว่าศูนย์กลางของดวงหรือวงนั้นอยู่ที่ไหน แต่ไม่รู้แน่ชัดนักว่าขอบของมันอยู่ตรงไหน แต่สำหรับฝรั่งนั้นนับแต่สนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเรีย (Westphalia) ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา หน่วยทางการเมืองหรือเขตทางการปกครองของพวกเขามีขอบเขตที่แน่นอน พูดง่ายๆมีอำนาจอธิปไตยอยู่เหนือดินแดนนั้นกำกับด้วยเส้นเขตแดนที่ชัดเจน
เมื่อพวกฝรั่งเข้ามาค้าขายในยุคแรกๆนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร ศูนย์กลางอำนาจในภูมิภาคนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมาตามอำนาจทางการเมืองและการทหาร แต่ปัญหามันเกิดขึ้นตอนที่ฝรั่งเริ่มล่าอาณานิคมและเกิดทับผลประโยชน์กัน จำเป็นต้องเอาแนวคิดแบบเวสฟาเรียมาใช้เพื่อแบ่งดินแดนและพื้นที่ผลประโยชน์ระหว่างกันให้ชัดเจน โปรตุเกสกับสเปนเป็นคู่แรกที่ในโลกที่ขีดเส้น (บนแผนที่) เพื่อแบ่งเขตกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่าสนธิสัญญา Zaragoza ปี 1529 (หน้า 32) แผนที่ในสมัยก่อนไม่ค่อยแม่นยำนัก แต่ก็อาศัยเกาะต่างในทะเลอุษาคเนย์เป็นเกณฑ์ แบ่งอย่างหยาบๆคือ โปรตุเกสเอาหมู่เกาะเครื่องเทศคืออินโดนีเซีย ส่วนสเปนเอาส่วนที่เหลือคือฟิลิปปินส์ไป
ในขณะที่จีนนั้นศูนย์กลางอำนาจอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน การควบคุมเมืองชายทะเลด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้นั้น ทำได้บ้างไม่ได้บ้างตามแต่ความเข้มแข็งของราชสำนัก บางยุคการค้าตกอยู่ในมือพ่อค้าเมืองชายฝั่ง เฉพาะอย่างยิ่งนับแต่กองเรือมหาสมบัติยุติบทบาทลง อันเนื่องมาจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจตกต่ำ ชาวจีนจำนวนมากค้าขายบนฝั่งมากกว่าจะออกเรือสำเภาค้าขายทางทะเล คนจีนตั้งชุมชนอยู่ตามฝั่งทะเลมากและทำการค้ากับฝรั่ง เมืองจีนในโลกทัศน์ของชาวยุโรปที่มาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงหมายถึงพื้นที่ซึ่งอยู่เลยช่องแคบมะละกาออกไป ชาวโปรตุเกสเป็นพวกแรกที่เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า ทะเลจีน (Mare da China ในหน้า 33) ตอนหลังก็พากันเติมทิศใต้เข้าไป เพื่อแบ่งแยกพื้นที่ทะเลด้านตะวันออกของจีนซึ่งติดกับญี่ปุ่น เราจึงรู้จักพื้นที่ตรงนี้ว่าเป็น ทะเลจีนใต้ จนปัจจุบัน แต่ในโลกทัศน์ชาวจีนมันก็เป็นทะเลที่อยู่ทางใต้ในทางภาษาก็เรียกว่าทะเลใต้ (Nanhai) เท่านั้น ไม่ได้มีความเป็นเจ้าของอยู่ในนั้นเลย
ในยุคศตวรรษที่ 19 เป็นยุคทองแห่งการล่าอาณานิคมของชาวยุโรปพวกเขาจึงพากันสร้างเมืองและรัฐอาณานิคมกันขึ้น แน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็เกิดจากเข้าไปยึดอาณาจักรเดิมของคนท้องถิ่นนั่นแหละแล้วก็สร้างแผนที่และเขตแดนขึ้นมา อย่างที่กล่าวมาแล้วอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์แบ่งโดยโปรตุเกสกับสเปนตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เส้นแบ่งระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซียนั้นจัดทำโดยดัชท์และอังกฤษในปี 1842 เส้นเขตแดนระหว่างเวียดนามกับจีนนั้นทำโดยฝรั่งเศส (1887) เขตแดนของฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่จัดทำโดยสเปนและสหรัฐ ส่วนเขตแดนระหว่างมาเลเซียกับฟิลิปปินส์นั้นสหรัฐและอังกฤษทำกันในปี 1930 นี่เอง
Hayton ไม่ได้พูดถึงแต่แถมให้อีกหน่อยเขตแดนของไทยนั้นทำโดยอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เพราะ ลาว กัมพูชา นั้นเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส ส่วนพม่าและมาเลเซียนั้นอยู่ใต้อังกฤษ
เรื่องเขตแดนบนบกที่เป็นประเด็นให้เราต้องพูดกันมาทุกวันนี้ก็มาจากยุคนั้น เรื่องเขตแดนทางทะเลและอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะแก่ง โขดหิน แนวปะการัง หนักหนาและซับซ้อนกว่านั้นมากเพราะก่อนหน้านั้นต่างฝ่ายต่างใช้มันเป็นที่พักเรือบ้าง หาปลาบ้าง หรือหลบพายุบ้าง ความสนใจที่จะยึดถือเอาพื้นที่เหล่านั้นมาเป็นดินแดนใต้อำนาจอธิปไตยโดยเฉพาะจากจีนนั้นเพิ่งเกิดราวๆปลายราชวงศ์ชิง Hayton (หน้า 50) บอกว่า ความรู้สึกของชาวจีนที่ต่อต้านผู้รุกรานในยุคนั้นก็ไม่ใช่เรื่องดินแดนด้วยซ้ำไป หากแต่เป็นเรื่องอุดมการณ์คือรู้สึกเสียเกียรติที่ถูกพวกฝรั่งรุกราน ผู้ที่ทำให้คนในย่านนี้รู้สึกได้ถึงความจำเป็นในการหวงดินแดนและผูกเกียรติภูมิของชาติเอาไว้กับดินแดนคือญี่ปุ่น เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อญี่ปุ่นขยายตัวอย่างมากช่วงก่อนสงครามโลก จีนประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะต่างๆในทะเลจีนใต้ในปี 1909 นี่เอง เพราะก่อนหน้านั้นมีข่าวลือมากมายว่าญี่ปุ่นจะบุกยึดที่นั่นที่นี่รวมทั้งเกาะแก่งต่างๆมากมายเต็มไปหมด จีนส่งเรือออกตระเวนสำรวจเกาะต่างๆในทะเลจีนใต้ บางครั้งไปเจอชาวญี่ปุ่นอยู่ก่อนเช่นกรณีของเกาะPratas แต่ก็ได้ไม่เผชิญหน้ากันหากแต่มีแผนจะร่วมใช้ประโยชน์ด้วยกันโดยอีกฝ่ายหนึ่งคือญี่ปุ่นเสนอว่าจะยอมรับอธิปไตยของจีนถ้าหากว่านักธุรกิจญี่ปุ่นได้สามารถขุดเอาขี้ค้างคาวหรือขี้นกบนเกาะนั้นไปทำปุ๋ยได้ แต่พอแผนธุรกิจล้มเหลวก็เลิกรากันไปปล่อยเกาะนั้นทิ้งร้างไว้เฉยๆก็มี (หน้า 51)
ราชวงศ์ชิงล่มสลายในปี 1911 รัฐบาลสาธารณรัฐใหม่ประกาศสืบทอดอำนาจอธิปไตยเหนือดินต่างๆที่ชิงเคยประกาศเอาไว้ก่อนหน้า แต่แผนที่จีนใหม่ที่พิมพ์ใน Almanac ในปีต่อมาปรากฏว่าเขตแดนไม่ชัดเจนเลยทั้งๆที่จีนพยายามจะตั้งตัวเองเป็นรัฐสมัยใหม่ (modern state) ตามแบบตะวันตกแล้วก็ตาม รัฐธรรมนูญใหม่ของระบอบสาธารณรัฐเขียนว่าอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐใหม่นั้นให้เป็นไปตามขอบเขตแห่งสิทธิของจักรวรรดิเดิมในปี 1914 ฮู จินจี นักแผนที่เอกชนคนหนึ่งสร้างแผนที่ภูมิศาสตร์แห่งสาธารณรัฐใหม่ขึ้นมาอีกลากเส้นครอบเอาเกาะหลายแห่งในทะเลจีนใต้ เขาอ้างว่านี่เป็นแผนที่แผ่นดินจีนในสมัยชิงหลง-เจียชิง คือดินแดนที่จีนครอบครองก่อนปี 1736 ที่น่าสนใจคือแผนที่นี้ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่เกาะพราตัสและพาราเซล ไม่ได้ไปไกลเกินเส้น 15 องศาเหนือ เส้นนี้ใช้กันอยู่ระหว่างช่วงปี 1920-1930
วันที่ 13 เมษายน 1930 เรือฝรั่งเศส Malicieuse ไปจอดทอดสมอที่เกาะสแปรตลี (ห่างจากพาราเซลไปหลายร้อยกิโล มีการยิงสลุต 21 นัดไม่มีใครเห็นหรอกนอกจากชาวประมงที่หาปลาอยู่แถวนั้น แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ส่งเรือออกไปหลังจากมีข่าวว่าญี่ปุ่นจะบุกยึด ฝรั่งเศสตีพิมพ์การครอบครองพื้นที่นั้นแต่ไม่ได้แสดงออกสารประกอบจนกระทั่ง 3 ปีต่อมารัฐบาลอังกฤษถามหาจึงได้ทำขึ้นมา ส่วนรัฐบาลจีนนั้นไม่ได้สังเกตตั้งแต่แรกเลยว่ามีการประกาศครอบครองจนกระทั่งมีเมื่อมีการแสดงเอกสารประกอบในปี 1933 นั่นแหละจึงได้แสดงปฏิกิริยาแต่ก็ไม่มีใครฟัง (หน้า 53-54) แต่ที่ประท้วงนั้นแรกๆก็ยังคิดว่าเป็นพาราเซลและพวกฝรั่งเศสเปลี่ยนชื่อเกาะทำให้สับสนจนกระทั่งกงสุลสหรัฐส่งแผนที่ให้ดูจึงได้เข้าใจว่ามันเป็นที่แห่งใหม่ซึ่งจีนไม่เคยอ้างสิทธิใดๆมาก่อน
จากนั้นจีนจึงมีความคิดว่าจะต้องทำแผนที่ของตัวเองขึ้นมาใหม่ นักแผนที่คนหนึ่งชื่อเฉิน โด่ว พิมพ์แผนที่จีนใหม่ขึ้นมาอีกในปี 1935 มีชื่อภาษาจีนเรียกเกาะ132 แห่งในทะเลจีนใต้ ที่เชื่อว่าเป็นของจีนในจำนวนนั้น 28 แห่งอยู่ในหมู่เกาะพาราเซลและ 96 แห่งที่สแปรตลี แต่ที่น่าสังเกตคือชื่อเหล่านั้นไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมที่จีนเคยเรียกมาแต่โบราณจำนวนไม่น้อยแปลมาจากภาษาฝรั่ง(หน้า 55) แต่แผนที่นี้ก็ยังไม่ครอบคลุมสิ่งที่เคยปรากฏในแผนที่โบราณแต่อย่างใด นักภูมิศาสตร์จีนอีกคนหนึ่งคือ ไบ่ เม่ย จู ทำแผนที่ขึ้นมาแผ่นหนึ่งในปี 1936 ปรากฏว่าได้ขีดเส้นรูปตัวยูครอบคลุมพื้นที่และเกาะหลายแห่งส่วนใหญ่ในทะเลจีน รัฐบาลจีนจึงหยิบเอาแผนที่นี้มากำหนดเขตอำนาจอธิปไตยของจีนในทะเลจีนใต้
สงครามโลกครั้งที่สองและการขยายอำนาจของญี่ปุ่นทำให้เกมเปลี่ยนแปลงไป ประเทศที่เคยสร้างปัญหาให้กับจีนไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส กลายเป็นพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่น ทะเลจีนใต้มีสภาพกลายเป็นทะเลสาบญี่ปุ่นไป ทั้งหมดเคยอ้างสิทธิกันตกไปอยู่ในความครอบครองของญี่ปุ่นจนกระทั่งเดือนมกราคม 1945
ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเอกราชในปี 1946 ประกาศว่าสแปรตลีเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง ฝรั่งเศสกลับมายึดครองอินโดจีนอีกครั้งและเรียกร้องสิทธิของตัวเองเหนือสแปรตลี ในปี 1947 รัฐสภาจีนมีมติให้รัฐบาลเรียกคือสแปรตลีและกรมภูมิศาสตร์กระทรวงมหาดไทยจีนทำบัญชีรายชื่อเกาะในทะเลจีนใต้ขึ้นมาอีก รวมทั้งเปลี่ยนชื่อที่เคยเรียกแต่เดิมด้วย บางที่ซึ่งเคยเรียกผิดๆก็ได้รับการปรับปรุงใหม่มีการตีพิมพ์แผนที่ใหม่ในปี 1948 ที่ปรากฏชื่อของเกาะต่างๆใหม่หมดพร้อมกับแนวเส้นประ 11 จุด เหมือนอย่างที่ไบ่ เมยจู เคยทำเมื่อ 10 ปีก่อนก็ยังคงอยู่ เส้นนี้เป็นรูปคล้ายๆตัวยู ลากจากไต้หวัน สู่ฝั่งบอเนียว ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้วกขึ้นมาอ่าวตังเกีย ภายหลังตัดออกไป 2 จุดบริเวณอ่าวตังเกี๋ยออกไปเหลือให้อ้างอิงแค่ 9 ดังเช่นในปัจจุบัน
ถ้าไม่ได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีที่ฟิลิปปินส์ฟ้องจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม ทั้งหมดที่กล่าวมาในบทที่ 2 นี่ก็พอช่วยอธิบายได้ว่าทำไมศาลตัดสินเช่นนั้น
Graphic: ปรับปรุงจาก Straits Times
บทที่ 3 : ภัยอันตรายและความสูญเสีย
หลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีประเทศใดครอบครองหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีเลย แต่หลังจากนั้น 50 ปีเชื่อว่าไม่มีที่ว่างบนหมู่เกาะทั้งสองแห่งแล้ว หลายประเทศที่อ้างสิทธิ์ นับแต่จีน (และไต้หวัน) เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและบรูไน เกิดเหตุตึงเครียดและเผชิญหน้า หลายครั้งในช่วงปี 1946-7, 1956, ช่วงต้นทศวรรษ 1970, 1988 และ 1995
ในบทที่ 3 นี้พูดถึงเหตุการณ์ระหว่างปี 1946-1995 คือช่วงเวลาที่หลายประเทศเฉพาะอย่างยิ่งจีนและเวียดนามกำลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่สาธารณรัฐสังคมนิยม พูดง่ายๆ เหมา เจ๋อตุง สู้กับเจียงไคเช๊ค และ เวียดนามเหนือสู้กับเวียดนามใต้ ไปพร้อมๆกับการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทั้งสองแข่งกับฟิลิปปินส์ ระยะหลังๆก็มีมาเลเซียและบรูไนเข้ามาแจมแต่สองชาติหลังนี้ดูไม่ค่อยจริงจังเท่าไหร่
ในช่วงแรกคือก่อนปี 1945 นั้นเวียดนามยังไม่เป็นเอกราชจากฝรั่งเศส (ซึ่งกลับมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง)และจีนก็ยังอยู่ในมือก๊กมินตั๋ง ทั้งสองต่างแย่งหมู่เกาะพาราเซลกัน โดยฝ่ายจีนนั้นได้ Woody islands ส่วนฝรั่งเศส (ในนามของอันนัม) ได้ Pattle แต่พอปี 1950 เจียงไคเซ๊คพ่ายแพ้แก่เหมาจึงต้องล่าถอยจาก Woody แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็รอเวลาอีกถึง 5 ปีหลังจากนั้นจึงได้เข้าครอบครองทว่าก็ไม่ได้ทำเพื่ออำนาจอธิปไตยอะไรหากแต่ต้องการขี้ค้างคาวบนเกาะนั้นไปทำปุ๋ย เพื่อผลิตอาหารป้อนประชากรที่อดอยากหลังการปฏิวัติ
ควรบันทึกไว้ด้วยว่า หากปราศจากซึ่งความช่วยเหลือของสหรัฐจีนซึ่งตอนนั้นคือก๊กมินตั๋งก็ไม่มีแม้แต่เรือจะออกไปสำรวจเกาะ วันที่ 4 มกราคม 1947 เรือจีนชื่อหยงชิง ซึ่งก็คือเรือ USS Embattle และซ่งเจียน คือ USS LST-716 ที่สหรัฐมอบให้ออกสำรวจพาทหารจีน 60 นายไปขึ้นบกที่ Woody ในพาราเซล
ส่วนการครอบครองหมู่เกาะของฟิลิปปินส์ที่สแปรตลีในยุคแรกๆนั้นออกจะคลุมเครืออยู่สักหน่อยเพราะว่าคนที่เข้าไปจับจองเป็นเอกชนชื่อ Tomas Cloma และครอบครัวของเขาที่ต้องการเกาะนอกชายฝั่งปาลาวันเพื่อทำโรงงานปุ๋ยจากขี้ค้างคาวและโรงงานปลากระป๋อง Cloma จึงใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวที่เขามีอยู่กับ Carlos Garcia ซึ่งเขาสนับสนุนจนได้เป็นวุฒิสมาชิกและรองประธานาธิบดีในปี 1953 จนได้สัมปทานเกาะนั้นมา เขาตั้งชื่อเกาะนั้นว่า Freedomland แต่ประธานาธิบดีแมกไซไซในเวลานั้นก็ไม่อยากจะรับรู้หรือรับรองการครอบครองเกาะของClomaสักเท่าไหร่ทั้งยังเห็นว่ามันเป็นเรื่องตลกเสียด้วยซ้ำไป ด้วยว่าไม่อยากมีปัญหากับไต้หวันและปักกิ่ง
ปักกิ่งประกาศว่าจะไม่ยอมอดทนต่อการกระทำของใครก็ตามที่เข้าไปครอบครองสแปรตลีส่วนเวียดนามซึ่งตอนนั้นก็เป็นเอกราชจากฝรั่งเศสแล้วแต่ประเทศกลับถูกแบ่งเป็นเหนือและใต้เพราะปัญหาอุดมการณ์ ฝ่ายใต้ประณามการกระทำของClomaแต่เขาไม่สนใจ
รัฐบาลฟิลิปปินส์มาสนใจหมู่เกาะในทะเลจีนใต้จริงจังสมัยมาร์กอสในราวทศวรรษ 1970 เมื่อเริ่มมีการสำรวจน้ำมันและแก๊สแถบหมู่เกาะนอกชายฝั่งปาลาวัน กองทัพฟิลิปปินส์ยกพลขึ้นบกบนพื้นที่ 3 เกาะในสแปรตลี (คือ ทิทู นานซาและแฟลตหรือปากาซา ลาวักและปาตัง ตามภาษาตากาล๊อกตามลำดับ) ความจริงพยายามจะยึดอิตูอาบาด้วยแต่ถูกไต้หวันต่อต้าน มาร์กอสยึดFreedomland ของClomaมาด้วย (แต่ทำเป็นว่ารัฐบาลซื้อมาในราคา 1 เปโซพร้อมด้วยทรัพย์สินของเขาบนเกาะนั้น) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาตากาล๊อกว่า กาลายาน (ซึ่งก็แปลว่าเสรีภาพเหมือนกัน) ปี 1978 ออกกฤษฎีกาประกาศว่ากาลายานเป็นเขตเทศบาลของปาลาวัน เรื่องของ Cloma จึงเปลี่ยนจากเรื่องชวนหัวกลายเป็นตำนานทุกวันนี้มีอนุสาวรีย์เล็กๆของเขาอยู่ใกล้รันเวย์ของสนามบินบนเกาะทิทูหรือปากาซา
เรื่องราวของการอ้างสิทธิและยึดครองหมู่เกาะในทะเลจีนของเวียดนามก็นับว่าซับซ้อนไม่น้อย ก่อนการรวมชาติในปี 1975 เวียดนามเหนือและใต้สู้กัน ประธานาธิบดีเหวียนวันเทียวฝ่ายใต้ต้องการใช้เงินค่าสัมปทานปิโตรเลียมในทะเลใต้มาเป็นทุนต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ฝ่ายเหนือ ก่อนไซ่ง่อนแตก 2 ปีรัฐบาลเวียดนามใต้ยึดพื้นที่ 10 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลีเพื่อคุ้มครองการขุดเจาะน้ำมัน
ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เจอสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากเพราะผู้สนับสนุนรายใหญ่คือจีนและโซเวียตเกิดแตกคอกัน แถมปักกิ่งยังไปจับมือสร้างสัมพันธ์กับวอชิงตันซึ่งหนุนเวียดนามใต้อยู่อีก ในสถานการณ์ที่เป็นจริงในเวลานั้น จีนและเวียดนามใต้ครอบครองหมู่เกาะพาราเซลอยู่คนส่วน ในตอนนั้นจีนไม่ต้องการให้เวียดนามเหนือชนะฝ่ายใต้เท่าใดนัก(หน้า 71) เพราะมันหมายถึงว่า โซเวียตจะแผ่อิทธิพลเข้ามาในทะเลจีนใต้
จีนยุคหลังการปฏิวัติเพิ่งมาให้ความสนใจทะเลจีนใต้ในเชิงยุทธศาสตร์จริงจังในสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ก่อนนั้นเหมาไม่ค่อยสนใจเพราะตอนนั้นยังไม่พบน้ำมันรอบๆพาราเซลและพิสูจน์ไม่ได้อย่างชัดเจนว่ามันมีความสำคัญอะไรในทางยุทธศาสตร์ กองทัพเรือจีนก็ยังไม่มีแสนยานุภาพใดๆ ทำหน้าที่เป็นแค่ยามฝั่งเท่านั้น กระทั่งราวปี 1982 พลเรือเอก หลิว หัวชิง เป็นผู้บัญชาการทหารเรือได้รับคำสั่งจากเติ้งให้จัดทำยุทธศาสตร์ทางทะเลให้สอดรับกับแผนเศรษฐกิจที่ต้องการเปิดกว้างออกสู่โลกภายนอก (จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจก่อนใครทั้งหมดในโลกสังคมนิยมในปี 1978) ในปีถัดๆมามาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์และเวียดนามเริ่มพากันไปยึดแนวปะการังเอาไว้ประเทศละหลายๆแห่ง
ปี 1987 จีนส่งเรือรบไปยึด Fiery Cross Reef หรือภาษาจีนเรียกว่าแนวปะการังหยงชูประกาศว่าเป็นพื้นที่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน ปีต่อมาก็เริ่มทำการถมพื้นที่ ตอนนั้นมีเรือเวียดนามเข้าไปสังเกตการณ์ด้วยแต่ไม่เกิดการปะทะกัน
ความจริงในช่วงนั้นเวียดนามครอบครองพื้นที่จำนวนมากที่จัดได้ว่ามีค่าในหมู่เกาะสแปรตลี เช่น London Reef, Union Bank เรียกว่าได้อะไรที่โผล่พ้นน้ำออกมาเวียดนามเป็นต้องเข้าไปยึดไว้ ที่สำคัญคือที่เหล่านั้นไม่ไกลจาก Fiery Cross ที่จีนยึดอยู่มากนัก (น้อยกว่า 100 กิโลเมตร) ในปี 1988 นั้นเองที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันเพราะพยายามจะรุกคืบเพื่อครอบครองพื้นที่เพิ่มขึ้นเช่นเวียดนามพยายามเข้าไปถึง Fiery Cross ส่วนจีนก็พยายามยึด London Bank ในส่วนที่เวียดนามยังไม่ได้ยึด แต่ฮานอยก็ประท้วง มีเหตุการณ์สำคัญในเดือนมีนาคมปีนั้น เวียดนามยึดแนวปะการัง Jonhson, Collins, Landsdowne อยู่และปักธงเวียดนามเอาไว้ จีนส่งทหารลงเรือเล็กไปพยายามเอาออกเกิดการต่อสู้กันขึ้น ฝ่ายจีนอ้างว่าเวียดนามเปิดฉากยิงใส่ก่อนจนทหารจีนได้รับบาดเจ็บ 1 นายก่อนจะล่าถอยไป ในขณะที่เวียดนามอ้างว่าจีนสังหารรองผู้บังคับการหน่วยทหารที่นั่นแล้วก็ล่าถอยไปก่อนที่ฝ่ายเวียดนามจะโต้ตอบ แต่วีดีโอคลิปฉลองครบรอบ 60 ปีกองทัพเรือจีนที่ปรากฏในยูทูปปี 2009 ดูเหมือนจะสนับสนุนข้ออ้างของเวียดนามมากกว่า (หน้า 83)
ความปรารถนาของประเทศต่างๆที่จะยึดพื้นที่ทะเลจีนใต้นั้นเริ่มต้นจากลักษณะทางชาตินิยมคือต้องการพื้นที่เพื่อสถาปนาอำนาจอธิปไตย แต่ระยะหลังเมื่อมีการตื่นตัวเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้นทะเลจีนใต้เป็นที่หมายปองเพราะเชื่อกันว่าเป็นแหล่งพลังงานปิโตรเลียมขนาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดได้ผลประโยชน์อันนั้นจริงๆจังๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมาคือ ความไร้เสถียรภาพในทะเลจีนใต้ ซึ่งในที่สุดสภาวะเช่นนั้นกลับมาขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจเสียเอง สร้างความร้าวฉานทางการเมืองและการทูตในเวลาที่ประเทศต่างๆเหล่านี้ควรจะมีความร่วมมือกัน
กล่าวแต่เฉพาะกรณีสแปรตลีนั้นถือได้ว่าจีนเป็นผู้ที่มาทีหลัง แต่เมื่อใดที่จีนสามารถยึดพื้นที่ได้ กลับทำให้อำนาจต่อรองในการเจรจาของจีนมากขึ้นเข้าหลักอำนาจคือความถูกต้อง (might is right) ซึ่ง Hayton ทิ้งไว้ในบทนี้ก่อนที่จะไปกล่าวถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องอำนาจอธิปไตยทางทะเลในบทต่อไป

บทที่ 4 ทะเลจีนใต้และกฎหมายระหว่างประเทศ
มีแนวคิด 2 ชุดใหญ่ที่กำกับปัญหาทะเลจีนใต้อยู่ในเวลานี้ อย่างแรกคือสิทธิครอบครองตามประวัติศาสตร์และอย่างที่สองคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea – UNCLOS) ทุกประเทศที่อ้างสิทธิใช้ทั้งสองหลักสลับกันไปมาแล้วแต่ว่าอันไหนจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับข้ออ้างของพวกเขามากกว่ากัน
อย่างที่เราทราบกันมาแล้วจากบทก่อนๆจีนเป็นผู้ที่ออกท่องทะเลในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนชาวยุโรป คนของอาณาจักรต่างๆในย่านนี้ก็ไปใช้ทะเลและเรือในการไปมาหาสู่และทำการค้ากันมานานแล้วเหมือนกัน แต่พวกที่พวกที่ทำการสำรวจและยึดครองกลับกลายเป็นพวกฝรั่งตะวันตก ชื่อของเกาะและแนวปะการัง หินโสโครกทั้งหลายก็มีชื่อจากภาษาฝรั่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นอังกฤษ เพราะตอนที่ตั้งชื่อนี้อังกฤษครองความเป็นใหญ่ ชาวอังกฤษเป็นนักแผนที่ซึ่งมีฝีมือ บางชื่อก็ตั้งตามกับตันเรืออังกฤษซึ่งถ้าจะว่าไปก็ไม่ได้มีฝีมือในทางเดินเรืออะไรนักหรอก เช่น สแปรตลี ก็ตั้งตาม ริชาร์ด สแปรตลี กับตันเรือล่าวาฬ ที่บังเอิญมาพบหมู่เกาะนี้ระหว่างการล่าอีกทั้งเขาไม่ได้เป็นคนแรกที่พบหมู่เกาะแห่งนี้ด้วยซ้ำไปแต่ก็ได้รับเกียรติให้เอาสกุลของเขาไปเป็นชื่อหมู่เกาะ บางคนโต้แย้งว่าน่าจะชื่อหมู่เกาะฮอร์สเบิร์กมากกว่า เพราะช่างสำรวจของบริษัทอิสต์อินเดียชื่อ เจมส์ ฮอร์สเบิร์ก เป็นคนบันทึกเรื่องหมู่เกาะนี้ก่อน แต่กองทัพเรืออังกฤษก็เลือกที่จะตั้งชื่อสแปรตลี่ ทั้งๆที่ชื่อเดิมที่ฮอร์สเบิร์กตั้งให้ว่าเกาะพายุนั้นฟังดูน่าจะเข้าท่ากว่า
ปี 1877 จักรวรรดิอังกฤษที่ลาบวนออกสัมปทานบัตรให้คนอเมริกันคนหนึ่งชื่อ เกรแฮมและอังกฤษ 2 คนคือ ซิมสันและเจมส์ ยึดสแปรตลีในนามรัฐบาลอังกฤษเพื่อขุดขี้ค้างคาว และประกาศเรื่องนี้ในราชกิจจานุเบกษาด้วย ประเทศอื่นหรือคนชาติอื่นอาจจะเคยมาแวะพัก ผ่าน หรือ แม้แต่หาขี้ค้างคาวเหมือนกัน แต่ไม่เคยประกาศอ้างสิทธิแบบนี้ อาจจะกล่าวได้ว่าการกระทำของอังกฤษเป็นรูปแบบการอ้างอำนาจอธิปไตยแบบแรกๆในทะเลจีนใต้ก็ว่าได้ แต่อังกฤษก็ไม่ได้ทำแบบถาวรเพราะในยุคนั้นการค้าชาและฝิ่นกับจีนแผ่นดินใหญ่ทำเงินได้มากกว่าขี้ค้างคาวในช่วงปี 1930 ฝรั่งเศสเข้ายึดสแปรตลี อังกฤษก็เคืองอยู่ไม่น้อย แต่ทว่าเวลานั้นเข้าใจว่ามีศัตรูร่วมกันอยู่ อังกฤษก็ยอมรามือหลังจากโต้แย้งกันไปมาอยู่สองปี ปี 1933 ฝรั่งเศสผนวก หมู่เกาะสแปรตลี และแนวปะการังหลายแห่งในแถบนั้นรวมทั้งอิตูอาบา โลอิตาและทิทู และประกาศเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังได้มีสิ่งปลูกสร้างเช่นสถานีตรวจอากาศในบนเกาะนั้นด้วย
ญี่ปุ่นเข้ายึดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแต่ก็ทิ้งไปหลังจากแพ้สงครามและสหรัฐเข้ายึดครองแทนในช่วงปี 1945 และกาลาสีเรือฝรั่งเศสมาขึ้นบกในปีถัดมาพร้อมทั้งประกาศทวงสิทธิที่อ้างไว้เดิมตั้งแต่ปี 1933 ฟิลิปปินส์อ้างสิทธิในปี 1946 แต่ไม่ได้สร้างอะไรจนกระทั่งอีกหลายสิบปีถัดมา ในช่วงนั้นกองทัพเรือจีนไม่มีศักยภาพพอจะมาถึงหมู่เกาะสแปรตลีด้วยซ้ำต้องอาศัยพันธมิตรในเวลานั้นคือสหรัฐพาเข้าไป ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทก่อนเรือที่สาธารณรัฐจีนใช้ก็เป็นของบริจาคจากสหรัฐ ซึ่งตอนนั้นหนุนหลังเจียงต่อต้านพวกคอมมิวนิสต์ เมื่อเหมาได้ชัยชนะเด็ดขาด สหรัฐยอมรับปักกิ่ง ปัญหาการอ้างสิทธิก็คลุมเครืออยู่ระยะหนึ่งเพราะจีนมีสองรัฐบาล
เวียดนามสืบสิทธิจากฝรั่งเศสนับแต่ปี 1956 เรื่อยมา มีปัญหาแบบจีนอยู่ระยะหนึ่งคือก่อนไซ่ง่อนแตกในปี 1975 แต่หลังนั้นเวียดนามรวมชาติสำเร็จอะไรที่เวียดนามใต้เคยประกาศหรือยึดเอาไว้ เวียดนามเหนือก็สืบทอดเอาเป็นมรดกทั้งหมด
เวลาพูดถึงหมู่เกาะในทะเลจีนนั้นจะต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า มันมีลักษณะทางการกายภาพแตกต่างกันในหลายที่ ไม่ใช่เกาะเดียวโดดๆ บางทีก็เป็นแค่สันทราย แนวปะการังหรือแค่โขดหิน ดังนั้นเวลาพูดว่าใครยึดพื้นที่ต้องถามให้ชัดเจนว่า ที่ไหน และตั้งแต่เมื่อไหร่ ในหลายกรณีเราพบว่า ไม่มีหลักฐานอะไรชัดเจนเลยหรือแม้แต่ชื่อที่จดในเอกสารหรือแผนที่ในภาษาต่างๆก็แตกต่างกันมาก อาจจะมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนอยู่บ้าง ดังนั้นการอ้างเรื่องประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องพิสูจน์ยากมาก ยิ่งไม่นับว่าผู้ที่เข้ายึดครองหรือประกาศเอานั้น เป็นตัวแทนของอำนาจฝ่ายใด จะสืบสิทธิกันอย่างไรในกรณีของจีนนี่มีปัญหามาโดยตลอด เพราะแม้ว่าจะเป็นประเทศใหญ่มีความต่อเนื่องทางอารยะธรรมมายาวนาน แต่ก็ด้วยความใหญ่โตของมันนั่นเองทำให้เกิดการแบ่งแยกอำนาจเป็นหลายฝักหลายฝ่าย เพราะบางทีพวกที่ยึดพื้นที่กลับกลายเป็นพวกที่ต่อต้านศูนย์กลางอำนาจ
ปลายปี 1973 สมาชิกสหประชาชาติจำนวนหนึ่งจึงนั่งลงเจรจากันเพื่อกำหนดหลักการเกี่ยวกับสิทธิทางทะเล ซึ่งในเวลาต่อมาก็คลอดออกมาเป็น UNCLOS ซึ่งตกลงกันในปี 1982 กำหนดว่า ประเทศต่างๆสามารถอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลได้ในบริเวณ 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง (ประมาณ 22 กิโลเมตร) และกำหนดเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้ 200 ไมล์ทะเล (คือ 370 กิโลเมตร) จากเส้นฐาน(baseline) ที่ใช้วัดทะเลอาณาเขต (UNCLOS มาตรา 57) และอนุสัญญานี้ยังได้กำหนดคำนิยามของสิ่งต่างๆในทะเลด้วย เช่น เกาะ แนวปะการัง โขดหิน และลักษณะของการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เรียกว่าเกาะนั้นสามารถใช้เป็น baseline ในการอ้างทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้ โขดหินใช้อ้างทะเลอาณาเขตได้ แต่อ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะไม่ได้ แต่อะไรที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำในเวลาน้ำลง ห้ามเอาไปใช้อ้างอิงอะไรทั้งสิ้น
เวลานี้มี 3 ประเทศหลักๆที่ครอบครองพื้นที่ในหมู่เกาะสแปรตลีอยู่คนละส่วนสองส่วนคือ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ทุกประเทศพยายามสร้างอาคารสถานที่ รวมกระทั่งถึงเอาพลเรือนไปอยู่เพื่อสร้างชุมชนที่มีชีวิตจริงๆขึ้นมา
ดังที่กล่าวมาแล้วในบทก่อน เวียดนามนั้นเข้าไปยึดหลายแห่งที่สำคัญๆจากฝ่ายใต้ที่พ่ายแพ้ในปี 1975 ในปี 2001 ฟิลิปปินส์พยายามสร้างชุมชนพลเรือนขึ้นในหมู่เกาะสแปรตลี ที่เกาะทีทูหรือปากาซาที่ตัวเองยึดครองอยู่ แต่จากการสำรวจเมื่อปี 2010 พบว่ามีคนอยู่ 222 คน แต่ในความเป็นจริงมีเพียง 60 คนเท่านั้นที่อาศัยอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่ก็ไปๆมาๆ เพราะในความเป็นจริงไม่มีใครยังชีพบนเกาะนั้นได้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องส่งเงินไปอุดหนุนซื้อเสบียงอาหารไปให้ปีละ 14,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ทุกอย่างยกเว้น ปลา มะพร้าวและเกลือ ต้องขนมาจากข้างนอกทั้งสิ้น ไม่เหมือนพวกเวียดนาม (ซึ่งอยู่ในอีกเกาะหนึ่ง) พวกฟิลิปปินส์ขนดินจากแผ่นดินใหญ่มาปลูกผักไม่ได้ (หน้า 105) ในปี 2012 เพิ่งมีการสร้างโรงเรียนขึ้นมีครูแค่คนเดียวสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน 3 คน อนุบาล 5 คน เพื่อจะเหนี่ยวรั้งให้ครอบครัวเหล่านั้นอาศัยอยู่ในเกาะนั้นต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาต้องส่งลูกไปเรียนที่ฝั่งปาลาวันที่อยู่ห่างออกไปถึง 500 กิโลเมตร
เมื่อราวๆปี 1987-88 เมื่อจีนคอมมิวนิสต์เข้าไปเกาะสแปรตลีก็พบว่าที่ใดที่โผล่พ้นน้ำถูกยึดครองไว้จนหมดแล้ว เหลือแนวปะการังอยู่บ้างแต่ก็ไม่พอจะทำให้มนุษย์อาศัยยังชีพอยู่ได้ จำเป็นต้องไปก่อสร้างถมที่เพิ่มเติม ซึ่งก็คงจะเป็นไปด้วยความยากลำบากเต็มทน แต่จีนก็ทำ (จนสำเร็จในปัจจุบัน) และสามารถเอาเครื่องบินไอพ่นไปลงได้แล้ว (ในหน้า 107 Hayton บอกว่าจีนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนแนวปะการัง 8 แห่งในสแปรตลี นับแต่ Caurteron, Fiery Cross จนถึง Subi และกำลังสร้างแห่งที่ 9)
ดูเหมือนเป็นการยากที่จะใช้หลัก UNCLOS มาประยุกต์กับการยึดครองพื้นที่ของประเทศต่างๆในทะเลจีนใต้เวลานี้ ดังที่เห็นได้ชัดจีนปฏิเสธคำตัดสินของศาลประจำอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ฟ้องโดยฟิลิปปินส์ที่ว่าหลักประวัติศาสตร์ใช้ไม่ได้ เพราะถ้าจีนซึ่งแม้จะเป็นภาคีใน UNCLOS ยอมรับคำตัดสินก็จะเสียเปรียบในทุกกรณี เพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ไม่อนุญาตให้จีนอ้างสิทธิอะไรได้มากนักในหมู่เกาะสแปรตลีเพราะอยู่ไกลจากชายฝั่งจีนมากเมื่อเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม
บทที่ 5 แก๊สและน้ำมันใน ทะเลจีนใต้
“คนรุ่นนี้ไม่ฉลาดพอจะแก้ปัญหายากขนาดนี้ได้หรอก คงต้องพึ่งพิงภูมิปัญญาของคนรุ่นหน้าแล้วแหละ” – เติ้ง เสี่ยวผิง กล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 1978 เมื่อคราวที่ถกปัญหาทะเลตะวันออกกับผู้นำญี่ปุ่น
นายกรัฐมนตรีหลี เผิง ได้ย้ำเรื่องนี้ในบริบทของปัญหาทะเลจีนใต้เมื่อครั้งออกทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1990 เพื่อเสนอว่า อย่ามาเถียงกันเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้กันเลย ไม่มีทางออกหรอก สู้มาหาทางพัฒนาและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันจะดีกว่า เพราะในปีนั้นเป็นปีที่ผู้นำจีนเริ่มมองหาแหล่งพลังงานที่จะมาป้อนเศรษฐกิจที่กำลังโตวันโตคืน จีนเชื่อจากการสำรวจเบื้องต้นว่า หมู่เกาะสแปรตลีน่าจะมีแก๊สธรรมชาติอยู่ประมาณ 25,000 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำมัน 105,000 ล้านบาเรล และที่เจมส์ ชอล์ น่าจะมีน้ำมันอีก 91,000 ล้านบาเรล
นโยบายของจีนนับแต่ยุคเติ้งในเรื่องข้อขัดแย้งทางทะเลนี้ประกอบไปด้วย 3 หลักใหญ่คือ “อำนาจอธิปไตยเป็นของจีน แต่อย่าพูดเรื่องความขัดแย้ง ให้แสวงหาทางพัฒนา (เพื่อผลประโยชน์) ร่วมกัน” แต่ประเทศอื่นๆที่อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ทั้งหลายไม่ค่อยเห็นด้วยกับจีนเท่าไหร่ เพราะทุกประเทศก็อยากจะให้พื้นที่ซึ่งเชื่อว่ามีทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นอยู่ในเขตของตนก็เพื่อจะได้แสวงหาผลประโยชน์ได้เต็มที่ อีกทั้งตรรกะของนโยบายแบบนั้นของจีนมันก็ขัดแย้งในตัวเองตั้งแต่ต้น ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของจีนจริงๆแล้วจะพัฒนาร่วมกับคนอื่นทำไม ถ้าตัดข้อแรกออกไป เหลือแต่เพียงว่า ไม่พูดเรื่องความขัดแย้ง พัฒนาร่วมกันดีกว่า บางทีเรื่องอาจจะง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆที่อ้างสิทธิในกรอบเส้นประ 9 จุดรูปตัวยู ต่างก็ให้สัมปทานบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศทำการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมกันอย่างขนานใหญ่นอกจาก China National Offshore Oil Company (CNOOC) รัฐวิสาหกิจใหญ่ของจีน PetroVietnam รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของเวียดนามแล้วและ Philippine National Oil company แล้ว บริษัทต่างชาติที่ได้สัมปทานในรูปแบบต่างๆก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกด้านปิโตรเลียมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น บีพี จากอังกฤษ เชฟรอน เอ๊กซอนโมบิล และโคโนโคฟิลิปส์ จากสหรัฐ หลายบริษัทร่วมทุนหรือลงทุนสำรวจปิโตรเลียมทั้งในจีน เวียดนามและฟิลิปปินส์ บางทีก็ในแหล่งซึ่งอยู่ในเขตที่หลายประเทศอ้างเขตทับซ้อนกัน เช่น บีพี มีธุรกิจทั้งในจีนและเวียดนาม บางครั้งก็โดนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นคำขาดว่า จะเลือกทำงานกับประเทศใดประเทศหนึ่งหรือจะยอมสูญเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจในอีกประเทศหนึ่ง
แต่ก็อย่างที่เรารู้กันมานานแล้ว ทุนไม่มีชาติ (แม้ว่าจะจดทะเบียนในประเทศใดประเทศหนึ่งก็ตาม) พวกเขาคิดคำนวนเรื่องพวกนี้ผลฐานของผลประโยชน์
ตัวอย่างบีพีเข้าไปทำธุรกิจในเวียดนามตั้งแต่ปี 1989 แต่ธุรกิจเพิ่งจะทำเงินได้เมื่อปี 2002 นี่เองจากแหล่งแก๊ส บล็อก 6.1 ในทะเลทางตอนใต้ แต่มีปัญหากับจีนเมื่อเวียดนามจะให้สัมปทาน 5.2 ซึ่งความจริงอยู่ใกล้ฝั่งเวียดนามมากกว่า 6.1 เสียอีก รัฐบาลปักกิ่งยื่นคำขาดว่าถ้าหากบีพีรับสัมปทาน 5.2 จากเวียดนาม จีนจะทบทวนโครงการปิโตรเคมี 4.2 พันล้านดอลล่าร์และสถานีบริการ 800 แห่งในจีน สุดท้ายบีพีก็ตัดสินใจไม่เอา 5.2 แต่ทำ 6.1ในเวียดนามและดำเนินธุรกิจในจีนต่อไป
ฟิลิปปินส์นั้นเคยมีความพยายามจะแสวงหาความมือในการแสวงประโยชน์ปิโตรเลียมในทะเลจีนใต้กับจีนในสมัยประธานาธิบดี กลอเรีย อาร์โรโย คนของประธานาธิบดี เคยร่วมกับจีนก่อตั้งคณะร่วมสำรวจทรัพยากรทางทะเล แต่ทว่าทำกันนอกความรับรู้ของกระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงฟิลิปปินส์ (หน้า 133) เรื่องกลายเป็นว่า คนในวงศ์วานหว่านเครือของอาร์โรโย ใช้อำนาจประธานาธิบดีและเส้นสายทางการเมืองหาประโยชน์ใส่ตัว เรื่องนี้สร้างความกังขาให้กับคนที่อยู่วงนอกมาก เวียดนามรู้เข้าตอนแรกๆก็ไม่พอใจ แต่สุดท้ายในปี 2005 ปิโตรเวียดนาม ก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับคณะสำรวจนี้ด้วย โดย NCOOC ของจีนเป็นคนดำเนินงาน โดยมีบริษัทอเมริกันคือ Fairfield และ บริษัทน้ำมันแห่งชาติฟิลิปปินส์ ร่วมอยู่ด้วย
นอกจากงานของบีพีในบล๊อค 6.1 แล้วในบทนี้ Hayton ไม่ได้ให้ข้อมูลว่ามีใครประสบความสำเร็จในการลงทุนทางด้านปิโตรเลียมในทะเลจีนใต้เป็นกอบเป็นกำบ้าง เขาอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มเพนนีแบลก (Penny Black) ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่อคติน้อยที่สุดว่าบางทีอาจจะไม่มีทรัพยากรปิโตรเลียมโดยเฉพาะในเขตเส้นประรูปตัวยูที่จีนอ้างสิทธิอยู่มากมายนัก ถ้าหากจะมีดูเหมือนจะอยู่นอกเส้นนั้นเสียเป็นส่วนใหญ่
เพนนีแบลกเป็นชื่อผับในสิงคโปร์ซึ่งเป็นที่นักธรณีวิทยาที่ทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชอบไปนั่งสุมหัวถกเถียงกันเรื่องงานการสำรวจทางภูมิศาสตร์ คนเหล่านี้อายุ 40-50 ปี ส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานและเป็นสมาชิกสมาคมสำรวจปิโตรเลียมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นี่เป็นข้อมูลที่ทำลายความหวังและพื้นฐานของการต่อสู้แย่งชิงลงเกือบจะสิ้นเชิง เพราะจีนเชื่อจากการสำรวจในช่วงทศวรรษ 1980 ว่านี่เป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังที่ได้กล่าวข้างต้น (แต่ตัวเลขที่อ้างอิงไม่ค่อยตรงกันนักในปี 1994 กระทรวงทรัพยากรของจีนคาดว่าน่าจะมีน้ำมัน 220,000 ล้านบาเรลที่สแปรตลี ก่อนหน้านี้บอกว่ามี 105,000 ล้านบาเรล)
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ทางการจีนให้อาจจะถูกก็ได้ แต่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ปริมาณทรัพยากรที่มีและที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้นอาจจะเป็นคนละเรื่องกันได้ ปกติแล้วมนุษย์สามารถนำทรัพยากรใต้พิภพมาใช้ได้แค่ 1/3 ของที่คาดว่ามีอยู่จริง องค์การข้อมูลพลังงานของสหรัฐคาดว่าทะเลจีนใต้น่าจะมีน้ำมันที่มนุษย์สามารนำมาใช้ได้แค่ 11,000 ล้านบาเรล แก๊ส 190 ล้านล้านคิวบิกฟุต องค์การสำรวจภูมิศาสตร์สหรัฐคาดว่าอาจจะมีน้ำมันปิโตรเลียมที่ยังค้นไม่พบในทะเลจีนใต้อีกน่าจะราวๆ 5,000-22,000 ล้านบาเรล ซึ่งถ้าคิดแบบเฉลี่ยก็น่าจะได้สักแค่ 11,000 ล้านบาเรล และน่าจะมีแก๊สธรรมชาติเหลว 4,000 ล้านบาเรล
ปัญหาคือว่า ทรัพยากรเหล่านี้ที่เชื่อว่ามีและยังค้นไม่พบนี่มันไปอยู่ตรงไหน เขตของใครบ้าง และอยู่ในเขตทับซ้อนอีกเท่าไหร่ แน่นอนถ้าคิดเฉลี่ยกระจายไปตามกำลังทางเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าประเทศที่เล็กและจนกว่าอย่างฟิลิปปินส์หรือเวียดนามสามารถนำน้ำมันและแก๊สขนาดนี้มาใช้ได้ก็คงมีความหมายต่อเศรษฐกิจมาก แต่ถ้าเป็นขนาดเศรษฐกิจระดับจีนบางทีนี่อาจจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก จีนใช้น้ำมันปีละ 3,000 ล้านบาเรล แก๊ส 5 ล้านล้านคิวบิกฟุต ทรัพยากรในทะเลจีนใต้ สมมุติว่าจีนได้ไปทั้งหมดคงใช้ได้แค่สัก 2-3 ปีเท่านั้น ไม่นับว่านำขึ้นมาด้วยความลำบากยากเย็นและลงทุนมากมายมหาศาล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานทั้งหลายไม่เคยคิดว่าทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลกทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต พูดง่ายๆโลกยังสามารถหาแหล่งพลังงานจากธาตุไฮโดรคาร์บอนจากแหล่งอื่นได้ง่ายและถูกกว่านี้อีกมากมาย ยิ่งมาพูดเรื่องนี้ตอนราคาน้ำมันตกต่ำด้วยแล้ว ยิ่งหาเหตุผลดีๆไม่ได้ว่าทำไมมนุษย์ในย่านนี้ต้องมาทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะเรื่องนี้
มองจากมุมมองของเรื่องพลังงานแล้ว ความสำคัญของทะเลจีนใต้อยู่ตรงที่มันเป็นเส้นทางขนส่งพลังงานที่สำคัญมากกว่าพลังงานที่อยู่ใต้ท้องทะเล ประมาณ 1/3 ของการขนส่งพลังงานปิโตรเลียมของโลกผ่านช่องแคบมะละกาเข้าออกทะเลจีนใต้ แหล่งบริโภคพลังงานสำคัญของโลก ถ้าไม่นับจีนแผ่นดินใหญ่ก็ ยังมีญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ยังไม่นับประเทศอื่นๆที่อยู่รอบๆและเป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ต้องใช้เส้นทางผ่านทะเลนี้ด้วย
ว่าแต่เฉพาะจีนประเทศเดียว น้ำมันคิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดที่จีนใช้ ครึ่งของจำนวนนี้ต้องนำเข้า และมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของที่นำเข้านั้นขนผ่านช่องแคบมะลากา เอาแบบตรงๆไม่ยอกย้อนคือ 10 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่จีนใช้ขนส่งผ่านทะเลจีนใต้ และแนวโน้มนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น
พูดในฐานะนักอ่าน บทนี้น่าจะเป็นบทสรุปทั้งๆที่นี่เพิ่งเดินทางมาได้แค่ครึ่งเล่ม Hayton สรุปบทนี้เอาไว้ค่อนข้างดีว่า แทนที่ประเทศเหล่านี้จะมาถียงกันเพื่อแสดงอำนาจครอบครองพื้นที่ด้วยหวังจะเป็นเจ้าของทรัพยากรซึ่งคงจะมีอยู่ไม่มากนัก ไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุนลงแรงต่อสู้กัน ทางเลือกอื่นที่ดีกว่าคือ ทำไม่ร่วมมือกันคุ้มครองเสรีภาพในการเดินเรือเพื่อรักษาความมั่นคงของเส้นทางการขนส่งพลังงาน ความจริงความร่วมมือในการพัฒนาและใช้ทรัพยากรในทะเลร่วมกันของประเทศต่างๆเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ถ้าทำอย่างนั้น รัฐบาลของทุกประเทศจะสามารถไว้วางใจกันและกันได้ เพราะทุกฝ่ายต่างก็ต้องมั่นใจว่า พลังงานไม่ว่าจะมาจากไหน มันจะเดินทางมาถึงท่าเรือของตัวเองอย่างแน่นอน
Info-graphic: Energy Information Administration
บทที่ 6 : ชาตินิยม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเวียดนามและฟิลิปปินส์ประท้วงจีนเพราะเหตุแห่งข้อพิพาทระหว่างประเทศเหนือทะเลจีนใต้ ในเวียดนามนั้นการประท้วงเป็นไปอย่างรุนแรง ในเดือนพฤษภาคม 2014 ถึงขั้นเกิดจลาจลมีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย โรงงานของนักลงทุนต่างประเทศไม่เฉพาะแต่ของชาวจีน หากแต่สิงคโปร์ ไต้หวัน และของไทย พลอยโดนหางเลขถูกเผาทำลายไปด้วย เพราะชาวเวียดนามโกรธแค้นประเทศจีนที่รุกรานแผ่นดินของเวียดนามในทะเลจีนใต้
คนเวียดนามที่ไปประท้วงตอนนั้นก็อาจจะเหมือนกับคนไทยประท้วงปราสาทพระวิหารเมื่อหลายปีก่อนคือ พวกเขาอาจจะไม่เคยเห็นที่พิพาทหรืออาจจะไม่เข้าใจที่มาของเหตุพิพาทระหว่างประเทศนั้นเลยก็ได้ แต่สามารถมีอารมณ์ร่วมได้อย่างรุนแรงถึงขั้นฆ่าฟันมนุษย์คนอื่นหรือทุบทำลายข้าวของได้ เพราะมีสิ่งที่ อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ได้กล่าวไว้คือ จินตนาการเกี่ยวกับชาติ เหมือนกัน
Hayton อ้าง ชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) ของอาจารย์เบนที่เขียนขึ้นเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว เพื่ออธิบายว่าการก่อเกิดของชาตินิยมในศตวรรษที่ 19 และ 20 นั้นมีเหตุผลทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และการนิยามอัตลักษณ์ส่วนตน เพื่อสร้างจินตนาการว่าชุมชนของตัวเองนั้นแตกต่างจากพวกอื่นๆ
ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 นี้ Hayton ว่ามีคลื่นแห่งชาตินิยมใหม่เกิดขึ้นในประเทศรอบๆ ทะเลจีนใต้ โดยอาศัยแรงขับดันจากการพัฒนาเศรษฐกิจ เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ และความปรารถนาของมนุษย์ที่จะแสดงตัวตน ซึ่งนี่ก็อาจจะคล้ายๆกับคนจำนวนมากในแถบนี้สร้างจินตนาการเกี่ยวกับชาติเพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมในศตวรรษที่ 20 (หน้า 153)
นิยามของชาตินิยมเวียดนามยุคใหม่คืออะไรที่ตรงกันข้ามกับจีน การสร้างชาตินิยมเวียดนามทำได้ไม่ยากนักเพียงแต่ตอกย้ำประวัติศาสตร์การต่อสู้กับจีนในอดีตขึ้นมาก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้คนเวียดนามรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดรวมหมู่ที่จีนเคยทำเอาไว้ ถนนชื่อดังหลายสายในฮานอย ตั้งตามชื่อกษัตริย์ วีรบุรุษ วีรสตรี ที่เคยต่อสู้กับจีนมาแล้วทั้งสิ้น เช่น ไฮบาจึง คือสองพี่น้องตระกูลจึงที่นำกบฏต่อต้านจีนในช่วงปี ค.ศ. 40 โง เหวียน คือคนแรกที่พาเวียดนามแยกตัวออกเป็นอิสระจากจีนในปี 938 หลีเถิ่งเกียต คือคนที่นำการต่อสู้กับจีน ปี 1076 จั่นเฮื่องด่าว คือผู้นำการต่อต้านมองโกล ปี 1284 เลหล่อยหรือเลถ่ายโถ ผู้เอาชนะต้าหมิง 1428 ส่วน ถนนเหวียนเหวในย่านธุรกิจของโฮจิมินห์ซิตี้ ตั้งตามชื่อจักรพรรดิผู้เอาชนะชิงของจีนได้ในปี 1789 เป็นต้น
คงมีข้อถกเถียงกันมากมายทีเดียวว่า แท้จริงแล้วเวียดนามต่อต้านจีนก็แต่เฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น หากแต่รากเหง้าทางวัฒนธรรม ความคิด และภูมิปัญญาของเวียดนามนั้นหาความแตกต่างจากจีนได้น้อยมาก แต่ชาวเวียดนามก็ถือว่าตัวเองมีความสร้างสรรค์และวัฒนธรรมที่สูงกว่าจีน ในขณะที่จีนก็มองว่าเวียดคือชนเผ่าทางใต้
ความผูกพันทางด้านอุดมการณ์ในระยะหนึ่งของการสร้างชาติสู่ความเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่สามารถหลอมให้เวียดนามเข้าไปอยู่ใต้การครอบงำของจีนได้ จีนเคยให้ความช่วยเหลือเวียดนามเกือบจะทุกด้านในการปฏิวัติปลดปล่อยประเทศ มองจากมุมของจีนแล้วเวียดนามเป็นพวกอกตัญญู แต่สำหรับเวียดนามแล้ว การแตกแยกในโลกสังคมนิยมและสงครามสั่งสอนในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความแตกต่างและความจำเป็นที่เวียดนามจะต้องหนีออกไปจากการครอบงำของจีนให้ได้ ความแตกแยกครั้งนั้นดำรงอยู่นานกระทั่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตแล้วหลายปี ผู้นำจีนและเวียดนามจึงค่อยๆหันหน้าเข้าหากันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศสมัยนี้ซับซ้อนกว่ายุคก่อนมาก เวียดนามขัดแย้งกับจีนในเรื่อง ทะเลจีนใต้ ก็จริง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ยังถือว่าอยู่ในระดับปกติ ในทางเศรษฐกิจก็มีความผูกพันกันมาก จีนลงทุนในเวียดนามไม่น้อย จีนเป็นตลาดหลักแห่งหนึ่งของสินค้าที่ผลิตในเวียดนาม ประเทศทั้งสองมีชายแดนติดกัน ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่อีกมาก การที่ประชาชนเวียดนามจำนวนหนึ่งจะแสดงออกถึงการต่อต้านจีนอย่างถึงรากถึงโคนขนาดก่อจลาจลจนมีคนบาดเจ็บล้มตายดูจะเป็นเรื่องที่เกินความควบคุมของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามไปมาก ดังนั้นจะปรากฏข่าวรัฐบาลเวียดนามทำการจับกุมและดำเนินคดีกับประชาชนที่ก่อจลาจลต่อต้านจีน เพื่อพิสูจน์ว่า รัฐบาลไม่ได้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงและการต่อต้านจีน เพราะจะทำให้ภาพรวมความสัมพันธ์เสียหายไปมากเกินเยียวยา
ในกรณีของฟิลิปปินส์นั้น มีสิ่งที่เรียกว่าชาตินิยมอยู่เหมือนกัน ฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมเหมือนเวียดนาม แม้ว่าการต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราชนั้นไม่โดดเด่นเท่าและเอกราชของฟิลิปปินส์ดูเหมือนการแลกเปลี่ยนสัมปทานของจักรวรรดินิยมมากกว่า
อย่างไรก็ตามในสมัยที่สเปนปกครอง คนที่มีลักษณะชาตินิยมต่อต้านจักรวรรดิมี 2 กลุ่มคือ พวกชนชั้นนำและชนชั้นกลาง ที่น่าสนใจคือ การปกครองของสเปนเลือกปฏิบัติและกดขี่พวกจีนอพยพมากกว่าคนกลุ่มอื่น เฉพาะพวกที่ยอมเปลี่ยนศาสนามาถือคาทอลิกเท่านั้นถึงได้รับอนุญาตให้อยู่ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ถูกเนรเทศ ในราวปลายศตวรรษที่ 19 สเปนได้จัดกลุ่มคนที่ยอมเปลี่ยนศาสนาและแต่งงานเข้ากับคนพื้นเมืองว่าเป็นพวกเลือดผสมหรือ Mestizo พวกนี้ใช้ชื่อแบบสเปน ใช้ภาษาสเปนยอมรับวิถีชีวิตแบบสเปน แต่ไม่ว่าจะร่ำรวยและมีการศึกษาสูงเพียงใด คนพวกนี้ไม่มีทางได้รับการยอมรับให้อยู่ในสังคมชั้นสูงของอาณานิคม คนพวกนี้คือคนอย่าง โฮเซ่ รีซาล ซึ่งสร้างแนวคิดชาตินิยมขึ้นมา เรียกตัวเองว่า ฟิลิปิโนและเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกับพวกสเปน ในช่วงระยะเวลานั้นมีกระแสชาตินิยมมาจากอีกพวกหนึ่งเหมือนกันคือชนชั้นกลางในเมือง คนเหล่านี้เรียกว่า Katipunan ส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นสูงของชนพื้นเมืองเดิม ก็เหมือนกับพวกเลือดผสมคือพวกเขาก็ต้องการความเท่าเทียมกับพวกเลือดสเปนเช่นกัน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะลูซอน พูดภาษาตากะล๊อก พยายามสร้างวัฒนธรรมของพวกเขาให้เป็นสายหลักในฟิลิปปินส์เพื่อรวมการต่อต้านสเปนในช่วงการลุกฮือต่อต้านสเปนในปี 1896
การต่อสู้ดูเหมือนจะไปสู่เอกราชแต่กลับลงเอยด้วยการไปอยู่ภายใต้สหรัฐหลังจากที่พวกอเมริกันชนะสงครามกับสเปน พวกอเมริกันก็ไม่ได้ปฏิบัติต่อฟิลิปปินส์ดีเด่สักเท่าไหร่ ทำการปราบปราบพวกต่อต้านเช่นกัน แต่ก็มีคนพวกหนึ่งละทิ้งความเป็น”ชาติ”ของตัวเอง เพราะหวาดกลัวการปราบปราบ พวกเขาจึงได้รับปฏิบัติจากอเมริกันดีกว่าและสุดท้ายกลายมาเป็นผู้ช่วยอเมริกันในการปกครอง คนพวกนี้คืออดีต Mestizo ซึ่งน่าจะมีจำนวนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดและเป็นบรรพชนของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หลายคนเช่น โรซัส ลอเรล ควิริโน แม๊กไซไซ มาร์กอส อควิโน และแน่นอนถูกพวก Katipunan ต่อต้าน
อาจจะกล่าวได้ว่าพวก Katipunan นี่เองซึ่งรักษาชาตินิยมฟิลิปปินส์เอาไว้ในปัจจุบัน พวกเขามีความหลากหลายมากในทางการเมือง คือมีตั้งแต่คอมมิวนิสต์ไปจนถึงนายทหารในกองทัพแห่งชาติ พวกมีความเห็นร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ พวกชนชั้นสูงขายชาติให้สหรัฐไปแล้วเพื่อประโยชน์ส่วนตัว พวกฝ่ายซ้ายในฟิลิปปินส์จะยังมีความเห็นต่อต้านอเมริกันอยู่มากในปัจจุบัน
แต่เมื่อเจอปัญหาทะเลจีนใต้กลับมีความยุ่งยากว่าจะใช้แนวคิดชาตินิยมมาจัดการอย่างไร เพราะในหมู่ชนชั้นสูงฟิลิปปินส์ก็ยังเถียงกันว่าจะเอาอย่างไรดี ความคิดที่ต่อต้านจีนหรือต่อต้านอเมริกันไม่ค่อยต่อเนื่องคงเส้นคงวาเท่าไหร่
คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ตามการสำรวจของ PEW พบว่ายังนิยมอเมริกันอยู่มาก การสำรวจในปี 2013 พบว่าฟิลิปปินส์เป็นชาติที่นิยมอเมริกันมากที่สุดในโลก จากการสำรวจขององค์กรเดียวกันพบว่า คนฟิลิปปินส์เห็นว่าทะเลจีนใต้มีปัญหาแน่ ปัญหาอำนาจอธิปไตยมีความสำคัญ แต่ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทำอะไรกันตอนนี้
ในมะนิลามีชุมชนคนจีนอยู่เหมือนกันแต่พวกเขาจะมีความเป็นจีนอยู่ในระดับใดก็ยังเป็นเรื่องที่วัดยาก บางคนให้สัมภาษณ์กับ Hayton (หน้า 168-9) ว่าถ้าจีนโจมตีฟิลิปปินส์พวกเขาจะต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ แต่ถ้าฟิลิปปินส์โจมตีจีนพวกเขาจะเข้าข้างจีน คนจีนเหล่านี้มีความเข้าใจเรื่องชาติสมัยใหม่ดีว่าหมายถึงประเทศที่เขาอาศัยอยู่ แต่ยังเบลออยู่มากเกี่ยวกับความเป็นจีนว่าแท้จริงแล้วจีนเป็น“คนอื่น”หรือเป็นพวกตัวเอง จากการสำรวจคนฟิลิปปินส์มากกว่าครึ่ง (54 %) มีทัศนคติทางบวกต่อจีน แต่เมื่อมีเหตุตึงเครียดที่แนวปะการังสกาโบโรคนที่ยังคิดบวกกับจีนเหลืออยู่ 48 %
ความจริงในบทนี้ Hayton พูดถึงชาตินิยมในอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ด้วยสองชาตินั้นมีชุมชนจีนอยู่อย่างมีนัยสำคัญ มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ อินโดนีเซียไม่ได้อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับจีน แต่ทะเลาะกับจีนในเรื่องประมงที่บริเวณในใกล้ๆ นาทูนา และมีปัญหากับคนจีนในประเทศมาตลอด ในขณะที่สิงคโปร์นั้น สัดส่วนประชากร จีน มาเลย์และอื่นๆมากพอๆกัน ชนชั้นสูงของสิงคโปร์เป็นพวกจีนแบบอังกฤษ ทั้งหมดนั้นทำให้อัตลักษณ์ของพวกเขาสับสนมาก แต่เนื่องจากสามชาตินั้นไม่ได้ต่อสู้เรื่องทะเลจีนใต้กับจีนอย่างดุเดือดนัก จึงขอผ่านเลยไปและจบบทนี้แต่เพียงนี้
บทที่ 7 มดกับช้าง
กัมพูชาไม่ได้อ้างสิทธิใดๆเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และอาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีผลประโยชน์โดยตรงกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แต่รัฐบาลพนมเปญรับบทผู้ร้ายประจำกลุ่มอาเซียนมาโดยตลอดนับแต่กลุ่มนี้เริ่มพูดปัญหาทะเลจีนใต้กันอย่างจริงจังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
พูดตรงไปตรงมา ไม่เพียงแต่กัมพูชาประเทศเดียวหรอกที่แสดงความโอนเอียงไปจากจีนในปัญหาความขัดแย้งทะเลจีนใต้ แต่กัมพูชาแสดงออกให้เห็นชัดเจนที่สุดว่าเล่นไพ่จีนเพื่อแลกกับผลประโยชน์จากความช่วยเหลือ การค้าและการลงทุนที่จีนมีต่อกัมพูชา
สิ่งที่ตอกย้ำความเชื่อว่ากัมพูชาเลือกจีนเหนือผลประโยชน์จากการรวมกลุ่มของอาเซียนคือ เหตุการณ์ปี 2012 เมื่อกัมพูชาเป็นประธานอาเซียนแล้วไม่ยอมออกแถลงการณ์หลังการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศ นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียนเลยทีเดียวที่ขัดแย้งกันหนักขนาดไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ การกระทำของรัฐบาลกัมพูชาในปีนั้นถือได้ว่าเป็นการทำลายความพยายามของกลุ่ม (อันที่จริงของฟิลิปปินส์และเวียดนามมากกว่า) ในอันที่จะพูดเรื่องทะเลจีนใต้เป็นเสียงเดียวกัน
ไม่รู้ว่า Hayton ได้ไปทำข่าวการประชุมอาเซียนปีนั้นด้วยหรือเปล่า แต่เขาเล่าเหตุการณ์นี้ค่อนข้างละเอียด (หน้า 192-200) ว่าฟิลิปปินส์และเวียดนามเป็นผู้พยายามผลักดันให้นำปัญหาความขัดแย้งกับจีนที่ Scarborough shoalและการรุกล้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะใส่ลงไปในแถลงการณ์ร่วมด้วย แต่กัมพูชาไม่ยอมและใช้อำนาจในฐานะประธานตัดสินใจว่าหากไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะพูดถึงปัญหานี้อย่างไร ก็อย่ามีแถลงการณ์เสียเลยดีกว่า
การทำแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมประจำปีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเอกสารที่แสดงออกถึงจุดยืนและท่าทีของกลุ่มอาเซียนต่อปัญหาต่างทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม กระบวนการในการจัดทำเอกสารนั้นค่อนข้างยืดยาว กระทำกันก่อนจะมีการประชุมของรัฐมนตรีโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสเป็นผู้ยกร่างแถลงการณ์ มีการเจรจากันเกือบทุกตัวอักษร ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้พวกเขาจะปรึกษารัฐมนตรี สมัยก่อนทำข่าวอาเซียนนั้นนักข่าวรุ่นเก่าเก๋าเกมอย่างพี่กวี เฮียหงวน พี่ตู่ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก แต่ปีหลังๆเอกสารหรือแถลงการณ์มากมายเสียจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นักข่าวรุ่นหลังๆก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้นัก เว้นเสียแต่ว่า มันมีปัญหาจริงอย่างเช่นในปี 2012
ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเดือนกรกฎาคม 2012 ในร่างแรกของแถลงการณ์ร่วมนั้นพูดเรื่อง Scarborough shoal ตามที่ฟิลิปปินส์ต้องการและระบุปัญหาการรุกพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามตามที่รัฐบาลฮานอยอยากเห็น แต่ปักกิ่งได้ส่งสัญญาณมาแล้วก่อนหน้าและ Hayton บอกว่าบางทีฝ่ายกัมพูชาอาจจะส่งร่างแถลงการณ์ให้จีนดูด้วย (หน้า 196) ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกที่เจ้าหน้าที่จีนจะเห็นร่างก่อน (นักข่าวยังได้เลย) แต่เมื่อมันเป็นกิจการภายในอาเซียนและจีนก็เป็นคู่เจรจาโดยมารยาททางการทูต (ซึ่งก็พูดกันไปอย่างนั้นเอง) ก็ไม่ควรก้าวล่วง
เหมือนกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฮิลล่ารี่ คลินตัน ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมาประชุมด้วยในวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น ARF และได้พูดระหว่างที่อยู่ที่พนมเปญว่า สหรัฐอยากให้อาเซียนมีเอกภาพ และในปัญหาทะเลจีนใต้นั้น สหรัฐไม่ได้เป็นผู้อ้างสิทธิใดๆด้วย แต่ต้องการเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ (นี่เป็นจุดยืนในระดับยุทธศาสตร์ของสหรัฐ หลังจากที่กลับเข้ามาในภูมิภาคนี้อีกครั้งตามนโยบายRebalancing)
ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) รัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่พูดว่า อาเซียนควรจะพูดเป็นเสียงเดียวกันและอย่างไรเสียก็ต้องมีแถลงการณ์ร่วม ไทยและอินโดนีเซียพูดคล้ายกันเรื่องรักษาเอกภาพของอาเซียน ส่วนเวียดนามต้องการให้พูดชัดเจนว่าจีนรุกล้ำอำนาจอธิปไตย รัฐมนตรีจากลาวและพม่า ซึ่งตอนนั้นคนทั่วไปก็เห็นว่าโอนเอียงไปทางจีนมากก็สนับสนุนร่างแถลงการณ์ รัฐมนตรีสิงคโปร์บอกว่าจะต้องพูดถึงเหตุการณ์ล่าสุด โดยรวมๆก็สรุปได้ว่า ไม่มีใครคัดค้านร่างแถลงการณ์ร่วมแน่นอน
แต่ ฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาในเวลานั้นกลับพูดว่า ที่ประชุมไม่สามารถหาฉันทามติได้ ถ้าหากอยากจะออกแถลงการณ์ร่วมก็จะตัดย่อหน้าในส่วนที่มีปัญหาออกไปเสีย รัฐมนตรีที่เป็นกรรมการยกร่างก็บอกว่าน่าจะหาทางออกร่วมกันได้โดยการใช้คำอื่น เช่น พื้นที่พิพาท (แต่เวียดนามไม่เห็นด้วยที่จะใช้คำนี้) สุรินทร์ พิศสุวรรณ ตอนนั้นเป็นเลขาธิการอาเซียน และ มาร์ตี้ นาตาเลกาวา พยายามหาทางออกด้วยการเสนอทางเลือกอื่นๆ มาร์ตี้ เสนอร่างต่างๆให้เลือกถึง 18 ร่างด้วยกัน แต่ก็ไม่เป็นที่พอใจ สุดท้ายประธานฮอร์นัมฮง ปิดไมค์ (ระหว่างที่อาจารย์สุรินทร์กำลังพูด) เก็บเอกสารเดินออกจากห้องประชุมไปเฉยเลย
ตอนหลังด้วยความพยายามของอินโดนีเซีย อาเซียนออกเอกสารชุดหนึ่งว่าด้วยแนวทางในเรื่องทะเลจีนใต้ แต่ไม่ได้เป็นเอกสารที่ใครสนใจมากนักและในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึง
ความจริงแล้วเรื่องอาเซียนและทะเลจีนใต้ สามารถเขียนได้อีก 1 เล่ม แต่ในเล่มนี้ Hayton ก็พูดถึงอาเซียนไม่มากนัก ในส่วนของบทที่ 7 นี้ก็ให้รายละเอียดแต่เฉพาะเหตุการณ์ที่พนมเปญ ซึ่งก็น่าจะยังไม่สามารถอธิบายความได้ทั้งหมดว่า ทำไมกัมพูชาต้องทำเช่นนั้น เหตุผลเรื่องผลประโยชน์จากจีนล้วนๆอย่างที่ Hayton พยายามอธิบายอาจจะยังไม่เพียงพอ กัมพูชาไม่ได้เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ผูกพันกับจีนด้วยเหตุผลนี้ ว่ากันตามประวัติศาสตร์กัมพูชาภายใต้การนำของฮุนเซนน่าจะเห็นแก่หน้าเวียดนามมากกว่าจีน แต่ Hayton บอกว่าฮุนเซนต้องการใช้เรื่องนี้พิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้อยู่ใต้อำนาจเวียดนาม เหนือสิ่งอื่นใด ฮุนเซนไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของอาเซียนมากกว่าประโยชน์ของตัวเอง (หน้า 199)
ภาพประกอบ: พระราชวังต้องห้ามของจีน
บทที่ 8 ทหารและสงคราม
“ขีดความสามารถของกองทัพเรือจีนน่าจะตามหลังสหรัฐอยู่ 2-3 รุ่น (generation) จีนสร้างเรืออย่างบ้าคลั่ง แต่ก็ได้เท่ากับที่สหรัฐมีในช่วงทศวรรษ 1990 กองทัพเรือตามหลังสหรัฐอยู่ประมาณ 20 ปี ต่อให้กองทัพสหรัฐโดนตัดงบประมาณมากกว่านี้ก็ยังล้ำหน้าจีนอยู่มาก” — Gary Li อดีตนักวิเคราะห์สถาบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติ ที่ลอนดอน ปัจจุบันทำงานให้กับ HIS Maritime ที่ปักกิ่ง
วาทะของลีอาจจะทำลายความหวังของใครก็ตามที่คิดจะพึงพิงจีนในทางทหารหากเกิดกรณีจำเป็นต้องรบกับสหรัฐขึ้นมาจริงๆ แต่ไม่ได้ทำให้จีนเลิกล้มความตั้งใจและแผนงานที่จะสร้างแสนยานุภาพทางทะเลของตนเอง โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้
จีนเริ่มเอาจริงเอาจังกับการพัฒนากองทัพเรือน่าจะราวๆ 20 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เริ่มประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและมองเห็นความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงทางทะเล จีนใช้กลยุทธ์คทาพิฆาต คือการใช้ยุทโธปกรณ์ราคาถูกต่อกรกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า พูดง่ายๆคือ การพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันการโจมตีทางอากาศจากฐานทัพสหรัฐและเรือบรรทุกเครื่องบินที่อยู่ในแปซิฟิกและทะเลจีนใต้นั่นเอง (หน้า 216) ในภาษาอังกฤษกลยุทธ์นี้รู้จักกันในนาม Anti-Access (A2) ในทางยุทธวิธีแล้วจีนอาจจะใช้ทุ่นระเบิดหรือเรือดำน้ำติดตอปิโดหรือขีปนาวุธหรือการโจมตีทางไซเบอร์ก็ได้ แต่โดยทั่วแล้วนักวิเคราะห์ให้ความสนใจขีดความสามารถของขีปนาวุธดงเฟง21D ที่ใช้ในการต่อต้านเรือรบมากกว่า ดงเฟงมีพิสัยทำการไกลถึง 1,500 กิโลเมตร สามารยิงจากฝั่งไปทำลายเรือรบได้
มองจากมุมของสหรัฐถ้าจีนสามารถพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลมากขึ้นเท่าใดแปลว่าแปซิฟิกตะวันตกก็เริ่มอ่อนแอลงเท่านั้น ถ้าสหรัฐต้องการเอาชนะจีนในกรณีนี้ต้องสามารถทำลายศูนย์ควบคุมระบบที่อยู่นอกสนามรบให้ได้ นั่นเป็นเรื่องของกลยุทธที่นักการทหารทั้งสองฝ่ายจะต้องคิด
ในภาพรวมทางยุทธศาสตร์แล้วสหรัฐกำลังคำนวณว่าแสนยานุภาพของจีนเป็นภัยต่อการเข้าถึงทะเลจีนใต้ของสหรัฐมากแค่ไหนเมื่อพิจารณาว่าปัจจุบันกองเรือของจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ งบประมาณทางทหารก็มากเป็นอันสอง ในเชิงปริมาณจำนวนเรือรบพื้นผิว เรือดำน้ำ ขีปนาวุธและอื่นๆจีนมีน้อยกว่าสหรัฐอยู่ราวๆ 30 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักวิเคราะห์ทางทหารให้ความสำคัญมากที่สุดคือ เรื่องขีดความสามารถของเทคโนโลยีและกำลังรบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และประสบการณ์ในการสงครามของจีน อาจจะกล่าวได้ว่า กองทัพประชาชนจีนไม่มีประสบการณ์ในการรบทางทะเลเลย การปะทะครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์กองทัพเรือจีนคือการปะทะกับกองเรือเวียดนามใต้ที่หมู่เกาะพาราเซลในปี 1974 ในขณะที่ค่ายตะวันตกและอังกฤษนั้นอยู่ในทะเลมาโดยตลอด เอาแค่เรือบรรทุกเครื่องบินนี่ก็มีมาร่วมศตวรรษแล้ว ในขณะที่จีนเพิ่งจะมีมาสัก 2-3 ปีที่ผ่านมานี่เอง ไม่นับว่าประสบการณ์ในสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ ทุ่นระเบิด ซึ่งกองทัพเรือไม่เคยเจอมาก่อนเลย ดังนั้นโดยสรุปแล้วอาจจะกล่าวได้ว่า กองทัพเรือของจีนในปัจจุบันไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าเกรงขามสำหรับสหรัฐเลย แม้แต่ขีปนาวุธดงเฟง 21D ก็เถอะว่ากันตามตรงยังไม่เคยมีข่าวว่าประสบความสำเร็จในการทดลองยิงเรือที่กำลังเคลื่อนที่ได้อย่างแม่นยำเลยในระยะที่ผ่านมา (แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้จีนคงทำสำเร็จ) และเพนตากอนเชื่อว่าพวกเขาสามารถเอาชนะได้ไม่ยาก
ผู้นำจีนคงเข้าใจสถานการณ์นี้ดี การเผชิญหน้ากับสหรัฐเป็นความจำเป็นในทางจิตวิทยาการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า จีนอาจจะไม่ต้องการสงครามจริงๆอย่างน้อยที่สุดก็ในระยะ 10-20 ปีนี้ แต่ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้ประเทศที่อยู่รอบทะเลจีนใต้เกรงขาม แต่ถ้าทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆเหล่านี้จับทางได้ว่าจีนจะไม่มีเจตนาจะต่อสู้ในสงครามใดๆเสียแล้ว อิทธิพลทางยุทธศาสตร์ของจีนก็จะลดลงทันที เพราะฉะนั้นอย่างไรเสียจีนก็ต้องทำท่าขึงขังเอาไว้ก่อน
ในโลกของความเป็นจริง การนำของจีนก็พอๆกับสหรัฐ คือไม่มีเอกภาพทั้งหมด มีเหยี่ยวมีพิราบเหมือนกัน พวกที่เชื่อในสงครามและแสนยานุภาพก็มีไม่น้อยไปกว่าพวกที่เชื่อในสันติภาพและการทูต ปัญหาของนักสังเกตการณ์หรือประเทศเล็กๆอย่างเราคือ ทำอย่างไรจะเชื่อได้ว่า ข้อมูล ข่าวสาร และการวิเคราะห์ต่างๆที่ออกมานั้นเป็นเรื่องจริง ระหว่างที่พวกเขาพูดว่าไม่อยากจะก่อสงคราม อาจจะมีใครกำลังเตรียมการอยู่ก็เป็นได้
การเตรียมการทางทหารและความมั่นคงในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การฝึกร่วมอย่างเช่น คอบราโกลด์ ในประเทศไทย การพบปะกันของชนชั้นนำทางทหารและความมั่นคงใน Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ ทำหน้าที่ของมันหลายอย่าง ตั้งแต่การฝึก การทำความคุ้นเคยของพันธมิตร การข่มขู่ ป้องปราม แลกเปลี่ยนข่าวกรอง หรือแม้แต่นักธุรกิจอาวุธก็โชว์และขายยุทโธปกรณ์
แสนยานุภาพทางทหารของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดสู้จีนไม่ได้แน่ อินโดนีเซีย ไม่ได้อ้างสิทธิทับซ้อนกับจีนแต่มีปัญหาเรื่องประมงกับจีนแถบนาทูนาประจำ กองทัพอินโดนีเซีย (คงพอๆกับกองทัพไทย—อันนี้Haytonไม่ได้เขียนแต่ผมว่าเอง) มีชื่อเสียงเรื่องการฆ่าฟันประชาชนของตัวเองและการคอร์รัปชั่นในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าอย่างอื่น กองทัพอินโดนีเซียได้ชื่อว่าซื้อยุทโธปกรณ์อย่างสะเปะสะปะที่สุด ตัวอย่างเช่น ปี 2013 ซื้อเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่จากโบอิ้ง 8 ลำ ก่อนหน้านั้นซื้อรถถังจากเยอรมัน 103 คัน โดยไม่มีแผนการชัดเจนเลยว่าซื้อมาทำไม ไม่นับว่าไม่มียุทธศาสตร์ทางทะเลทั้งๆที่ประเทศมีสภาพเป็นเกาะ แผนการพัฒนากองทัพเรือเลื่อนแล้วเลื่อนอีกโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ตอนแรกตั้งใจจะซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซียตอนหลังเปลี่ยนใจไปซื้อของเกาหลีใต้เพราะถูกกว่า
ฟิลิปปินส์มีปัญหากับจีนแน่นอน แต่สถานการณ์แย่กว่าอินโดนีเซียเสียอีก ปี 1995 กรรมาธิการความมั่นคงของวุฒิสภาฟิลิปปินส์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า กองทัพอากาศฟิลิปปินส์บินไม่ได้ กองทัพเรือก็ออกทะเลไม่ได้ เรือรบฟิลิปปินส์นั้นสหรัฐให้มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง มีเรือตรวจการณ์จำนวนหนึ่งก็เป็นของที่โละมาจากอังกฤษหรือไม่ก็เกาหลีใต้ จนทุกวันนี้ แผนการเรื่องการปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของฟิลิปปินส์ยังไม่ชัดเจน ประกาศหลายครั้งแล้ว แต่อุปกรณ์ที่เข้าประจำการในกองทัพกลับกลายเป็นของบริจาคทั้งสิ้น ถ้าไม่มาจากสหรัฐ ก็ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
มาเลเซียเป็นประเทศที่ใช้จ่ายทางทหารได้อย่างมียุทธศาสตร์มากกว่า(สองชาติข้างต้น) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มาเลเซียมีทั้งเรือยามฝั่งและเรือดำน้ำไว้ใช้งาน
เวียดนามซึ่งเผชิญหน้าและอยู่ใกล้จีนกว่า อีกทั้งรู้กำพืดจีนดีกว่าใคร ใช้จ่ายน้อยกว่ามาเลเซียแต่มีกลยุทธ์คทาพิฆาตตามแบบฉบับของตัวเองในการต่อสู้กับจีน ถ้ามองในภาพกว้างดูเหมือนเวียดนามจำลองยุทธวิธีของจีนที่ใช้สู้กับสหรัฐมาใช้กับจีนเอง Gary Li วิเคราะห์ว่า ถ้าหากจะต้องต่อสู้กันในพื้นที่พิพาทดูเหมือนเวียดนามอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบเพราะใกล้กว่า เอาเป็นว่า ถ้ามีกองเรือจีนมาป้วนเปี้ยนแถวๆนั้น เวียดนามสามารถยิงได้จากชายฝั่ง และถ้าเรือจีนเสียหายก็คงจะจมเสียก่อนจะกลับไปถึงฝั่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระยะหลังๆเราจะเห็นประเทศต่างๆรอบทะเลจีนใต้สะสมอาวุธอยู่บ้าง แต่ด้วยขีดความสามารถและสิ่งที่ทำ ประกอบกับความเหลวไหลของผู้นำเหล่าทัพบางประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นยังห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าการแข่งขันทางอาวุธ ไม่นับว่าต่อให้ซื้อจนไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ก็ไม่พอจะต่อกรกับจีนได้อยู่ดี
สิ่งที่พวกเขาทำคือ หาอาวุธที่มีประสิทธิภาพพอจะทำความเสียหายให้กับเรือใหญ่ได้บ้างเท่านั้น หากต้องเผชิญหน้ากันจริงๆ สิ่งที่จะทำอีกอย่างหนึ่งต้องหาความชอบธรรมทางการเมืองมาช่วย พูดง่ายๆทำนองว่า ใครยิงก่อนคนนั้นเสียความชอบธรรม ตัวอย่างเช่น พยายามจะแสดงตัวเวลาเรือยามฝั่งของจีนมาป้วนเปี้ยนแถวๆแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือแหล่งประมงบ้างเท่านั้น แต่ถ้าเกิดวันไหนทหารจีนหงุดหงิดเอาจริงขึ้นมาก็คงยุ่งหน่อย ความขัดแย้งทางทหารในทะเลจีนใต้ที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดหรือคาดการณ์ผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่าจะเป็นความจงใจสู้รบกันจริงๆ
บทที่ 9 ความร่วมมือ (จบ)
อีกสักราวๆหนึ่งชั่วอายุคนนับจากนี้ สภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 39-58 เซนติเมตร ผลของมันคือจะทำให้บรรดาเกาะ โขดหิน และแนวปะการัง หรือสันทรายจำนวนไม่น้อยในทะเลจีนใต้จมลงอยู่ใต้น้ำ Hayton เขียนสรุปเป็นเชิงตั้งคำถามในบทสุดท้ายนี้ว่า สถานการณ์นั้นจะทำให้ปัญหาในทะเลจีนใต้หมดไปหรือไม่ คำตอบคราวๆจากที่ได้กล่าวมาจากทั้งหมด ดูเหมือนว่าปัญหาคงจะไม่ได้ลงลดแต่อย่างใด
ถึงแม้ว่าจะค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า บริเวณพื้นที่ใกล้ชายฝั่งจะมีทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งแก๊สและน้ำมันจำนวนมากและสามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ง่ายกว่าบริเวณที่พิพาทใกล้ๆกับสแปรตลี แต่ก็เป็นเรื่องที่หวังได้ยากว่าจะประเทศต่างๆละความพยายามที่จะเข้าไปครอบครองและแสวงหาผลประโยชน์อันจะมานำมาซึ่งความขัดแย้ง
ความจริงแล้วความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยหรือแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมเท่านั้น การประมงเป็นเรื่องที่เป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งได้ไม่น้อยเหมือนกัน จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องการประมงในทะเลจีนใต้ไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆเลยทีเดียว
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่จับปลาทูนาครีบเหลืองได้มากที่สุด ปลาเหล่านี้อพยพจากทะเลจีนใต้เข้าไปในทะเลซูลูของฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม และอพยพกลับออกไปในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ผ่านช่องแคบในหมู่เกาะแถบนั้น คาดว่า ¼ ของปลาทูน่าในตลาดสหรัฐไปจากฟิลิปปินส์ ความจริงก็ไม่เฉพาะทูน่า สัตว์ทะเลจำนวนมากกลายเป็นแห่งอาหารสำคัญของผู้คนในแถบนี้มานานแล้ว ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่งที่ทำการประมงไม่น้อย ในปี 2002 มีชาวประมงจดทะเบียนมากถึง 1.8 ล้านราย ตัวเลขที่ปัจจุบันนี้ก็คงจะมากกว่านี้ (แต่ทำไม Hayton ใช้ตัวเลขเก่าขนาดนั้นก็ไม่รู้)
ในจีนนั้นการบริโภคอาหารทะเลเพิ่มขึ้นมาอยู่ราวๆ 25 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปัจจุบัน อินโดนีเซีย 35 ไต้หวัน 45 ญี่ปุ่น 65 จีนอาจจะบริโภคน้อยกว่าประเทศอื่นในย่านเดียวกัน แต่เป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายสำคัญเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม 70 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทางประมงของจีนมาจากการเพาะเลี้ยง ความจริงแล้วจีนไม่มีนโยบายส่งเสริมการประมงในทะเล แต่นโยบายที่จะลดจำนวนเรือประมงด้วยการชดเชยให้ผู้ที่เปลี่ยนมาเพาะเลี้ยงแทนก็ไม่ได้ผลมากนัก ก็ยังปรากฏว่ามีชาวจีนที่อยู่ชายฝั่งออกเรือหาปลากันอยู่ ในปี 2013 ปรากฏว่ามีเรือประมง 9000 ลำจดทะเบียนที่ไฮ่หนานและ 14,000 ที่กวางตุ้ง
อย่างไรก็ตามมีเรือประมงจีนจำนวนหนึ่งที่จดทะเบียนเพื่อออกหาปลาในพื้นที่พิพาทบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีโดยเฉพาะเพื่อแสดงตัวต่อชาวประมงชาติอื่นในบริเวณนั้นว่าจีนต้องการจะหาประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลในบริเวณนั้นจริง เรือเหล่านี้มีภารกิจชัดเจน ติดธงจีนออกหาปลาในเขตพิพาทและพยายามนำทูน่าเข้าฝั่งให้ได้ (หน้า 242) ทางการจีนให้การอุดหนุนชาวประมงเหล่านี้ให้ปรับปรุงเรือให้มีขีดความสามารถในการทำประมงนอกชายฝั่งระยะไกลได้ ยิ่งหาปลาได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้เงินอุดหนุนจากรัฐมากขึ้นเท่านั้น
ปัญหาคือใครๆก็พยายามเข้าไปจับปลาในหมู่เกาะสแปรตลีซึ่งเป็นที่พิพาทจนทำให้แนวปะการังในทะเลจีนใต้ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลกหมดปลากินไปเลยทีเดียว ชาวประมงจากประเทศที่ไม่ได้อ้างสิทธิอย่างไทยก็ปรากฏว่าบุกรุกพื้นที่แถบนั้นเข้าไปหาปลากันอยู่เนืองๆ
หลายปีที่ผ่านมาเกิดแนวความคิดใหม่ในหมู่นักวิจัยว่า แทนที่พื้นที่พิพาทตามแนวปะการังแถบหมู่สแปรตลี่จะเป็นทะเลแห่งความขัดแย้ง ทำไมทุกประเทศในแถบนี้ไม่ทำพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งสงวนพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อให้ปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆสามารถเข้าไปขยายพันธุ์กันได้เรียกว่าเป็นสวนสันติภาพทางทะเล (peace park)
นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศที่อ้างสิทธิเห็นด้วยกับแนวคิดนี้อย่างยิ่งแต่ปัญหาคือ ไม่มีทางการของประเทศไหนตอบสนองเรื่องนี้เลยเพราะทุกประเทศลังเลที่จะเสนอเปิดเจรจาเรื่องนี้กับจีน (หน้า 224) ว่ากันตามหลักการเรื่องประมงนี้น่าจะจัดการง่ายว่าทรัพยากรปิโตรเลียม เพราะสัตว์น้ำนั้นมีเกิดมีดับและเคลื่อนที่ไปมาตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะผูกขาดเอามาเป็นของตัวเองทั้งหมด จำเป็นต้องร่วมมือกันในการจัดการ รักษา สงวนพันธุ์และแบ่งกันกินกันใช้ตามสภาพ ถ้าตกลงทำเรื่องนี้ร่วมกันได้ ความคิดเรื่องการพัฒนาร่วมก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และบางทีอาจจะมีหนทางที่จะจัดการเรื่องอื่นๆเช่นปัญหาอธิปไตยและดินแดนซึ่งยากขึ้นได้ด้วย
[google_map_easy id=”16″]